“ลูกชกในน้ำเชื่อม” เป็นของหวานที่หลายๆ คนอาจจะยังไม่รู้จัก เพราะไม่สามารถหารับประทานได้ตามร้านทั่วๆ ไป แต่ถ้าเป็นคนในพื้นที่จังหวัดพังงา ภูเก็ต รวมทั้งฝั่งอันดามันจะรู้จักดี เพราะเป็นของหวานที่ขึ้นชื่อ แต่ใน 1 ปี ต้นชกจะออกลูกเพียงแค่ครั้งเดียวเท่านั้น เมื่อรับประทานแล้วไม่อาจลืมรสชาติที่ “หอม หวาน เหนียวนุ่ม หนึบหนึบ” ได้ จนต้องซื้อติดไม้ติดมือกลับไปฝากคนที่บ้านด้วย ซึ่งตอนนี้ ลูกชกถือเป็นของดีของพังงา และกำลังกลายสินค้าโอทอปที่สร้างรายได้ให้แก่ชุมชนจำนวนมาก วันนี้ คอลัมน์ “เมนูเด็ดแดนใต้” จะพาไปตามล่าหาที่มาของ “ลูกชกในน้ำเชื่อม”
สำหรับสถานที่เราไปตามหาลูกชก อยู่ที่บ้านบางเตย อ.เมือง จ.พังงา ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีต้นชกมากเป็นพิเศษ ชาวบ้านในพื้นที่ได้ใช้ภูมิปัญญาชาวบ้าน ในการนำลูกชกมาทำเป็นสินค้าโอทอป จนกลายเป็นของดีของแห่งเมืองพังงา และสร้างรายได้ให้แก่คนในชุมชนอย่างเป็นกอบเป็นกำ และเมื่อเราเดินทางไปถึงชุมชนบ้านบางเตย ก็ได้รับการต้อนรับจาก กำนันพงษ์วัฒน์ บุญโกย พร้อมกับพาไปรู้กับต้นชก
ต้นลูกชก มีเรียกอยู่หลายชื่อด้วยกัน เช่น ฉก, ชก (ภูเก็ต พังงา) โยก (สตูล) เนา (ตรัง) กาชก (ชุมพร) ชิด (ภาคกลาง) ตาว (ภาคเหนือ) ต้นชก เป็นต้นไม้ลักษณะคล้ายต้นปาล์ม ชอบขึ้นตามแนวภูเขาหิน มีลำต้นตรง โตเต็มที่จะมีขนาดใหญ่กว่าต้นตาล สูงประมาณ 20-25 เมตร ใบยาวประมาณ 3 เมตร คล้ายใบมะพร้าวแต่ใหญ่กว่า ดอก หรืองวงของต้นชก จะออกบริเวณส่วนบนใกล้ยอดของลำต้น มีก้านดอกห้อยเป็นพวงยาว 3-5 เมตร ผลคล้ายลูกตาลขนาดจิ๋ว ออกผลเป็นทะลายเนื้อ ภายในผลมี 3 เมล็ด พบมากในฝั่งอันดามัน ต้นชกจะออกลูกปีละ 1 ครั้ง และ 1 ต้นมีลูกได้แค่ครั้งเดียวเท่านั้น ซึ่งหลังจากออกลูกแล้วจะไม่ออกลูกอีก แต่ต้นชกก็จะออกเฉพาะดอก และค่อยๆ ตายในที่สุด จนบางครั้งชาวบ้านเรียกว่า “ต้นลูกฆ่าแม่”
เมื่ออายุประมาณ 20-25 ปี ต้นชกก็จะให้ลูกโดยแต่ละต้นจะให้ลูกจำนวนมากหลายร้อยกิโล ชาวบ้านที่มีความชำนาญในการดูลูกชก เมื่อเห็นว่าลูกชกมีขนาดได้ที่ คือ ไม่แก่ หรืออ่อนเกินไป ก็จะปีนจะขึ้นไปตัดเอาผลของลูกชกลงมา เมื่อได้ผลมาแล้วก็จะนำกลับมาแปรรูป แต่ขอบอกก่อนว่ายางของลูกชกนั้นถ้าโดนผิวหนังจะทำให้คัน และระคายเคืองมากเพราะฉะนั้นจะต้องระมัดระวังไม่ให้ยางโดนผิวหนัง
