xs
xsm
sm
md
lg

เข้าใจเรื่องพลังงานด้วยนิทานอีสป / ประสาท มีแต้ม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คอลัมน์ : โลกที่ซับซ้อน
โดย...ประสาท  มีแต้ม
 
ก่อนจะเริ่มบทความนี้ ผมขออนุญาตแจ้งข่าวสำคัญที่คนไทยกำลังถกเถียงกันในเรื่องพลังงานข่าวนี้อาจเป็นทางออกของเราได้ครับคือ

“ในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2557 การใช้ไฟฟ้าโดยรวมของประเทศเยอรมนีได้ลดลงถึง 22,700 ล้านหน่วยเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยที่การใช้ก๊าซธรรมชาติเพื่อผลิตไฟฟ้าได้ลดลงเกือบ 20% ถ่านหินก็ลด นิวเคลียร์ก็ลด ในขณะที่การผลิตจากแสงแดดได้เพิ่มขึ้นเป็น 31,500 ล้านหน่วย ไฟฟ้าจำนวนที่ผลิตจากแสงแดดนี้มากกว่าที่คนอีสาน 20 จังหวัด และคนภาคเหนือ 17 จังหวัดของไทยใช้รวมกันถึงกว่า 2 พันล้านหน่วย”

จบข่าวครับ

ถ้าพูดกันตามความเป็นจริงแล้วเรื่องพลังงานไม่ใช่เรื่องที่เข้าใจได้ยากเลย แต่ที่มันดูเป็นเรื่องสับสน และเถียงกันไม่รู้จบ จนหลายคนรู้สึกเบื่อนั้นก็เพราะว่าผู้มีส่วนได้เสียที่สำคัญคือ พ่อค้าพลังงานได้เข้ามาเป็นผู้ร่วมเล่น และกำหนดประเด็นเสียเองด้วย เมื่อพ่อค้าพลังงานซึ่งมีอำนาจล้นฟ้า และมีเงินมหาศาลเป็นผู้กำหนด “วาระการประชุม” เนื้อหาของประเด็นที่ถกเถียงก็ถูกบิดเบือน ตัดตอน และแยกส่วน จนผู้คนในสังคมเชื่อมโยงความสัมพันธ์ไม่ได้ โยงไม่ได้ว่าพลังงานกับการเมืองที่ต้องการปฏิรูปนั้นสัมพันธ์กันอย่างไร จำแนกไม่ออกว่า แหล่งพลังงานชนิดใดเอื้อต่อระบบประชาธิปไตยที่เราใฝ่ฝันชนิดใดเป็นเครื่องมือของเผด็จการ และทุนสามานย์ที่เรารังเกียจ เมื่อหาทางออกไม่ได้ จึงทำให้คนบางส่วนมึนงง และบางส่วนก็จำยอม ซึ่งก็เป็นไปตามรหัสลับ 2 ขั้นตอนของพวกพ่อค้าพลังงานที่ได้วางแผนไว้ก่อนแล้ว คือ “หนึ่งล้างสมองสองปล้น”

แม้พลังงานจะเป็นสิ่งที่จำเป็นที่สุดสำหรับทุกสรรพชีวิตจนสามารถกล่าวได้ว่า พลังงานมีคุณอนันต์ก็ตาม แต่ก็สามารถกล่าวได้เช่นกันว่า พลังงานเองก็มีโทษมหันต์ต่อทุกสรรพชีวิตด้วย แต่สังคมไทยก็ถกเถียงกันเฉพาะที่เป็นด้านดี ด้านที่เป็นความจำเป็นของพลังงานในสังคม ตามวาระที่ผู้มีอำนาจได้กำหนดไว้เท่านั้น

นอกจากนี้ วาระการพูดคุยก็ถูกล้อมให้อยู่ในวงแคบเสียยิ่งกว่าแคบ กล่าวคือ พูดกันแต่เรื่องสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 พูดถึงเรื่องการนำปิโตรเลียมขึ้นมาใช้เพียงอย่างเดียว โดยไม่พูดถึงผลกระทบของปิโตรเลียม และกระบวนการผลิตเลย รวมถึงละเลยแหล่งพลังงานอื่นที่ดีกว่า กระจายตัวอยู่แค่เอื้อม และไม่มีวันหมด

