ตรัง - สมาชิก อบต.หนองบ่อ จ.ตรัง ร่วมลงขันเงินกว่า 200,000 บาท ช่วยชาวบ้านซึ่งเดือดร้อนจากราคายางตกต่ำ ด้วยการซื้อหมูมาขายชาวบ้านในราคาถูกเพียงแค่กิโลกรัมละ 100 บาทเท่านั้น ซึ่งถูกกว่าท้องตลาดถึง 40-50 บาท โดยจำหน่ายสัปดาห์ละ 3 วัน และกำหนดให้แต่ละคนซื้อได้ไม่เกิน 3 กิโลกรัม
วันนี้ (31 ต.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่องค์การบริหารส่วนตำบลหนองบ่อ (อบต.หนองบ่อ) อำเภอย่านตาขาว จังหวัดตรัง นำโดย นายไพฑูรย์ อัตบุตร นายก อบต.หนองบ่อ นายวิโรจน์ ศิริพันธ์ ประธานสภา อบต. พร้อมกับสมาชิกสภา อบต. และเจ้าหน้าที่ อบต.ได้ช่วยกันลงขันซื้อหมูเป็นราคาถูกกว่าท้องตลาด มาจำหน่ายให้แก่ชาวบ้าน สัปดาห์ละ 3 วัน คือ จันทร์ พุธ ศุกร์ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในช่วงที่ยางมีราคาตกต่ำ
นายไพฑูรย์ อัตบุตร นายก อบต.หนองบ่อ กล่าวว่า อบต.หนองบ่อ ได้รับการสนับสนุนหมูเป็นราคาถูกจากบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง แล้วนำมาชำแหละจำหน่ายให้แก่ชาวบ้านในพื้นที่ เพื่อเป็นการช่วยเหลือผลกระทบจากภาวะวิกฤตเศรษฐกิจ โดยจำหน่ายเนื้อหมู และส่วนต่างๆ ในราคาไม่เกินกิโลกรัมละ 102 บาท ขณะที่ตามท้องตลาดทั่วไปมีราคาอยู่ที่กิโลกรัมละ 140-150 บาท หรือมีราคาถูกกว่ากิโลกรัมละ 40-50 บาท
ทั้งนี้ ทาง อบต.หนองบ่อ ได้โควตาหมูเป็นจากบริษัทเอกชนดังกล่าวมา จำนวน 200 ตัว และเมื่อจำหน่ายหมดแล้วก็ถือว่าหมดเลย โดยมีการตั้งงบประมาณค่าซื้อหมูเหล่านี้ไว้ที่ 200,000 บาท ซึ่งมาจากการลงขันกันเองของผู้บริหาร สมาชิก และเจ้าหน้าที่ อบต.โดยไม่เกี่ยวกับเงินงบประมาณของ อบต.หนองบ่อ แต่อย่างใด
สำหรับหมูที่นำมาจำหน่ายให้แก่ชาวบ้านในราคาถูกเป็นพิเศษนั้น จะผ่านขั้นตอนที่ถูกต้องตามกฎหมายทุกประการ และยังเป็นหมูเนื้อดีที่สามารถบริโภคได้อย่างปลอดภัยด้วย โดยกำหนดให้ชาวบ้านมารับบัตรคิวในช่วงเช้าตามเวลาทำการ อบต.ก่อนจำหน่ายให้ตามลำดับ ตั้งแต่เวลา 10.00 น. เรื่อยไปจนเนื้อหมู และส่วนต่างๆ หมดภายในเวลาแค่ชั่วโมงเศษ ท่ามกลางชาวบ้านที่มาต่อแถวรอคิวซื้อกันอย่างคึกคัก
ทั้งนี้ จะมีการจำหน่ายเนื้อหมู และส่วนต่างๆ วันละประมาณ 600 กิโลกรัม และกำหนดให้ซื้อได้ไม่เกินคนละ 3 กิโลกรัมเท่านั้น เพื่อแบ่งปันให้ได้ทั่วถึงทุกคน เนื่องจากในพื้นที่ตำบลหนองบ่อ มีประชากรประมาณ 5,000 คน ขณะที่ชาวบ้านต่างบอกกันเป็นเสียงเดียวว่า รู้สึกดีใจที่ได้ซื้อเนื้อหมูในราคาถูกกว่าท้องตลาดทั่วไปมาก จึงอยากให้มีโครงการนี้ต่อไปเรื่อยๆ เพราะช่วยเหลือชาวบ้านได้มากในยุคที่ยางมีราคาตกต่ำ