นครศรีธรรมราช - เจ้าหน้าที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เร่งช่วยชีวิตวาฬเพชฌฆาตดำป่วยเกยตื้นชายหาดนครศรีฯ อาการล่าสุด ยังคงวิกฤต พบการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ และระบบย่อยอาหารกำลังมีปัญหา สั่งเฝ้าติดตามอาการตลอด 24 ชั่วโมง ด้านผู้ว่าฯ เข้าเยี่ยมอาการ กำชับต้องช่วยชีวิตไว้ให้ได้
วันนี้ (31 ต.ค.) ที่ จ.นครศรีธรรมราช ผู้สื่อข่าวรายงานบริเวณประตูระบายน้ำชะอวด-แพรกเมือง บ้านหน้าโกฎิ หมู่ที่ 10 ตำบลปากพญา อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช เจ้าหน้าที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้ระดมเจ้าหน้าที่ และสัตวแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเข้าให้การดูแลพยาบาลวาฬเพชฌฆาตดำ หรือที่มีชื่อเรียกทางวิทยาศาสตร์ว่า “สูโด ออก้าร์” ซึ่งวาฬชนิดหายากในอ่าวไทย 10 ปีที่ผ่านมา มีการพบเพียง 2 ครั้ง โดยวาฬตัวนี้ได้ว่ายมาหาฝั่งในสภาพป่วย ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้มากนัก เจ้าหน้าที่ได้เข้าให้การช่วยเหลือมาตั้งจุดพยาบาลดูแลรักษาอาการตั้งแต่วานนี้แล้ว
โดยสภาพในวันนี้ เจ้าหน้าที่ได้ตั้งจุดที่พักเพื่อดูแลอาการของวาฬตัวนี้ตลอด 24 ชั่วโมง โดยผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนลงไปในน้ำที่มีการตั้งเพิงพัก และติดตั้งเปลให้วาฬตัวนี้ลอยอยู่ในระดับผิวน้ำเพื่อให้จมูกของวาฬที่อยู่ด้านหลังหัวโผล่พ้นน้ำให้หายใจได้ ท่ามกลางเด็กๆ ในละแวกใกล้เคียงคอยให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ และวาฬตัวนี้จำนวนมาก ขณะที่สัตวแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากศูนย์วิจัยพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งจังหวัดภูเก็ต ได้เดินทางมาสนับสนุน
นายสันติ นิลวัฒน์ นักวิชาการพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง สงขลา เปิดเผยว่า อาการของวาฬเพชฌฆาตดำตัวนี้ยังไม่ดีนัก เช้าที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ได้ประคองทดสอบให้ว่ายน้ำปรากฏว่า ยังไม่สามารถว่ายน้ำได้เอง และพบว่ามีอาการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ น่าจะเป็นปัญหากับระบบหายใจ และปอด เสมหะมากมีกลิ่นเหม็น และเลือดปนออกมา เป็นข้อบ่งชี้ถึงการติดเชื้อ ขณะที่ระบบทางเดินอาหารมีปัญหาเช่นเดียวกัน สัตวแพทย์จึงได้ดึงของเหลวภายในกระเพาะอาหารมาตรวจ พบว่า มีปฏิกิริยาค่าพีเอชเป็นกลาง ตามปกติแล้วค่าตัวนี้จะต้องมีความเป็นกรดจากน้ำย่อยภายในกระเพาะ จึงเป็นต้นเหตุของอาหารภายในกระเพาะที่ไม่ย่อย
“ขณะที่สัตวแพทย์ได้ให้เกลือแร่สารน้ำทางหลอดเลือด รวมทั้งการใช้ยาปฏิชีวนะในการรักษา ซึ่งต้องดูอาการตลอด 24 ชั่วโมง โดยสัตวแพทย์ และเจ้าหน้าที่จะผลัดเวรกันทุก 2 ชั่วโมงเพื่อดูการเปลี่ยนแปลงสภาพอย่างใกล้ชิด ส่วนผิวหนังของวาฬที่โผล่พ้นน้ำเจ้าหน้าที่จะต้องใช้ครีมกันแดดเข้าช่วยเพื่อป้องกันการลอกของผิวหนัง อาการในขณะนี้ภาพรวมยังถือว่าน่าเป็นห่วง”
นายสันติ ยังระบุด้วยว่า วาฬชนิดนี้พบเห็นได้น้อยมาก จะอยู่ในพื้นที่ห่างไกลจากชายฝั่ง พฤติกรรมของฝูงเมื่อมีตัวไหนป่วยจะถูกขับออกจากฝูง ทำให้ตัวที่ป่วยจะต้องว่ายน้ำเข้ามาในเขตน้ำตื้น หากไม้เช่นนั้นเมื่ออยู่ในเขตน้ำลึกจะเกิดการจมน้ำตาย
อย่างไรก็ตาม มีรายงานเพิ่มว่า ช่วงเย็นของวันเดียวกัน นายพีระศักดิ์ หินเมืองเก่า ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช ได้เข้าติดตามอาการของวาฬ และประสานงานในการหาทางช่วยชีวิตไว้ให้ได้เนื่องจากเป็นวาฬชนิดหายากในอ่าวไทย