ในบทความนี้ ผมจะนำเสนอถึงด้านที่ไม่ค่อยได้มีการพูดถึงกัน แต่ก่อนจะไปถึงจุดนั้น ผมขอนำนิทานอีสปมาเล่าสู่กันฟังเพื่อเตือนสติ ผมเชื่อว่านิทานเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ไม่ค่อยแพร่หลายนักเมื่อเทียบกับเรื่องสัตว์ เช่น กระต่ายกับเต่า และหมาป่ากับลูกแกะ เป็นต้น

ตามประวัติ อีสป (Aesop) เป็นทาสรับใช้ในพระราชวังสมัยกรีซโบราณที่มีปัญญา และฉลาดมาก วันหนึ่งพระราชินีได้รับสั่งว่า “มานี่ซิ อีสปคนดี เราอยากให้เจ้าเตรียมอาหารมื้อพิเศษที่สุดสักชุด โดยทั้งชุดต้องดี และสวยงามที่สุดเท่าที่เจ้าจะจินตนาการได้ และเจ้าสามารถใช้เงินของเราได้มากเท่าที่เจ้าต้องการ” อีสปจึงขอตัวไปจ่ายตลาด และเมื่อถึงเวลาอาหาร

“อะไรกันนี่อีสป! ทำไมบนโต๊ะอาหารจึงมีแต่ลิ้น ไม่มีอย่างอื่นเลย เจ้ามีคำอธิบายที่ดีหรือไม่” พระราชินีตรัส

“ข้าพเจ้าสามารถอธิบายได้ฝ่าบาท ข้าพเจ้าทำอย่างนี้ก็เพราะว่าลิ้นคือส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดคำพูดที่สวยงาม สุภาพ และความพอใจที่จะทำให้ผู้คนจำนวนมากมีความสุข จึงเป็นสิ่งที่ดีที่สุด” อีสป ทูล

“เราเข้าใจแล้วอีสป เจ้าเป็นคนฉลาด และมีสติปัญญามากด้วย” พระราชินีมีรับสั่งให้เก็บโต๊ะเสวย และตรัสให้อีสปเตรียมอาหารชุดที่มีแต่สิ่งที่เลวๆ ที่เขาจะจินตนาการได้ในวันต่อไปอีสปปฏิบัติตามพระราชเสาวนีย์ อาหารสำรับที่สองในวันถัดมา ได้ถูกจัดเตรียมที่โต๊ะเสวยอย่างเรียบร้อยสมบูรณ์แบบ เมื่อพระราชินีประทับที่โต๊ะเสวยทันใดนั้นพระพักตร์แดงก่ำ

“เล่นตลกอะไรกันนี่ ในจานมีแต่ลิ้นอีกแล้ว จงอธิบายมาเดี๋ยวนี้ เราไม่สนุกด้วยหรอกนะ”

อีสป ทูลว่า “ไม่ใช่เรื่องตลกพระเจ้าข้า ลิ้นไม่ใช่จะพูดแต่คำหวานและสร้างความสุขเท่านั้น แต่มันใช้พูดในสิ่งเลวๆ ที่โหดร้าย และคำโกหกได้ด้วย มันจึงเป็นสิ่งที่นำมาซึ่งความทุกข์ และความโศกเศร้าด้วยพระเจ้าข้า”

“เจ้าฉลาดมากพ่อหนุ่ม เราขอโทษที่ได้ใช้วาจาที่แข็งกร้าวกับเจ้า และเราจะจดจำบทเรียนที่แสนฉลาดนี้ของเจ้าไว้ด้วย” พระราชินีตรัส

นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า คำพูดสามารถเป็นได้ทั้งส่วนที่ดีที่สุด และเลวที่สุดของคนเรา

ในทำนองเดียวกัน พลังงานก็เป็นทั้งส่วนที่ดี และจำเป็นที่สุดสำหรับชีวิต แม้ในขณะที่เรากำลังนอนหลับ หัวใจของเราก็ยังต้องการพลังงานไปหล่อเลี้ยงเซลล์ในอวัยวะต่างๆ ของร่างกาย ด้วยเหตุนี้เราจึงขาดพลังงานไม่ได้เลยแม้แต่นาทีเดียว รวมไปถึงเป็นพลังงานในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศด้วย

