คอลัมน์ : จุดคบไฟใต้
โดย...ไชยยงค์ มณีพิลึก
การที่ทางการมาเลเซีย โดยตำรวจจากกองพลน้อย ร.8 ที่มี ดาโต๊ะ พล.ต.อัชมี เป็นผู้บัญชาการจับกุมตัว นายอัสบูเล๊าะ สนิ หรื เปาะเลาะ หรืออิสบูเล๊าะ บิน มูฮำหมัด ผู้ต้องหาสังหารนางสมศรี ธัญญะเกษตร ครูโรงเรียนบ้านโคกมือบา อ.ตากใบ จ.นราธิวาส เหตุเกิดเมื่อวันที่ 20 มี.ค.2557 ซึ่งจับกุมตัวได้พร้อมอาวุธสงคราม 4 กระบอก คือ เอ็ม 16 จำนวน 2 กระบอก ปืนเอชเค 44 จำนวน 1 กระบอก และปืนอาก้า 47 จำนวน 1 กระบอก โดยจับกุมได้ที่ชายแดนไทย-มาเลเซีย บริเวณท่าเรือกัวลาจัมปู อ.ตุมปัต รัฐกลันตัน ตรงข้ามกับบ้านกอตอละ ต.นานาค อ.ตากใบ จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 2 ก.ย.2557 เรื่องราวนี้ได้บอกให้สังคมไทยได้รับรู้อย่างน้อยใน 3 ประเด็นคือ
ประเด็นแรก เรื่องเจ้าหน้าที่รัฐไทยจับกุมแนวร่วมขบวนการแบ่งแยกดินแดน หรือ “คนร้าย” ได้อย่างยากเย็น เป็นเพราะหลังก่อเหตุแนวร่วมเหล่านั้นจะหลบหนีเข้าไปอยู่ในมาเลเซีย ทั้งในรอยต่อของแนวชายแดน และในพื้นที่ของเมืองต่างๆ ที่มีคนมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยเข้าไปตั้งรกรากอยู่ ซึ่งชุมชนในลักษณะนี้มีอยู่เป็นจำนวนมากใน 4 รัฐที่มีอาณาเขตติดดับไทย และนี่คือสาเหตุสำคัญที่ทำให้ปัญหาการก่อการร้าย หรือการก่อความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้แก้อย่างไรก็ไม่ประสบความสำเร็จ
ประเด็นที่สอง แม้ว่าเจ้าหน้าที่ของมาเลเซียจะสามารถจับกุมแนวร่วม หรือคนร้ายที่มีหมายจับของรัฐไทยไว้ได้ แต่เจ้าหน้าที่ฝ่ายไทยก็ไม่สามารถนำคนร้ายที่ถูกจับกุมกลับมาดำเนินคดีได้ เพราะไทยกับมาเลเซียไม่มีสนธิสัญญาในการส่งผู้ร้ายข้ามแดน ซึ่งนี่ก็เป็นประเด็นสำคัญอีกประเด็นหนึ่งที่ทำให้การแก้ปัญหาการก่อการร้ายในไทยมีอุปสรรคมาโดยตลอด
ประเด็นที่สาม เหตุผลที่ตำรวจมาเลเซียจับกุมแนวร่วมคนนี้ รวมทั้งมีการแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนของฝ่ายมาเลเซีย สาระสำคัญไม่ได้อยู่ที่ตัวของนายอัสบูเล๊ะ สนิ ชื่อตามทะเบียนบ้านที่ ต.ไพรวัลย์ อ.ตากใบ จ.นราธิวาส หรือนายอิสบูเล๊าะ บิน มูฮำมัด ชื่อตามทะเบียนบ้านในมาเลเซีย อันเป็นการแสดงให้เห็นชัดว่า นายอัสบูเล๊ะ เป็นบุคคล 2 สัญชาติ แต่ที่มีการจับกุม และแถลงข่าวในครั้งนี้กลับเป็นเพราะมีการยึดอาวุธปืนสงครามได้ 4 กระบอก และมีหลักฐานปรากฏชัดว่าปืนสงครามทั้ง 4 กระบอก เป็นของตำรวจ สภ.ตากใบ จ.นราธิวาส ที่ถูกยิงตายและปล้นปืนไปเมื่อวันที่ 28 มิ.ย.2557 นี่เอง
