xs
xsm
sm
md
lg

โฆษก กอ.รมน.ภาค 4 สน. แจงแจกอาวุธให้ อส. ยันเพื่อป้องกันตนเอง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ปัตตานี - โฆษก กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ชี้แจงกรณีแจกอาวุธปืน 2,700 กระบอก แก่กำลังภาคประชาชนในพื้นที่ จชต. เพื่อเป็นการมุ่งสร้างความเข้มแข็งแก่ฝ่ายพลเรือน แก้ปัญหาไฟใต้ตามแนวทางสันติวิธี

วันนี้ (7 พ.ย.) พ.อ.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า เปิดเผยว่า จากกรณีที่ปรากฏเป็นข่าวผ่านสื่อต่างๆ ในประเทศ และในต่างประเทศว่า รัฐบาลไทยได้อนุมัติแจกจ่ายอาวุธปืนสงคราม จำนวน 2,700 กระบอก ให้กำลังภาคประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อใช้ต่อสู้กับกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรง ทำให้หลายฝ่ายเกิดการเข้าใจผิด และมีความเป็นกังวลนั้น กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ขอชี้แจงเพื่อสร้างความเข้าใจดังนี้

1.การแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ในปัจจุบัน อยู่ในระยะที่ 2 ซึ่งดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2554 โดยมุ่งเน้นเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กำลังฝ่ายพลเรือนควบคู่ไปกับการพัฒนา ซึ่งที่ผ่านมา ได้ทำการฝึกทบทวนชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) และกำลังอาสารักษาดินแดน (อส.) ให้มีขีดความสามารถในการดูแลความปลอดภัยให้ตัวเอง และชุมชน และสามารถแจ้งเตือนเหตุให้เจ้าหน้าที่ได้อย่างทันเวลา ทั้งนี้ เพื่อเตรียมการส่งผ่านการแก้ปัญหาไปสู่ระยะสุดท้าย คือ “การเสริมสร้างสันติสุขและการพัฒนาอย่างยั่งยืน” ในอนาคต

2. ชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้านในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ใช้อาวุธปืนลูกซอง ซึ่งได้รับการแจกจ่ายจากกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย เพื่อดูแลชุมชนให้ปลอดภัยโดยไม่ได้มีการแจกจ่ายเพิ่มเติมแต่อย่างใด สำหรับสมาชิกกองอาสารักษาดินแดนที่มีอยู่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น ยังขาดแคลนอาวุธประจำกายเป็นจำนวนมาก ซึ่งกระทรวงมหาดไทย โดยกรมการปกครอง ได้เบิกยืมจากกองทัพบก จำนวน 2,700 กระบอก เพื่อใช้เป็นอาวุธประจำกายสนับสนุนการปฏิบัติงานของสมาชิกกองอาสารักษาดินแดน ซึ่งจัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติกองอาสารักษาดินแดน พุทธศักราช 2497 เช่นเดียวกับพื้นที่จังหวัดอื่นๆ ของประเทศ เพื่อปฏิบัติภารกิจในการรักษาความปลอดภัยในชีวิต และทรัพย์สินให้พี่น้องประชาชน ทั้งนี้ ได้มีการจัดทำบัญชีคุม ยิงเก็บปลอกกระสุน และจัดทำประวัติบุคคลอย่างละเอียด

3.จากที่กล่าวมาแล้ว จึงเห็นได้ว่ารัฐบาลมุ่งเน้นการแก้ไขปัญหาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ตามแนวทางสันติวิธี ภายใต้หลักกฎหมายที่เสมอภาค และเป็นธรรม และเคารพในหลักสิทธิมนุษยชน อาศัยกระบวนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนเสริมสร้างศักยภาพให้กำลังฝ่ายพลเรือน และกำลังภาคประชาชน ให้เข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลพื้นที่ เพื่อสร้างชุมชนเข้มแข็ง สามารถป้องกันตนเอง และชุมชนให้เกิดความปลอดภัย มิใช่การต่อสู้กับกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงแต่อย่างใด
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น