แต่ในขณะเดียวกันพลังงานบางชนิดก็เป็นสิ่งที่เลวร้ายที่สุดในชีวิต และสังคมด้วย พลังงานบางชนิดที่ว่านี้เป็นต้นเหตุของสงคราม ทั้งสงครามที่ใช้อาวุธ และสงครามเย็น พลังงานเป็นต้นเหตุที่ทำให้ค่าเงินทั้งโลกผันผวน เป็นต้นเหตุที่ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำ รวมทั้งเป็นตัวก่อมลพิษทั้งระดับท้องถิ่น และเป็นภัยพิบัติทางธรรมชาติในระดับโลก

ด้วยเหตุนี้พลังงานจึงเปรียบเสมือนลิ้นในนิทานอีสป คือ เป็นได้ทั้งสิ่งดีที่สุดและที่เลวที่สุด แต่ผู้กำหนดวาระการประชุมไม่เคยเปิดโอกาสให้สังคมไทยได้พูดถึง และถกเถียงในด้านที่เลวเลย

นี่คือความไม่ถูกต้องที่ถูกมองข้ามมาตลอด (หมายเหตุ ในการประชุมของภาคประชาชนในต่างประเทศ เขามักจะมีวาระให้ทบทวนวาระการประชุม (Agenda Review) เป็นวาระแรก ไม่ใช่ปล่อยให้ฝ่ายจัดการเป็นผู้กำหนดแต่ฝ่ายเดียว โดยที่เรื่องสำคัญๆ ไปอยู่ตอนใกล้ปิดประชุม)

อย่างไรก็ตาม ในที่นี้ผมขอนำเสนอด้านที่เลวของพลังงานฟอสซิลเพียง 3ประเด็น ซึ่งคนส่วนใหญ่รวมทั้งคนไทยเราเองได้มองข้ามไป พร้อมกับเสนอความคืบหน้าของการผลิตไฟฟ้าจากแผงโซลาร์เซลล์ของโรงเรียนศรีแสงธรรม ที่ผมได้นำเสนอไปแล้วเมื่อสัปดาห์ก่อนอีก 1 ประเด็นซึ่งเป็นด้านที่ดีที่สุดรวมกันเป็น 4 ประเด็นครับ

ประเด็นแรก เรื่องประสิทธิภาพของเทคโนโลยี

เชื่อไหมครับ ถ้าเรานำถ่านหินมาเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าโดยการต้มน้ำให้เป็นไอ แล้วใช้พลังไอน้ำไปหมุนกังหัน พบว่า ทุกๆ 100 หน่วยของพลังงานจากถ่านหินจะกลายไปเป็นความร้อนซึ่งสูญเปล่าโดยไม่เกิดประโยชน์ใดๆ ถึง 62% พลังงานที่เหลืออีก 38% จะถูกเปลี่ยนไปเป็นไฟฟ้าในสายส่ง แต่กว่าที่ไฟฟ้าจะไปถึงบ้านเราก็จะเหลือ 36% และถ้าใช้หลอดไฟชนิดไส้พลังงานจะกลายเป็นแสงสว่างให้เราใช้ประโยชน์ได้แค่ 2% เท่านั้น ที่หายไปกลายเป็นความร้อนที่หลอดไฟ ไม่เชื่อก็ลองเอามือเปล่าๆ จับดูซิครับ

โรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซธรรมชาติ และโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ก็เป็นเทคโนโลยีเดียวกัน แต่ตัวเลขของการสูญเสียจะน้อยลงบ้าง ในรถยนต์ในปัจจุบันก็ทำนองเดียวกัน พลังงานสูญเสียไปกับความร้อนประมาณ 70% ในขณะที่รถยนต์ไฟฟ้าสูญเสียพลังงานน้อยกว่ามาก แต่ก็ถูกบริษัทน้ำมันกีดกัน