เนื่องจากอาวุธปืนเป็นเรื่องสำคัญที่สุดสำหรับความมั่นคงของมาเลเซีย จึงทำให้มีการแถลงข่าวการจับกุม นายอัสบูเล๊าะ เกิดขึ้น และเพราะรัฐกลันตันเป็นฐานที่มั่นของพรรคฝ่ายค้านที่เห็นต่างจากรัฐบาลกลางมาเลเซียในหลายเรื่อง แต่รัฐกลันตัน ก็ไม่ต้องการให้อาวุธสงครามตกอยู่ในรัฐกลันตัน ด้วยเกรงว่าอาจจะไปตกอยู่กับกลุ่มก่อการร้ายที่มีแนวคิดในเรื่องระบอบรัฐอิสลาม ซึ่งแน่นอนว่า ถ้าเพียงแค่นายอัสบูเล๊าะ เพียงคนเดียว เขาจะอยู่ในมาเลเซียนานเท่าไหร่ก็ได้
โดยข้อเท็จจริงจากอดีตจนถึงปัจจุบัน รัฐต่างๆ ของมาเลเซียที่รายรอบ จ.สงขลา จ.สตูล จ.นราธิวาส และ จ.ยะลา รวมทั้งเมืองหลวงอย่างกรุงกัวลาลัมเปอร์ ทุกพื้นที่คือฐานที่มั่น คือที่อยู่อาศัยและที่ทำกิน และที่สำคัญคือ ที่หลบซ่อนของสมาชิกขบวนการแบ่งแยกดินแดน หรือเหล่าคนร้ายที่ก่อเหตุในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย แล้วหลบหนีไปยังมาเลเซีย และในบางขณะก็ใช้แผ่นดินมาเลเซียเป็นที่วางแผนก่อนที่จะลักลอบเข้ามาก่อการร้ายในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย หลังจากที่สร้างความสูญเสียให้เกิดขึ้นแล้ว ก็หลบไปกลบดานที่มาเลเซียต่อ
ดังนั้น สาเหตุหนึ่งที่รัฐไทยประสบความล้มเหลวในการป้องกัน และปรามปรามผู้ก่อการร้าย เพราะมาเลเซียคือ “หลังพิง” ของขบวนการก่อการร้าย หรือขบวนการแบ่งแยกดินแดนในไทยทุกกลุ่ม และทุกขบวนการนั่นเอง
เหตุผลที่ผู้เขียนหยิบยกเอาเรื่องทั้ง 3 ประเด็นมาเขียนถึงในที่นี้เพราะเห็นว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ.ในฐานะหัวหน้า คสช. และหมวกใบล่าสุดคือ นายกรัฐมนตรี ได้ประกาศให้ปัญหาความไม่สงบของจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็น “วาระแห่งชาติ” ไปแล้ว และทุกครั้งที่มีการ “สื่อสารทางเดียว” ต่อประชาชนในทุกค่ำคืนของวันศุกร์ นายกรัฐมนตรีจะต้องพูดถึงปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างซีเรียสทุกครั้ง แสดงให้เห็นถึงความจริงจังที่จะใช้ทุกวิถีทางเพื่อที่จะดับไฟใต้ให้เป็นผลสำเร็จ
ดังนั้น จึงเห็นว่าในเรื่องของการเปิดพื้นที่ “พูดคุยเพื่อสันติสุข” ตามนโยบายของ ครม.ชั่วคราวชุดนี้ ปัญหาที่แก้ไม่เคยได้เลยคือ การตกลงในสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนระหว่างไทย-มาเลเซีย ต่อไปนี้ต้องมีการพูดคุยเพื่อหาข้อตกลงกันให้ได้เสียที เพราะเชื่อว่าหลังจากที่มีการเปิดประชาคมอาเซียนขึ้น ปัญหาเรื่องผู้ร้ายข้ามแดนก็จะมีมากยิ่งขึ้นตามไปด้วย
ประการต่อมา เรื่องการสร้างรั้วตามแนวชายแดนระหว่างไทย-มาเลเซีย หรือในพื้นที่ 4 จังหวัดใต้ล่างของไทย ซึ่งมีการพูดคุยกันมากว่า 10 ผบ.ทบ.ของไทยต่อเนื่องมาแล้วนั้น เรื่องนี้ต้องมีการเริ่มลงมือทำกันได้เสียที อย่าพูดเพียงเรื่องงบประมาณไม่มีเท่านั้น เพราะงบประมาณที่ใช้ซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์อื่นๆ หรือแม้แต่ใช้ซื้อเพื่อจะทิ้งๆ ขว้างๆ ภายหลังอย่าง “เรือเหาะ” หรือเครื่องตรวจระเบิด “จีที 200” ไทยเรายังสามารถที่จะ “ล้างผลาญ” งบประมาณกันมาได้ แล้วกับเรื่องกั้นรั้วแนวชายแดนที่เป็นเรื่องของความมั่นคงในการป้องกันประเทศเหมือนกัน ทำไมที่ผ่านๆ มาจึงทำไม่ได้
