xs
xsm
sm
md
lg

“เกาะเต่า” เรื่องที่ฉันไม่เคยเล่าให้ใครฟัง (ตอนที่ 2) เปิดใจเกาะเต่า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

 
โดย..เงาศิลป์

(“เงาศิลป์” เกิดทางใต้ แต่เติบโตที่ภาคกลาง และใช้ชีวิตเร่ร่อนในวัยสาวทั่วประเทศไทย เพราะหลงรักเสรีภาพ และการเดินทางมากกว่าทุกสิ่ง เธอจดบันทึกทุกเรื่องราวที่ผ่านเข้ามาในชีวิต จนบัดนี้พยายามปักหลักหยั่งรากบนแผ่นดินอีสาน ทำงานอยู่กับต้นไม้ ยิปซีสาวแห่งทุ่งอักษรผู้แสวงหาอะไรสักอย่างที่ไม่กล้าประกาศออกไป ด้วยความหวังว่าสุดท้าย...อาจได้เจอสิ่งนั้น)

 
เอาเป็นว่าเรื่องฉันกับน้าคนนั้น สรุปสั้นๆ คือ เขาตัดสินใจไม่กลับกรุงเทพฯ อีกแล้ว ส่วนฉันต้องกลับเชียงใหม่ เพราะงานทางโน้นยังไม่เสร็จ แต่ก่อนที่ฉันจะขึ้นแผ่นดินใหญ่ฉันต้องหางานทำสักชิ้น คือ งานสารคดีชิ้นสั้นๆ ลงนิตยสารรายสัปดาห์สักเล่ม เขาจึงชวนไปตามหาเพื่อนรุ่นน้องคนหนึ่งที่ชื่อ พฤกษา

พฤกษา เป็นเด็กหนุ่มจากเกาะสมุย มาได้เมียเกาะเต่า ครอบครัวเมียมีบังกะโลตั้งอยู่ริมโขดหินติดหาดสวยมากๆ แห่งหนึ่ง การมาพบกับพฤกษา ทำให้ชาญตัดสินใจเช่าบ้านหลังเล็กๆ ของญาติเมียพฤกษา ในย่านชุมชนเก่ากลางหุบเขา ที่มีกลิ่นควันไฟจากการเผาไหม้กะลาหอมฟุ้งไปทั่วทั้งหุบทุกยามเย็น

เขาบอกว่า “ผมจะอยู่ที่นี่สักพักนะ มันเหมาะที่จะทำงานมากกว่ากรุงเทพฯ” ฉันเห็นด้วยกับเขาแต่ในใจฉันไม่เคยคิดที่จะอยู่ที่นี่เลย พื้นที่ๆ เป็นเกาะมันคับแคบเกินไปสำหรับฉัน แม้ท้องฟ้าผืนทะเลจะกว้างแสนกว้าง แต่มันก็ยังไม่พอสำหรับคนแบบฉัน ที่ต้องการโบยบินไปไกลแสนไกล ในทันทีทันใดเมื่อต้องการ

เกาะเต่า จึงไม่ใช่ที่ๆ ฉันเลือก เพื่อจะอยู่อย่างยาวนาน

ฉันจึงมีความสับสนปนความเจ็บปวดในใจ ที่เขาไม่เคยรู้ เราไม่เคยคุยกันในเรื่องนี้ เพราะฉันไม่รู้จะบอกเขาอย่างไร ฉันรอให้เขาถาม ถามฉันว่าทำไมจึงไม่ตัดสินใจเลิกเดินทาง และอยู่ข้างๆ เขาเสียที จนกระทั่งวันท้ายๆ ของการมาอยู่เกาะเต่า และฉันต้องกลับไปทำงานอีกครั้งทางภาคอีสาน เขาถามฉันว่า

“ไม่ไปได้ไหม” ฉันไม่ตอบอะไร นอกจากหันหลังแล้วเดินจากมา ระหว่างนั้นยังมีรายละเอียดที่เจ็บปวดรวดร้าวสำหรับฉันไม่ใช่น้อย ในความสัมพันธ์ระหว่างเรา จึงสรุปว่า ไม่มีใครผิด ทุกคนถูกหมด ที่ผิดคือชะตากรรม

“บนเกาะเล็กๆ ที่มีประชากรไม่ถึงสามพันคน มีหมู่บ้านอยู่สามหย่อมบ้าน ที่เป็นทางการจริงๆ คือสองหมู่บ้าน กระนั้น ความเข้มข้นของการแข่งขันที่จะเป็นผู้นำก็ไม่ยิ่งหย่อนกว่าที่อื่น แม้ไม่ถึงกับรบราฆ่าฟัน แต่ก็บาดหมางกันตลอดมา ผู้นำอีกประเภทหนึ่งที่น่าสนใจ คือ นำทางด้านเศรษฐกิจ ใครรวยย่อมเสียงดังได้อย่างชอบธรรม แต่บังเอิญที่รวยที่สุดกลับเป็นฝรั่งผิวเผือก เพราะว่าเป็นเจ้าของกิจการดำน้ำรายใหญ่ที่สุด ในบรรดารายย่อยๆ นับสิบราย ที่เป็นคนต่างชาติเช่นเดียวกัน การทำมาหากินในบ้านเมืองนี้อย่างเสรีแบบไร้คู่แข่งที่เป็นคนไทย”