ไม่ใช่จะดูถูกภูมิปัญญาของบรรพชน เทคโนโลยีดังกล่าวมีคุณค่าต่อชาวโลกอย่างมากแน่นอน แต่ยุคสมัยมันได้เปลี่ยนไปแล้ว เทคโนโลยีได้ก้าวหน้าไปมากแล้ว แผงโซลาร์เซลล์ ไม่ต้องต้มน้ำ ไม่ปล่อยน้ำเสีย ไม่ต้องขนส่งเชื้อเพลิง แหล่งผลิตกับแหล่งที่ใช้อยู่ห่างกันแค่มือเอื้อม แถมต้นทุนก็ลดต่ำลงมาก จนในบางประเทศสามารถแข่งขันกับเชื้อเพลิงอื่นๆ ได้ทุกชนิด

เทคโนโลยีโซลาร์เซลล์เป็นเทคโนโลยีที่อาศัยทฤษฎี Photoelectric Effect ซึ่งค้นพบโดยอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ซึ่งทำให้เขาได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ เมื่อปี 1921 แต่ในความเป็นจริงแล้วได้มีการทดลองพบตั้งแต่ปี 1839 โดยนักวิทยาศาสตร์วัย 19 ปี ชาวฝรั่งเศส

แต่ทั้งๆ ที่เราได้ค้นพบทฤษฎีใหม่จนนำไปสู่รางวัลอันสูงส่งในคุณค่า และสามารถสร้างเทคโนโลยีใหม่ที่มีต้นทุนต่ำมากในปัจจุบัน แต่เรายังคงถูกบีบบังคับจากพ่อค้าพลังงานที่อาศัยเทคโนโลยีเก่าแก่อยู่อีก และยังถูกบังคับให้ใช้เชื้อเพลิงที่เลวที่สุดที่เป็นอันตรายต่อมนุษย์ และสรรพชีวิตทั้งหลายด้วย

ผมเชื่อในจริยธรรมของความเป็นมนุษย์ว่า ถ้าเราแต่ละคนทราบความจริงดังที่กล่าวมาแล้วเราคงรู้สึกอายตนเองที่ยังมัวแต่เผาผลาญแหล่งพลังงานของลูกหลานในอนาคต แต่ปัญหาคือ เราไม่รู้ เพราะพ่อค้าพลังงานฟอสซิลเป็นผู้กำหนดประเด็นของสังคมและของโลกเราด้วย

ตารางข้างล่างนี้แสดงถึงต้นทุนอย่างคร่าวๆ ของระบบโซลาร์เซลล์ (รวมทุกอย่าง) ในประเทศต่างๆ ในปี 2556 เอาไว้ดูเพลินๆ ครับ และโปรดสังเกตว่า ราคาในประเทศเยอรมนีแพงกว่าในประเทศจีน และในตอนท้ายผมจะเสนอราคาที่ติดตั้งจริง (บางราย) ในประเทศไทย
 

 
นอกจากนี้ ข้อมูลในวิกีพีเดียที่อ้างถึง Bloomberg รายงานว่า เฉพาะราคาแผงอย่างเดียวได้ลดลงจาก 5 ดอลลาร์สหรัฐต่อวัตต์ในปี 2546 มาเหลือ 0.36 ดอลลาร์สหรัฐในปี 2557 นี่ก็แค่ข้อมูลคร่าวๆ อีกนะครับ
 
ประเด็นความเหลื่อมล้ำในสังคม

ประเทศไทยเราเป็นประเทศที่มีความแตกต่างทางรายได้ระหว่างคนรวยกับคนจนสูงมากเป็นอันดับต้นๆ ของโลก คือประมาณ 13-15 เท่า ในขณะที่ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งมีน้อยที่สุดในโลกประมาณ 3-4 เท่า

นักวิชาการระบุว่า “ความเหลื่อมล้ำเป็นต้นตอของความชั่วร้ายทั้งหลาย” ความเหลื่อมล้ำทำให้คนไม่ไว้วางใจซึ่งกันและกัน รวมไปถึงเป็นเหตุของการตั้งครรภ์ในวัยอันควรด้วย (งงนะครับ!)

