xs
xsm
sm
md
lg

การท่าฯ ภูเก็ตซ้อมแผนฉุกเฉินปล้นยึดอากาศยาน หลังเหตุขู่วางระเบิด (ชมคลิป)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวภูเก็ต - กองทัพอากาศ ร่วมกับท่าอากาศยานภูเก็ต ฝึกซ้อมแผนฉุกเฉิน “การปล้นยึดอากาศยาน” หลังเหตุคนร้ายโทร.ข่มขู่วางระเบิดสายการบินแอร์เอเชีย

วันนี้ (27 ส.ค.) ที่อาคารสถานีดับเพลิงและกู้ภัยท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ต น.อ.กันต์พัฒน์ มังคละศิริ รองผู้อำนวยการท่าอากาศยาน พร้อมด้วย น.อ.เจริญชัย สารมานิตย์ เสนาธิการกรมปฏิบัติการพิเศษทางอากาศ กองทัพอากาศ ร่วมเป็นประธานเปิดการฝึกซ้อมแผนฉุกเฉินการปล้นยึดอากาศยาน ประจำปี 2557 หรือ PEMEX 2014 ตามแผนความปลอดภัยขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ ซึ่งกำหนดให้แต่ละท่าอากาศยานของรัฐภาคีจัดให้มีแผนฉุกเฉิน เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติเมื่อเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินขึ้นอย่างน้อย 1 ครั้ง ทุกๆ 2 ปี ในปีนี้จัดให้ฝึกซ้อมระหว่างวันที่ 27-28 สิงหาคม

โดยในการฝึกซ้อมดังกล่าว มีเจ้าหน้าที่จากหลายหน่วยงานเข้าร่วมฝึกซ้อม ได้แก่ หน่วยปฏิบัติการพิเศษ กองทัพอากาศ เจ้าหน้าที่การท่าอากาศยานฯ เจ้าหน้าที่ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เจ้าหน้าที่ศูนย์ควบคุมวิทยุการบิน เจ้าหน้าที่ทหารจากหมวดบินเฉพาะกิจ ทัพเรือภาคที่ 3 เจ้าหน้าที่ตำรวจ และแพทย์พยาบาลจากโรงพยาบาลวชิระภูเก็ต และโรงพยาบาลถลางเข้าร่วมฝึกซ้อม

ทั้งนี้ ได้มีการสมมติสถานการณ์ว่าในวันพุธที่ 27 สิงหาคม เวลา 04.00 น. บริษัทวิทยุการบินประเทศไทย จำกัด ได้รับแจ้งว่าเครื่องบินแอร์บัส 330-300 สายการบิน TEMPO AIRLINE เที่ยวบิน TP 326 เส้นทางท่าอากาศยานบังกา-ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เดินทางออกจากเมืองบังกาเมื่อเวลา 00.30 น. กำหนดถึงท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ 05.55 น. ตามเวลาประเทศไทย ได้ถูกผู้ก่อการร้ายไม่ทราบจำนวนจี้ยึดไว้ และแจ้งว่ามีความประสงค์ที่จะลงจอดที่ท่าอากาศยานภูเก็ต จากนั้นทางศูนย์ ศปก.ทอ.ได้จัดตั้งศูนย์ควบคุมสั่งการ โดยมีเสนาธิการ ทอ.ปฎิบัติหน้าที่ ผอ.ศูนย์ พร้อมจัดตั้งกองร้อยเคลื่อนที่ทางยุทธวิธี 0034 (นปพ.ทอ.) พร้อมเคลื่อนย้ายกำลังภายใน 2 ชั่วโมง เมื่ออากาศยานเข้าเขตประเทศไทย ได้ใช้เครื่องบิน Grippen เข้าสกัดกั้น พร้อมแจ้งขอลงจอดฉุกเฉินที่สนามบินนานาชาติภูเก็ต โดยให้ทุกหน่วยปฏิบัติตามแผนความพร้อมฉุกเฉิน ก่อนจะนำผู้โดยสาร 55 คน และลูกเรือ 8 คน พร้อมเที่ยวบินลงจอดอย่างปลอดภัย จากนั้นผู้ก่อการร้ายได้แจ้งผ่านศูนย์ควบคุมเพื่อเจรจากับรัฐบาล ให้ปล่อยตัวนักโทษคดีอาวุธข้ามชาติ (RCF) และขอให้รัฐบาลไทยอำนวยความสะดวกตามคำขอ เช่น ขอเครื่องกำเนิดไฟฟ้า วิทยุสื่อสาร และขอให้เติมน้ำมันเครื่องบินภายในเวลาที่กำหนด พร้อมขอให้รัฐบาลไทยปล่อยตัวนักโทษ RCF จำนวน 5 คน ก่อนที่ผู้ก่อการร้ายจะแจ้งว่า มีผู้ป่วยให้ส่งแพทย์เข้าทำการรักษา แต่ผลการเจรจาผู้ร้ายยอมให้นำผู้ป่วยออกมารักษาภายนอกแลกกับการส่งน้ำ และอาหาร เจ้าหน้าที่จึงปฏิบัติการโจมตีเป้าหมาย เสร็จสิ้นสถานการณ์

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาเหตุการณ์ปล้นยึดอากาศยานที่เกิดขึ้น และเกี่ยวข้องกับประเทศไทย 3 ครั้ง คือ ครั้งแรกเหตุการณ์การปล้นยึดเครื่องบินจากฟิลิปปินส์มาลงไทยเมื่อวันที่ 7-13 เมษายน 2519 ครั้งที่ 2 การปล้นยึดเครื่องบินจากอินโดนีเซีย มาลงไทยเมื่อวันที่ 28-31 มีนาคม 2524 และครั้งที่ 3 คือ การปล้นยึดเครื่องบินจากประเทศไทย ไปแอลจีเรีย เมื่อวันที่ 5-20 เมษายน 2531









 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น