ชุมพร - ชาวบ้านพะโต๊ะ จ.ชุมพร ขุดพบพระพุทธรูป-เทวรูป 4 องค์ ช่วงพุทธศักราชที่ 17 อายุ 900-1,000 ปี เก็บไว้นานนับปี ผวาใจไม่ดีตัดสินใจมอบให้พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติชุมพร เก็บรักษาเป็นสมบัติของชาติ
เมื่อเวลา 13.00 น. วันนี้ (12 ก.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ได้มีชาวบ้านขุดพบพระพุทธรูป และเทวรูปอายุนับพันปี แล้วนำมาเก็บไว้ที่บ้านนานนับปี แต่ทำให้นอนไม่หลับ จิตใจไม่ดี ฝันผวา จึงตัดสินใจมอบให้แก่ทางพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติชุมพร จึงได้เดินทางไปตรวจสอบถึงกรณีดังกล่าว และพบกับ น.ส.อัจจิมา หนูคง หัวหน้าพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติชุมพร และ นายสิทธิโชค เล็งไพบูลย์ ปราชญ์ท้องถิ่น จ.ชุมพร ที่กำลังตรวจสอบพระพุทธรูป และเทวรูปวัตถุโบราณดังกล่าว ซึ่งมีทั้งหมด จำนวน 4 องค์ ทำด้วยวัสดุสัมฤทธิ์ มีลักษณะเก่าถูกฝังดินมานาน
จากการตรวจสอบทราบว่า เป็นเทวะรูปพระโพธิสัตว์ 1 องค์ ลักษณะศีรษะมวยผม พระหัตถ์ขวาถือคัมภีร์ พระหัตถ์ซ้ายถือดอกบัว มีความสูงขนาด 44.5 ซม. พระพุทธรูปยืนปางประทานพร รอบองค์ขนาด 6.2 ซม. สูง 31.5 ซม. และพระพุทธรูปนั่งสมาธิบนฐานอีก จำนวน 2 องค์ ซึ่งทั้ง 2 องค์มีลักษณะเหมือนกัน มีขนาดหน้าตัดกว้าง 8.5 ซม. สูงประมาณ 28 ซม.
น.ส.อัจจิมา หนูคง หัวหน้าพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติชุมพร เปิดเผยว่า พระพุทธรูป และเทวรูปทั้ง 4 องค์ ตนได้รับมอบมาเมื่อวานนี้ (11 ก.ย.) จาก นางแรกแย้ม แดงเลิศ และนายปรีชา แดงเลิศ สองสามีภรรยา อยู่ที่บ้านห้วยยาเอ หมู่ 11 ต.พะโต๊ะ อ.พะโต๊ะ จ.ชุมพร โดยทั้งสองสามีภรรยาบอกว่า เมื่อเดือนมีนาคม 2556 ที่ผ่านมา ขณะที่กำลังขุดดินเพื่อวางท่อระบายน้ำในสวนทุเรียน ได้ขุดพบวัตถุโบราณซึ่งเป็นพระพุทธรูป 3 องค์ และเทวรูปทั้ง 1 องค์ รวม 4 องค์ จึงได้เก็บเอามาบูชาไว้ที่บ้านนานกว่า 1 ปี แต่ระยะหลังรู้สึกไม่สบายใจอยู่ตลอดเวลา นอนไม่ค่อยหลับ คิดไปต่างๆ นาน และได้เห็นข่าวมีคนพบวัตถุโบราณแล้วมอบให้แก่กรมศิลปากร ทั้งสองสามีภรรยาจึงมีความประสงค์อยากจะมอบวัตถุโบราณซึ่งเป็นสมบัติของแผ่นดินที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ให้แก่ทางราชการเก็บรักษาไว้สืบไป จึงตัดสินใจโทร.ไปที่ นายอาณัติ บำรุงวงศ์ ผอ.สำนักศิลปากรที่ 14 นครศรีธรรมราช และได้ประสานมายังตน หน่วยงานในพื้นที่ร่วมเดินทางไปรับวัตถุโบราณดังกล่าวมาเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติชุมพร
น.ส.อัจจิมา เปิดเผยต่อว่า จากการตรวจสอบทางประวัติศาสตร์เบื้องต้นพื้นที่ อ.พะโต๊ะ จ.ชุมพร ที่ขุดพบโบราณวัตถุดังกล่าว ซึ่งอยู่ติดกับ จ.ระนอง ในอดีตน่าจะเป็นชุมชน และเป็นเส้นทางสัญจรระหว่างพื้นที่ทะเลอ่าวไทยด้าน จ.ชุมพร กับทะเลอันดามันฝั่ง จ.ระนอง วัตถุโบราณที่ชาวบ้านขุดพบทั้ง 4 ชิ้น สันนิษฐานว่า น่าจะเป็นศิลปะแบบ “บาปวน” ในช่วงพุทธศักราชที่ 17 หรือประมาณ 900-1,000 ปีมาแล้ว อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ได้ประสานไปยังผู้เชี่ยวชาญเพื่อให้ลงมาศึกษาเส้นทางประวัติศาสตร์ในพื้นที่ดังกล่าวต่อไปแล้ว