แต่เอาแค่ปัญหาแรกเพียงปัญหาเดียวสังคมไทยก็ปวดหัวไม่รู้จะแก้ไขอย่างไรดีแล้ว

ผมขอขยับมาใช้ข้อมูลในระดับโลกเพื่อเทียบเคียงกับประเทศไทย จากการศึกษาของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) พบว่า คนรวย 1% ของโลกมีรายได้ถึง 14% ในขณะที่คนจนล่างสุด 20% มีรายได้เพียงประมาณ 1% เท่านั้น ซึ่งความแตกต่างที่ชัดเจนนี้เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อประมาณ 30 ปีมานี้ (ดูภาพประกอบ)
 

 
ผลการศึกษาในเรื่องความเหลื่อมล้ำทางรายได้ของ BrankoMilanovic นักเศรษฐศาสตร์ชาวเซอร์เบีย ซึ่งเขาศึกษาเป็น 2 กรณี คือ ความเหลื่อมล้ำทางรายได้ของคนภายในประเทศ (Within-Country Inequality) และ ความเหลื่อมล้ำทางรายได้ของคนระหว่างประเทศ (Between-Country Inequality)

ผลการศึกษา พบว่า ในช่วงเกือบ 200 ปีมานี้ (ค.ศ. 1820 ถึง 2005) พบว่า ในปี 1820 ความเหลื่อมล้ำของรายได้ของประชากรระหว่างประเทศโดยเฉลี่ยแทบจะไม่มีเลย หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่งได้ว่า แต่ละประเทศมีรายได้ใกล้เคียงกัน (โดยค่าเฉลี่ย)

แต่ในอีกประมาณ 100 ปีต่อมา ความเหลื่อมล้ำระหว่างประเทศกลับเพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่า และเพิ่มเร็วขึ้นมากกว่าเดิมในเวลาที่สั้นลงเป็น 6 เท่าในอีก 80 ปีต่อมา ผู้ศึกษาได้ให้เหตุผล 4 ประการที่นำมาสู่ความเหลื่อมล้ำ สองเหตุผลในนั้นคือ ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี และระบอบโลกาภิวัตน์ (ดังแผ่นภาพ)

สำหรับความเหลื่อมล้ำภายในประเทศที่เริ่มต้นมีอยู่มากในปี 1820 ก็ลดลงเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ในอีก 200 ปีโดยประมาณ (ดูแผ่นภาพข้างล่างนี้)
 

 
ผมเห็นด้วยกับเหตุผลทั้ง 4 ประการที่ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำ แต่ถ้ายกตัวอย่างประกอบให้ชัดเจนผมว่าน่าจะมาจากการนำน้ำมันดิบขึ้นมาใช้ ซึ่งเกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2402 ที่รัฐเพนซิลเวเนีย สหรัฐอเมริกา ซึ่งน้ำมันดิบสามารถเป็นตัวอย่างได้ดีกับเหตุผลทั้ง 4 คือ เทคโนโลยีก้าวหน้า นโยบายของรัฐบาลที่สนับสนุนทั้งงานวิจัยและการเก็บภาษี ความรู้ว่าตัวเองด้อยที่ไม่มีรถยนต์นั่ง จนถึงโลกาภิวัตน์ที่ทำหน้าที่ “หนึ่งล้างสมองสองปล้น”

ประเด็นที่สามปัญหาสภาวะโลกร้อนและมลพิษ

ถ้าเรานำข้อมูล 4 ชุดมาเขียนกราฟบนแกนเดียวกันในช่วงเวลาเดียวกัน คือ (1) ความเข้มข้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศ (2) ข้อมูลปริมาณการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล (ถ่านหิน น้ำมันและก๊าซธรรมชาติ) (3) ข้อมูลอุณหภูมิของบรรยากาศ และ (4) ข้อมูลจำนวนครั้งของการเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติ ข้อมูลทั้ง 4 ชุดนี้จะสอดคล้องอย่างมีนัยสำคัญ

นักวิทยาศาสตร์ชั้นนำของโลกจำนวนมากก็มีความเห็นตรงกันว่า สาเหตุของสภาวะโลกร้อนเกิดจากการเผาเชื้อเพลิงฟอสซิล

ยังมีข้อมูลที่สำคัญมากๆ อีก 2 อย่างที่มนุษย์ควรจะได้เรียนรู้ แต่ก็ได้ถูกผู้มีอำนาจไม่ยอมจัดเป็นวาระการเรียนรู้ คือ

(1) ส่วนมากของพลังงานฟอสซิล (ประมาณ 60%) ได้ถูกใช้ไปในเวลาอันสั้นในช่วง 30 ปีหลังสุดของประวัติศาสตร์ตลอดช่วง 2-300 ปี แสดงว่ามีพลังบางอย่างมาปั่นหัวให้ชาวโลกใช้พลังงานอย่างฟุ่มเฟือย

