นครศรีธรรมราช - พบ “วาฬเพชฌฆาต” เกยตื้นชายหาดนครศรีธรรมราช เป็นวาฬเพศผู้ อายุประมาณ 4-5 ปี ขนาดยาวประมาณ 3.5 เมตร พบอยู่ในสภาพอ่อนแรง เจ้าหน้าที่เผยมีอาการป่วยจนไม่สามารถอาศัยในทะเลลึกได้ เผยพบเป็นตัวที่ 2 ในรอบ 10 ปี
วันนี้ (30 ต.ค.) ที่ จ.นครศรีธรรมราช ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศูนย์อนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 4 เข้าตรวจสอปลาวาฬเกยตื้น ที่บ้านหน้าโกฏ หมู่ที่ 10 ตำบลท่าพญา อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช หลังจากรับแจ้งจากชาวบ้านว่า พบวาฬไม่ทราบชนิดเข้ามาเยตื้นในสภาพยังมีชีวิต
เบื้องต้น ตรวจสอบเป็นวาฬเพชฌฆาตดำ ขนาด 3.5 เมตร ต่อมา นายสมชาย มั่นอนันต์ทรัพย์ ผอ.ศูนย์วิจัย และพัฒนาทรัพยากรทางทะเล และชายฝั่ง จ.สงขลา โดยพบว่าวาฬตัวดังกล่าวเป็นเพศผู้ อายุประมาณ 4-5 ปี ความยาวประมาณ 3.5 เมตร หนักประมาณ 200-250 กิโลกรัม เจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญได้ลงไปตรวจสอบพบว่า อยู่ในสภาพอ่อนแรง แต่ไม่มีบาดแผลแต่อย่างใด เจ้าหน้าที่จึงช่วยกันประคองไม่ให้มันจมอยู่ใต้น้ำเพราะอาจจะเสียชีวิตได้ พร้อมช่วยกันปฐมพยาบาลอยู่ริมทะเลเพื่อที่จะผลักดันกลับสู่ทะเล แต่เวลาผ่านไปนานกว่า 2 ชั่วโมง มันก็ไม่สามารถที่จะฟื้นเป็นปกติได้ จึงนำวาฬเพชฌฆาตดำตัวดังกล่าวไปอยู่ในที่พักพิงซึ่งได้จัดทำขึ้นเป็นการชั่วคราวตรงประตูระบายน้ำชะอวด-แพรกเมือง
นายสมชาย มั่นอนันต์ทรัพย์ ผอ.ศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง จ.สงขลา ซึ่งเดินทางมาตรวจสอบ ระบุว่า มันน่าจะมีอาการป่วยแล้วไม่สามารถอาศัยอยู่ในทะเลลึกได้ เพราะอาจจะจมน้ำเสียชีวิต ก่อนจะหลงฝูงว่ายน้ำมาหาที่ตื้นเพื่อประคองตัวเอง และหายใจได้สะดวก แต่จากการตรวจสอบพบว่า อยู่ในอาการอ่อนแอมาก จำเป็นต้องตรวจเลือดเพื่อหาสาเหตุของอาการป่วย และจะรักษาให้แข็งแรงที่สุด
สำหรับวาฬเพชฌฆาตดำตัวโตเต็มวัย จะมีความยาวประมาณ 4-5 เมตร อาศัยอยู่เป็นฝูง 4-5 ตัว อยู่ห่างจากริมฝั่งประมาณ 40-50 ไมล์ทะเล ซึ่งไม่พบบ่อยในอ่าวไทย โดยวาฬเพชฌฆาตดำตัวนี้เป็นตัวที่ 2 ที่พบในรอบ 10 ปี เป็นสัตว์สงวน ส่วนสาเหตุที่ป่วยแล้วมาเกยตื้นในครั้งนี้จะให้สัตวแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากภูเก็ตมาตรวจสอบอย่างละเอียดอีกครั้งว่ามาจากเหตุใด
นายสันติ นิลวัตร นักวิชาการศูนย์วิจัย และพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนล่าง พบว่า ยังโตไม่เต็มที่ ลักษณะผอมมาก หายใจ 40 ครั้งต่อ 5 นาที ไม่พบกลิ่นจากลมหายใจ ขณะนี้พยาบาลเบื้องต้นโดยสัตวแพทย์ประจำอำเภอปากพนัง ให้ยาปฏิชีวนะในเบื้องต้น และรอสัตวแพทย์ผู้เชี่ยวชาญสัตว์น้ำจากสถาบันวิจัยชีววิทยาจังหวัดภูเก็ต มาทำการเช็กอาการ และรักษาอาการต่อไป