เมื่อได้ลูกชกสดมาแล้ว ชาวบ้านจะนำลูกชกไปเผาไฟ หรือบางรายใช้วิธีนำไปต้ม เมื่อสุกก็จะนำมาผ่าโดยใช้กรรไกรผ่าหมากมายึดติดกับไม้ตัดบริเวณส่วนหัวของลูกชกเพื่อให้เห็นเนื้อข้างใน หลังจากนั้นใช้หางช้อนที่สะอาดคว้านเอาเนื้อของลูกชกออกมา และนำใส่ในน้ำเปล่า โดยลูกชกที่คว้านออกมานั้นจะต้องไม่ให้ติดเนื้อเยื้อสีเหลืองๆ เพราะเนื้อเยื้อดังกล่าวมีพิษที่ทำให้คันได้ เมื่อได้เนื้อลูกชกสีขาวขุ่นมาแล้ว ก็จะนำไปล้าง ซึ่งกรรมวิธีในการล้างจะใช้มือเปล่าๆ ไม่สวมถุงมือล้าง เพื่อจะได้รู้ว่าลูกชกยังมียางตกค้างอยู่หรือไม่ ซึ่งจะล้างลูกชกจนสะอาด หลังจากนั้นจะนำไปแช่น้ำอีกครั้งเพื่อให้ลูกชกอยู่ตัว
หลังจากนั้นก็จะมาถึงขั้นตอนของการเชื่อมลูกชก ซึ่งกรรมวิธีในการเชื่อมก็ไม่ยากอะไร เหมือนกับการเชื่อมผลไม้ทั่วไป แต่ที่ชาวบ้านบอกมานั้น จะต้องเริ่มจากการนำลูกชกออกจากน้ำที่แช่ไว้ก่อน หลังจากนั้นต้มน้ำเปล่าให้เดือด และนำลูกชกไปใส่ในน้ำที่กำลังเดือดเพื่อลวกลูกชก ใช้เวลาไม่นาน ก็ตักลูกชกออกนำไปตั้งให้สะเด็ดน้ำ หลังจากนั้นมาทำน้ำเชื่อมโดยการเอาน้ำเปล่าใส่หม้อ ใส่น้ำตาลทราย ถ้าจะให้ดีควรจะใช้น้ำตาลทรายแดง ส่วนปริมาณก็แล้วแต่ว่าชอบหวานมาก หรือหวานน้อย และใส่ใบเตยลงไปเล็กน้อยเพื่อให้ได้กลิ่นหอมของใบเตย ซึ่งสัดส่วนที่ชาวบ้านในชุมชนใช้จะอยู่ที่ ลูกชก 5 กิโลกรัม ใช้น้ำตาล 1.5 กิโลกรัม ต้มจนน้ำตาลเดือดจนได้ที่ เมื่อน้ำเชื่อมได้ที่แล้วก็เอาลูกชกใส่ลงไป ปล่อยให้เดือดสักพักเอาออกมาตั้งให้เย็น ถึงเวลารับประทานก็เอาน้ำแข็งมาเติมเล็กน้อย หรือจะใส่น้ำแข็งบดก็ได้ หรือจะนำไปทำของหวานอย่างอื่นก็ได้ เช่น บัวลอยลูกชกมะพร้าวอ่อน
ต้นชก นอกจากมีดีที่ลูกนำมาทำเป็นลูกชกเชื่อมแล้ว ต้นชกยังมีของดีอื่นๆ ที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย เช่น ยอดอ่อนใช้ทำอาหารได้ทั้งคาวและหวาน งวงหรือดอก ใช้ทำน้ำตาลชกสด นำมาเคี่ยวจนกลายเป็นน้ำตาลเหนียวหนืด ซึ่งทำได้ทั้งน้ำตาลผง และน้ำตาลแว่น ก้านใบนำไปทำไม้กวาด และอื่นๆ อีกหลายอย่าง โดยปัจจุบันลูกชกสดมีราคาสูงถึง 100-120 บาท
แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงในขณะนี้คือ จำนวนต้นชก ที่นับวันจะมีจำนวนน้อยลง เพราะส่วนใหญ่ต้นชกเป็นต้นไม้ที่ขึ้นเองตามธรรมชาติ แต่ละต้นต้องใช้เวลานานกว่าจะให้ลูก และเมื่อออกลูกแล้ว ต้นก็จะค่อยตายไปเรื่อยๆ ตามธรรมชาติ ทำให้ขณะนี้ชาวบ้านบางส่วนต้องไปซื้อลูกชกมาจากจังหวัดใกล้เคียง