xs
xsm
sm
md
lg

ชาวบ้านเปิดห้องเรียนยุทธศาสตร์พลังงานโลก เชื่อหากมีโรงไฟฟ้าถ่านหินสิ้นกระบี่!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - ชาวบ้านกระบี่เปิดห้องเรียนศูนย์กลางยุทธศาสตร์พลังงานโลก เชิญ “บก.ASTVศูนย์ข่าวภาคใต้” บรรยายให้ความรู้ สุดอึ้งหลังพบว่าภาครัฐมีแผนเปลี่ยนโฉมหน้าภาคใต้ให้กลายเป็นเขตอุตสาหกรรมหนักเช่นเดียวกับมาบตาพุด แต่กลับปกปิดข้อมูลไม่ยอมให้ชาวบ้านเห็นภาพรวม เผยเตรียมเดินหน้าจัดกิจกรรมเรียนรู้แบบนี้ต่อไปอีก ก่อนเคลื่อนไหวชูยุทธศาสตร์พัฒนาภาคใต้เป็นพื้นที่สีเขียว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อช่วงค่ำที่ผ่านมา ชาวบ้านในพื้นที่บ้านแหลมหิน ต.ตลิ่งชัน อ.เหนือคลอง จ.กระบี่ ได้จัดกิจกรรมเปิดห้องเรียน “เรียนรู้ยุทธศาสตร์ศูนย์กลางพลังงานโลก” โดยเชิญนายปิยะโชติ อินทรนิวาส บรรณาธิการศูนย์ข่าว “ASTVผู้จัดการภาคใต้” มาเป็นวิทยากรบรรยายให้ความรู้แก่ชาวบ้านประมาณ 30 คน

 
ทั้งนี้ สืบเนื่องจากพื้นที่บ้านแหลมหิน ต.ตลิ่งชัน ตั้งอยู่ในพื้นที่ใกล้กับจุดที่จะมีการก่อสร้างท่าเรือขนถ่ายถ่านหินเพื่อนำไปใช้เป็นพลังงานในการผลิตกระแสไฟฟ้า สถานที่ก่อสร้างอยู่บริเวณบ้านคลองรั้ว ต.ตลิ่งชัน ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่อยู่ถัดไป จากโครงการนี้ส่งผลให้ชาวบ้านกังวลถึงผลกระทบที่จะตามมาจากถ่านหิน ประกอบกับขณะนี้มีการรณรงค์เรื่องการปฏิรูปพลังงาน ทำให้ชาวบ้านต้องการทราบข้อมูลถึงที่มาที่ไปในแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาของภาครัฐ จึงจัดกิจกรรมสร้างการเรียนรู้ขึ้น

นายปิยะโชติ อินทรนิวาส กล่าวว่า เนื้อหาที่นำมาบรรยายให้แก่ชาวบ้านคือ เรื่องของแผนยุทธศาสตร์พลังงานโลก และแผนยุทธศาสตร์พลังงานของประเทศไทย ซึ่งสิ่งที่จะเกิดตามมาจากแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาด้านเส้นทางขนถ่ายพลังงาน คือ นิคมอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ซึ่งมีลักษณะเหมือนกันทั่วโลก

“สำหรับในประเทศไทยเราจะเห็นว่าเส้นทางขนส่งพลังงานที่ถูกพูดถึงมากที่สุด และมีการพูดถึงมานานแล้วก็คือ เส้นทางคอคอดกระ หรือคลองกระ ซึ่งเป็นเส้นทางเดินเรือเก่าแก่มาตั้งแต่ยุคโบราณ เส้นทางนี้เชื่อมทะเลอันดามัน และอ่าวไทย มันจึงเป็นเส้นทางเดินเรือสายสำคัญระหว่างซีกโลกตะวันตก และตะวันออก จึงมีศักยภาพสำหรับเป็นเส้นทางขนส่งพลังงานข้ามโลก”