วันนี้เป็นเวลาที่เหมาะที่นอกจากรัฐไทยจะได้มีการเปิดเวทีพูดคุยสันติสุขกับกลุ่มผู้เห็นต่างในส่วนที่อาศัยแผ่นดินมาเลเซียเป็นหลังพิง โดยมีรัฐบาลมาเลเซียเป็นผู้อำนวยการในการเปิดพื้นที่พูดคุยแล้ว รัฐไทยจะต้องใช้โอกาสนี้ในการพูดคุยกับมาเลเซียในปัญหาร่วมกันดังที่กล่าวมาข้างต้น
เนื่องเพราะวันนี้เห็นได้อย่างชัดเจนว่า ถ้ามาเลเซียยังยินยอมให้ประเทศของตนเองเป็นหลังพิงของขบวนการก่อการร้าย หรือขบวนการแบ่งแยกดินแดนในไทย มาเลเซียเองก็ต้องได้รับผลกระทบได้ด้วยอย่างกรณีอาวุธสงคราม 4 กระบอกที่ นายอัสบูเล๊าะ สนิ นำจากชายแดนไทยเข้าไปยังรัฐกลันตัน ของประเทศมาเลเซียนั่นเอง
และที่สำคัญ ก่อนหน้านี้ไม่กี่เดือน เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงระดับสูงของมาเลเซียได้ออกมาแถลงข่าวถึงการจับกุมชาวมาเลเซียที่รวมตัวกันเพื่อก่อการร้ายตามแนวทางของกลุ่มก่อการร้ายที่เกิดขึ้นในประเทศซีเรีย โดยต้องการสถาปนาการปกครองในระบอบกาหลิบอย่างในอดีต โดยล่าสุด มาเลเซียสามารถจับกุมผู้มีชื่อในบัญชีการก่อการร้ายได้ถึง 8 คน ในขณะที่คนเหล่านี้เตรียมเดินทางไปยังประเทศซีเรีย เพื่อร่วมกับนักรบเหล่านั้นต่อสู้กับรัฐบาลซีเรีย
เหล่านี้คือเงื่อนไข และคือโอกาสในการที่รัฐไทยจะ “ก้าวรุก” ในเวทีการพูดคุยกับมาเลเซีย เพื่อการแก้ปัญหาความไม่สงบของจังหวัดชายแดนภาคใต้ในฐานะของ “หุ้นส่วน” ที่ต้องรับผลกระทบต่อสถานการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นกับจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย
ดังนั้น ในการเปิดเวทีพูดคุยสันติสุขครั้งนี้จึงไม่ใช่เป็นการพูดคุยกับขบวนการบีอาร์เอ็นฯ หรือพูโลเพียงอย่างเดียว เพราะทั้งบีอาร์เอ็นฯ และพูโล ต่างก็เป็นเพียง “หมาก” หรือ “เบี้ย” ตัวหนึ่งบนกระดานหมากรุกที่มาเลเซียใช้เพื่อการ “รุกฆาต” รัฐไทยมาโดยตลอด
ณ วันนี้เมื่อสถานการณ์โลกเปลี่ยน สถานการณ์การก่อการร้ายในโลกมุสลิมเปลี่ยน รัฐไทยจะต้องใช้เงื่อนไขที่ว่ามาให้เป็นโอกาส เพื่อให้เกิดประโยชน์ในการดับไฟใต้มากที่สุด เพราะที่ผ่านมา รัฐบาล และหน่วยงานของรัฐไทยต่างใช้ “ความรู้เก่า” ไปต่อสู้ใน “สงครามใหม่” จึงทำให้ก้าวไปสู่ความ “พ่ายแพ้” ตลอดกาล
ถึงเวลาแล้วที่รัฐบาล หรือหน่วยงานของรัฐไทยต้องใช้ “ความรู้ใหม่” เพื่อต่อสู้ใน “สงครามใหม่” และนั่นจะเป็นหนทางไปสู่ชัยชนะที่อาจจะไปได้เร็วกว่าที่คิด