ยะลา - ศอ.บต.มอบคู่มือหนังสือภาษามลายู อักษรยาวี ให้แก่อิหม่ามประจำมัสยิดในจังหวัดยะลา-นราธิวาส จำนวนกว่า 489 แห่ง หวังใช้เป็นมรดกวัฒนธรรมด้านภาษา เพื่อส่งเสริมการศึกษาแก่ลูกหลานในพื้นที่ พร้อมรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน
วานนี้ (25 ต.ค.) เมื่อเวลา 11.00 น. ที่สำนักงานคณะกรรมการอิสลามยะลา (หลังเก่า) อำเภอเมือง จังหวัดยะลา ผู้ช่วยศาสตราจารย์ปิยะ กิจถาวร รองเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ มอบคู่มือหนังสือภาษามลายู อักษรยาวี ให้แก่อิหม่ามประจำมัสยิดในจังหวัดยะลา โดยมี นายอิสมาแอ ฮาลี ประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดยะลา นายซาฟีอี เจ๊ะเลาะ ประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดนราธิวาส นายพิเชษฐ์ เจ้ยทองศรี ผู้อำนวยการการศึกษาเอกชน จังหวัดยะลา นายมนูศักดิ์ สุหลง ผู้อำนวยการสำนักงานการศึกษาเอกชน อำเภอเมืองยะลา ตลอดจนคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดยะลา อิหม่าม คอเต็บ บิหลั่น เข้าร่วมจำนวน 480 มัสยิดในจังหวัดยะลากว่า 700 คน
นอกจากนี้ นายซาฟีอี เจ๊ะเลาะ ประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดนราธิวาส ได้บรรยายถึงวันวันปีใหม่ ฮิจเราะห์ศักราช ที่ 1436 รำลึกฮิจเลาะห์ คือ การเปลี่ยนแปลงสู่ความโปรดปราน และการอภัยโทษของอัลลอฮ รวมถึงการตักเตือนการประพฤติปฏิบัติตน เพื่อใช้เป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตถูกต้องตามหลักศาสนาอิสลาม ในฐานะของผู้นำศาสนาที่จะต้องเป็นแบบอย่างในการเผยแพร่ศาสนาให้แก่ประชาชน และเยาวชนในชุมชนต่อไป
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ปิยะ กิจถาวร รองเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวว่า ขอบคุณทีมงานที่ได้ร่วมกันจัดทำคู่มือหนังสือภาษามลายู อักษรยาวี ซึ่งเป็นมรดกที่มีคุณค่าทางภาษา เป็นความภาคภูมิใจที่ประชาชนมีความหวงแหน ผมเชื่อว่าคู่มือนี้จะสร้างโอกาสให้แก่เด็ก และลูกหลานให้ได้เรียนหนังสืออย่างมีคุณภาพ
พร้อมกันนี้ อยากให้อิหม่ามได้ชี้แจงทำความเข้าใจ และให้คำแนะนำแก่ลูกหลานในชุมชนแต่ละมัสยิดได้เรียนรู้ วันนี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้น อยากจะให้สานต่อองค์ความรู้ถ่ายทอดเพื่อเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ผมเชื่อว่า “การอ่าน” จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องได้รับการสนับสนุน ภาษาไม่ว่าจะเป็นภาษามลายู ภาษายาวี ภาษาอาหรับ ภาษาอังกฤษ ภาษาจีน ล้วนเป็นภาษาที่จะทำให้เราได้เปรียบก้าวไกลไปสู่สากล และเป็นภาษาที่จะสร้างอนาคตอันงดงามของลูกหลานอีกด้วย