xs
xsm
sm
md
lg

ปัตตานีจัดงาน “ส้มโอหวาน เทศกาลแข่งเรือ ของดีเมืองยะรัง” เพิ่มรายได้เกษตรกร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ปัตตานี - ปัตตานี จัดงาน “ส้มโอหวาน เทศกาลแข่งเรือ ของดีเมืองยะรัง” มุ่งประชาสัมพันธ์ส้มโอปูโกให้รู้จัก พร้อมยกระดับมาตรฐานการผลิต และราคาให้สูงขึ้น เพื่อเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรในพื้นที่ ซึ่งภายในงานมีกิจกรรมมากมาย และมีประชาชนเข้าร่วมคับคั่ง

วันนี้ (11 พ.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายวีรพงศ์ แก้วสุวรรณ ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี เป็นประธานเปิดงาน “ส้มโอหวาน เทศกาลแข่งเรือ ของดีเมืองยะรัง” โดยมีรองผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี หัวหน้าส่วนราชการ เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง และประชาชนในพื้นที่รวมถึงพื้นที่ใกล้เคียงร่วมงานอย่างคับคั่ง

โดย นายบำเหน็จ บินหรีม นายอำเภอยะรัง กล่าวว่า การจัดงานครั้งนี้เพื่อให้ชาวยะรังได้มีโอกาสนำเอาศักยภาพของยะรังมาหลอมรวม เรียบเรียงสิ่งต่างๆ เรื่องราวต่างๆ ร้อยเรียงให้เป็นงานขึ้น ภายใต้ชื่องานว่า “ส้มโอหวาน เทศกาลแข่งเรือ ของดีเมืองยะรัง” ซึ่งจัดวันที่ 10-11 พ.ย. เพื่อประชาสัมพันธ์ส้มโอปูโกให้เป็นที่รู้จักกันแพร่หลายมากขึ้น

ทั้งนี้ เพื่อยกระดับมาตรฐานการผลิต และราคาจำหน่ายส้มโอปูโกให้สูงขึ้น เพื่อเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกร และกลุ่มผู้ค้าในพื้นที่ ให้ประชาชนในพื้นที่ได้มีส่วนร่วม และผ่อนคลายกับกิจกรรมการแข่งเรือพายนานาประเภท ให้กลุ่มอาชีพ รวมถึงหน่วยงานใน อ.ยะรัง ได้มีโอกาสนำเสนอสิ่งดีๆ ของดีๆ ที่มีอยู่ทั้งในอดีต และปัจจุบันออกสู่สายตาของบุคคลภายนอกมากขึ้น ตลอดจนเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่ ด้วยการเปิดให้ผู้มีอาชีพค้าขายใน อ.ยะรัง และใกล้เคียง นำสินค้ามาร่วมขายในงานกว่า 180 ราย คาดว่าจะมีเงินหมุนเวียนในงานครั้งนี้ไม่ต่ำกว่า 1 ล้านบาท

กิจกรรมภายในงานมีการประกวดคุณภาพส้มโอจากเกษตรกร 250 ราย การแข่งขันยำส้มโอ การชักเย่อส้มโอ ชาย-หญิง การแข่งเรือ 3 ประเภท คือ เรือยอกอง เรือบาแต เรือพายพื้นบ้าน เรือท้องแบน มีการนำเสนอ และสาธิตกระบวนการผลิตของดีเมืองยะรัง จากทั้ง 12 ตำบล และ 1 เทศบาล เช่น การตีมีดจาก ต.ยะรัง การทำขนมจีบแบบโบราณจาก ต.ประจัน การทำผ้าบาติก และกิจกรรมอื่นๆ อีกมากมาย

ซึ่งส้มโอพันธุ์ปูโก เป็นส้มโอที่มีกำเนิดมาจากส้มโอพันธุ์ทองดีนครชัยศรี เกษตรกรบ้านต้นมะขาม ต.เมาะมาวี อ.ยะรัง ซื้อมารับประทาน โดยผลที่ซื้อมามีการประทับตราด้วยตัวอักษรจีน และเห็นว่ามีรถชาติดี จึงได้นำเมล็ดไปปลูก และขยายพันธุ์ ต่อมา เกิดการกลายพันธุ์ทำให้เกิดส้มโอพันธุ์ใหม่ที่มีรสชาติหวาน หอม อร่อย เปลือกบาง เนื้อนิ่ม มีขนคล้ายกำมะหยี่ เนื้อสีชมพูทับทิม หรือออกขาว แล้วแต่สายพันธุ์ และได้เรียกพันธุ์ส้มโอดังกล่าวเป็นภาษามลายูว่า ส้มโอปูโก ซึ่งมีความหมายว่าส้มที่ประทับตรานั่นเอง
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น