(2) มากกว่า 90% ของผู้เสียชีวิตจากภัยพิบัติ (ที่มีสาเหตุจากแหล่งพลังงานชนิดที่เลว) อยู่ในประเทศยากจน ด้วยเหตุนี้ความเหลื่อมล้ำระหว่างประเทศที่กล่าวแล้วจึงยิ่งเพิ่มมากขึ้น

สำหรับเรื่องมลพิษจะไม่ขอกล่าวถึงในที่นี้

ประเด็นที่สี่ ตัวอย่างด้านที่ดีที่สุดจากโรงเรียนศรีแสงธรรม

จากบทความเรื่อง “2 โรงเรียน 2 ประเทศ 1 แนวคิด : การพึ่งตนเองด้านพลังงาน” ซึ่งผมได้สรุปแล้วเสนอข้อมูลเพิ่มเติมจากแผ่นภาพข้างล่างนี้
 

 
สิ่งที่ท่านพระครูวิมลปัญญาคุณ ผู้ขายบ้านตนเองมาสร้างโรงเรียนการกุศลแห่งนี้ก็คือ ขอให้ทางการไฟฟ้าฯ อนุญาตให้มีการเชื่อมไฟฟ้าที่ผลิตได้กับระบบสายส่งได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย

แต่เพื่อให้เกิดแรงจูงใจ ผมเห็นว่าทางการไฟฟ้าฯ ควรจะรับซื้อในราคาประมาณ 5.50 บาทต่อหน่วย และคงที่ตลอดอายุสัญญาประมาณ 25 ปี ซึ่งจะเป็นราคาที่การไฟฟ้าฯ ได้ประโยชน์มากเพราะขณะนี้ราคาไฟฟ้าในบ้านก็ประมาณ 4.50 บาทต่อหน่วย อีกไม่เกิน 6 ปี ราคาก็จะสูงกว่า 5.50 บาท และจะเพิ่มไปถึง 10 บาท ภายในอายุสัญญาที่เหลืออีกกว่า 19 ปี

ถ้าเป็นอย่างนี้จะมีคนมาติดแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคาบ้านของตนเองเป็นล้านหลัง โดยที่เจ้าของบ้านจะมีรายได้มากกว่าการนำเงินไปฝากธนาคาร 2-3 เท่า

นี่คือการกระจายรายได้ การลดความเหลื่อมล้ำ คือหัวใจของประชาธิปไตย คือการเปลี่ยนหลังคาบ้านเป็นธนาคาร และนี่คือการปฏิวัติบนหลังคา

เมื่อคืนวันศุกร์ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ให้เหตุผลว่าที่รัฐบาลต้องเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 เพราะกลัวว่าก๊าซธรรมชาติจะไม่พอใช้ เพราะต้องใช้เวลานานในการเตรียมการนับ 8-9 ปี

ที่เป็นอย่างนี้เพราะท่านฟังแต่พวกข้าราชการอย่างเดียวซึ่งหลายคนมีผลประโยชน์ทับซ้อนกับกิจการค้าพลังงาน และเป็นผู้กำกับวาระการเรียนรู้ของสังคม (และของคุณประยุทธ์ด้วย) ผมอยากให้ท่านหันมาฟังพระสงฆ์องคพระเจ้า รวมถึงชาวบ้านบ้าง เพราะท่านเหล่านี้เป็นผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ เพื่อการพึ่งตนเองตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงมาอย่างยาวนาน การติดโซลาร์เซลล์ก็ใช้เวลาไม่กี่เดือน ไม่ต้องรอ 8-9 ปี การใช้ก๊าซก็ลดลงอย่างที่ได้เกิดขึ้นแล้วในประเทศเยอรมนี

ถ้าอยากจะเป็นนายกฯ ที่ดี จุดเริ่มต้นที่สำคัญท่านต้องฟังชาวบ้าน ไม่ใช่เอาแต่พูดให้ชาวบ้านฟังอย่างเดียว

อ้อ! เกือบลืม ต้องฟังนิทานอีสปด้วยนะครับ
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น