 
นายปิยะโชติ กล่าวว่า ปัจจุบันโครงการขุดคอคอดกระ ได้ถูกพัฒนามาเป็นโครงการสะพานเชื่อมเศรษฐกิจอันดามันอ่าวไทย ตามแผนพัฒนาภาคใต้ หรือเซาเทิร์นซีบอร์ด ซึ่งจะมีการก่อสร้างระบบโครงสร้างพื้นฐานเชื่อมฝั่งอันดามันกับอ่าวไทย ประกอบด้วย ระบบท่อส่งน้ำมัน รถไฟรางคู่ขนส่งสินค้า และถนนมอเตอร์เวย์ ท่าเรือน้ำลึกทั้ง 2 ฝั่ง รวมทั้งโรงไฟฟ้า และเขื่อนอีกหลายแห่งในภาคใต้

“หากโครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้เกิดขึ้นสำเร็จ เราก็จะได้เห็นภาพการพัฒนาพื้นที่ไม่แตกต่างจากนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด คือ มีโรงกลั่นน้ำมันทั้ง 2 ฝั่ง และเกิดนิคมอุตสาหกรรมปิโตรเคมีทั้ง 2 ฝั่ง มีการเตรียมพื้นที่รองรับอุตสาหกรรมเหล่านี้เอาไว้แล้วทั้งที่ฝั่งอันดามัน จ.สตูล และที่ฝั่งอ่าวไทย จ.สงขลา รวมเนื้อที่ไม่ต่ำกว่า 2 แสนไร่ และสามารขยายได้อีก สาเหตุที่นิคมอุตสาหกรรมขยายตัวลงมาทางภาคใต้ เนื่องจากนิคมอุตสาหกรรมในภาคตะวันออกมันถูกพัฒนาจนเต็มพื้นที่ไม่สามารถขยายได้อีกต่อไป” นายปิยะโชติ กล่าวและว่า

กรณีที่จะมีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินใน จ.สงขลา จำนวน 2 แห่ง รวมกำลังการผลิต 2,000 เมกะวัตต์ และการฟื้นโรงไฟฟ้าถ่านหินลิกไนต์ใน จ.กระบี่ ด้วยการนำเข้าถ่านหินจากต่างประเทศ เกิดขึ้นเพื่อที่จะรองรับแผนยุทธศาสตร์ดังกล่าว

 
“แต่ที่ผ่านมา ประชาชน และชาวบ้านถูกทำให้รับรู้แบบแยกส่วน ทั้งๆ ที่โครงการเหล่านี้ไม่ว่าจะอยู่ในจังหวัดไหน พื้นที่ไหน แต่ทั้งหมดนี้อยู่ภายใต้แผนยุทธศาสตร์ฉบับเดียวกัน และทิศทางการพัฒนาจะเป็นไปตามแผนนั้นทุกประการ เพียงแต่ภาครัฐไม่มีการแจ้งให้ชาวบ้านรับรู้ว่าได้วางแผนให้พื้นที่ภาคใต้มีทิศทางการพัฒนาเป็นแบบเดียวกับนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง ในขณะนี้”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังจากรับทราบข้อมูลทำให้ชาวบ้านเกิดความตื่นตัวและกังวลต่อความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เนื่องจากส่วนใหญ่พึ่งพาการทำมาหากินในทะเล ทั้งการประมง และการท่องเที่ยว โดยมองว่าวิถีชีวิตที่เป็นอยู่นี้นับว่าดีอยู่แล้ว โดยหลังจากนี้จะมีการเปิดเวทีเรียนรู้ในลักษณะนี้เพิ่มเติมอีกประมาณ 5 เวที เพื่อกระจายความรู้ไปสู่ชาวบ้านในหมู่บ้านอื่นให้มีความรู้เท่าเทียมก่อนการเคลื่อนไหวร่วมกัน โดยมีแนวคิดว่าควรพัฒนาภาคใต้ไปในทิศทางการเกษตร การท่องเที่ยว และการประมงเพื่อความยั่งยืนของการดำรงชีวิต

“ผมเชื่อว่าหากกระบี่มีโรงไฟฟ้าถ่านหิน หรืออุตสาหกรรมอะไรก็ตามมาตั้งอยู่ในพื้นที่ ความเป็นกระบี่จะต้องจบสิ้นอย่างแน่นอน” ชาวบ้านคนหนึ่ง กล่าว
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น