นั่นคือบันทึกเก่า งานชิ้นเก่าที่ฉันเขียนไว้

เรื่องแรกที่เขียนคือ สัมภาษณ์ลุงจรัญ ชาวสวนมะพร้าว และเศรษฐีที่ดิน เพราะเดินผ่านบ้านเห็นแกนั่งทำงานในเครื่องแบบประจำเกาะ คือ นุ่งผ้าโสร่ง ไม่สวมเสื้อ ข้างๆ ตัวมีเนื้อมะพร้าวแห้งที่แกะออกมา และมีกองกะลาอยู่ไม่ไกลกองใหญ่มหึมา

ลุงจรัญ ไม่ใช่คนธรรมดา เมื่อพูดคุยกันแล้ว แกเป็นคนที่มีภูมิรู้ และเป็นคนดั้งเดิมที่มาอยู่เกาะเต่า แต่ไม่ใช่ครอบครัวแรก ซึ่งครอบครัวแรกเข้ามา หลังจากนักโทษการเมืองถูกย้ายไปเกาะตะรุเตาไม่นาน

ที่ว่าลุงจรัญ ไม่ธรรมดาคือ แกมีลูกสาวเป็นด็อกเตอร์สอนอยู่ที่มหาวิทยาลัยชื่อดัง มีเพื่อนนักวิชาการของลูกๆ แวะมาเยี่ยมเยือนบ่อย และล่าสุด อาจารย์เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง มาสัมภาษณ์เก็บข้อมูลอะไรบางอย่าง ฉันจึงทำงานชิ้นนี้ได้ง่ายขึ้น เป็นการเปิดประตูเกาะเต่าโดยลุงจรัญ ข้อมูลที่ได้ดูดีทีเดียว

ลุงเป็นคนเกาะจำนวนน้อยที่ยังไม่ทิ้งอาชีพทำมะพร้าวแห้ง และไม่ขายที่ดิน ในขณะที่คนอื่นๆ เริ่มเปลี่ยนวิถีชีวิตไปสู่การทำธุรกิจท่องเที่ยวกันแล้ว และบางรายมีเงินมากมายไม่ต้องทำงานจึงดื่มกินสำราญไปวันๆ

ลุงจรัญ บอกว่า เมื่อการท่องเที่ยวเข้ามา ปัญหาที่เกิดขึ้นคือ ขยะ ระบบการกำจัดขยะที่ดีพอยังไม่มี (ต่อมาฉันพบว่า เรื่องเตาเผาขยะ กลายเป็นประเด็นการเมืองเรื่องขัดขาขัดคอของผู้นำบนเกาะสองฝ่าย) น้ำใช้ขาดแคลน บ่อน้ำจืดมีอยู่สองบ่อ เป็นบ่อเก่าแก่อยู่ที่ชุมชนดั้งเดิมกลางเกาะ มีเจ้าของที่ใช้ระบบขายน้ำ ธุรกิจขายน้ำดื่มน้ำใช้ จึงสับสนวุ่นวายและลำบากมากมายสำหรับธุรกิจบริการแบบการท่องเที่ยว (แล้วจะเล่าในบทต่อๆไป เรื่องปัญหาคาอกของแต่ละบังกะโลกับนักท่องเที่ยวในเรื่องน้ำ)

ปัญหาใหญ่ที่สุดในเวลานั้นคือ ไฟฟ้า การผลิตไฟฟ้าสำหรับชุมชนคนเกาะที่ไม่ใช่บังกะโล ต้องรอไฟฟ้าเวลามืดค่ำ เครื่องปั่นไฟจึงจะทำงาน และสว่างไม่กี่ชั่วโมงก็ปิดเครื่อง ความมืดในยามค่ำคืนของเกาะเต่าเป็นทั้งข้อดีข้อร้าย ฝรั่งหนุ่มสาวที่ออกมาพบปะกันที่ตลาดเวลาเดินกลับบังกะโลตามหาดต่างๆ จะต้องเดินเป็นกลุ่มส่องไปฉายระมัดระวังกันเอาเอง ถนนสายแคบๆ เป็นเนินสูงๆ ต่ำๆ ขรุขระ เดินได้พอสนุกๆ แต่ต้องระวังมือบิดประจำเกาะบางราย ที่บิดมอเตอร์ไซค์เต็มที่ไม่สนหน้าอินทร์หน้าพรหม ก็ยังมี

ล่าสุด ที่ฉันกลับไปเกาะเต่า ในปี 2552 ลุงเปลี่ยนเพิงย่างมะพร้าวแห้งเป็นร้านสะดวกซื้อและแต่งองค์ทรงเครื่องครบครันทั้งเสื้อ และกางเกงใหม่เอี่ยม ดูแลกิจการขายของด้วยตนเอง สวนมะพร้าวหลังบ้านกลายเป็นห้องแถว และบ้านตากอากาศทรงกิ๊บเก๋หลายหลัง

เล่ามาถึงตอนนี้เพียงคร่าวๆ เห็นภาพเรื่องราวของผู้คนบนเกาะบ้างไหม ผ่านปัญหาน้ำ ปัญหาไฟ แล้วเรื่องจัญไรจะตามมา
(อ่านต่อตอนที่ 3)
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น