xs
xsm
sm
md
lg

2 เรื่องที่ทหารต้องทำให้ประชาชนเชื่อมั่นต่อการดับไฟใต้ / เมือง ไม้ขม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แฟ้มภาพ
 
คอลัมน์ : จุดคบไฟใต้
โดย...เมือง  ไม้ขม
 
ประเด็นร้อนสำหรับแผ่นดินปลายด้ามขวานในสัปดาห์นี้มีอยู่ 2 เรื่องด้วยกัน เรื่องแรกที่ต้องนำมากล่าวถึง ได้แก่ เรื่องร้อนที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันท์โอชา ผบ.ทบ.และหัวหน้า คสช.ที่มีคำสั่งให้หน่วยงานความมั่นคงในพื้นที่คือ “กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า” ให้ระวังป้องกันการก่อการร้ายในห้วง 10 วันสุดท้ายของเดือนรอมฎอน เพื่อลดความสูญเสียของกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร พลเรือน และประชาชน
 
การที่หัวหน้า คสช.ออกมาเตือนให้ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า เพิ่มความเข้มข้นในปฏิบัติการป้องกันเหตุร้ายไฟใต้ครั้งนี้ คงจะสืบเนื่องจากสถานการณ์ความไม่สงบที่ผ่านมา ซึ่งแม้จำนวนการก่อการร้ายจะลดความถี่ลง แต่ในการก่อเหตุหลายครั้งสร้างความสูญเสียเป็นอย่างมากให้เกิดขึ้น เช่น การสูญเสีย 2 นักศึกษาวิทยาลัยสาธารณสุข จ.ปัตตานี การสูญเสียนายตำรวจระดับ รอง ผกก.ป.และลูกน้องทีเดียว 3 ศพ และการตายของประชาชนทั้งพุทธ และมุสลิมแบบรายวันยังเกิดขึ้นตลอดเดือนรอมฎอนนี้
 
รวมทั้งสายข่าวหลายหน่วยงานยังมีรายงานทำนองเดียวกันว่า ในห้วง 10 วันสุดท้ายของเดือนรอมฎอน จะมีการก่อเหตุร้ายครั้งใหญ่ใน 4 จังหวัด คือ ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และสงขลา เพราะการก่อการร้ายใน 10 วันสุดท้ายของเดือนถือศีลอดนั้น เหล่าอุสตาซที่เป็นผู้บ่มเพาะทางจิตวิญญาณให้แก่แนวร่วมขบวนการแบ่งแยกดินแดนได้ปลูกฝังแนวคิดโดยการบิดเบือนคำสอนของศาสนาว่า จะได้บุญถึง 10 เท่า และที่น่ากลัวมากคือ แนวร่วมเหล่านี้ต่างเชื่อในคำสอนที่ถูกบิดเบือนเสียด้วย
 
ในขณะของภาคส่วนของประชาชนส่วนใหญ่ในพื้นที่ ปฏิกิริยาหลังการรัฐประการโดย คสช. ซึ่งมีการให้อำนาจเบ็ดเสร็จแก่ “ผอ.กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า” เป็นผู้ควบคุม และสั่งการในการแก้ปัญหาความไม่สงบ ทั้งทางด้านความมั่นคง และด้านการพัฒนานั้น
 
แม้ภาพภายนอกจะไม่เห็นการต่อต้านด้วยวิธีการแสดงออกทางความคิดเห็น แต่ถ้าติดตามความเคลื่อนไหว และสัมผัสถึงอารมณ์อันเงียบสงบนั้น จะพบว่า ภาคส่วนของประชาสังคมส่วนหนึ่งมีความไม่เห็นด้วยในหลายเรื่อง หลายกรณี เพียงแต่ยังไม่มีการแสดงปฏิกิริยาให้เห็นเท่านั้น
 
ที่เป็นเช่นนี้เป็นเพราะในวันนี้บนพื้นที่ปลายด้ามขวานไม่มีบรรยากาศของการให้แสดงความคิดเห็น ซึ่งก็เป็นเช่นเดียวกับทั่วประเทศนั่นแหละ แม้ว่ากองทัพโดย พล.อ.อุดมเดช สีตะบุตร รอง ผบ.ทบ. ในฐานะประธานการแก้ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ จะส่งสารถึงประชาชนในพื้นที่ว่า คสช.ยังเดินหน้าในการพูดคุยกับผู้เห็นต่าง ทั้งในส่วนของขบวนการ นักวิชาการ ปัญญาชน และกลุ่มอื่นๆ
 
เพียงแต่ให้มีการเปลี่ยนจากการ “พูดคุยสันติภาพ” เป็นการ “พูดคุยสันติสุข” โดยยังเน้นการพูดคุยกับกลุ่มก้อนของผู้ที่อยู่ในพื้นที่
 
แต่จากการติดตามบรรยากาศของคนในพื้นที่หลังจากมีการสงสารจาก คสช.ถึงการเดินหน้าพูดคุยนั้น ยังพบว่า การประกาศเดินหน้าพูดคุยครั้งนี้ไม่ได้ทำให้บรรยากาศของความอึมครึมที่เป็นอยู่หลังการรัฐประหารดีขึ้น ซึ่งจากการที่ได้สัมผัส และพูดคุยกับกลุ่มคนกลุ่มต่างๆ ในพื้นที่ กลุ่มคนเหล่านี้ได้ให้เหตุผลถึงบรรยากาศที่ไม่ตอบรับกระแสการพูดคุยครั้งนี้ว่า ขณะนี้ไม่มีบรรยากาศของการพูดคุย ด้วยเหตุที่ฝ่ายผู้เห็นต่างยังเห็นว่า บรรยากาศของการพูดคุยจะเกิดขึ้นได้ ต้องมาจากความต้องการของทั้ง 2 ฝ่าย
 
เรื่องการพูดคุยนั้น สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ เรื่องของบรรยากาศที่ต้องไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างกัน แต่ขณะนี้บรรยากาศการไว้เนื้อเชื่อใจในพื้นที่ยังไม่ได้ถูกสร้างให้เกิดขึ้น จึงทำให้การส่งสารจาก คสช.ในเรื่องการจะสานต่อการพูดคุยสันติสุข จึงไม่มีบรรยากาศของการตอบรับเหมือนครั้งที่เคยเกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2556 ที่ผ่านมา
 
เมื่อภาคประชาสังคมยังมีอาการลังเล และไม่ตอบรับต่อนโยบายที่จะมีการสานต่อเรื่องการพูดคุย รวมทั้งสภาวะของการหวาดระแวง และไม่เห็นด้วยต่อนโยบายที่ถูกนำมาใช้ในขณะนี้ โอกาสที่ยังจะเกิดความรุนแรงของการก่อการร้ายจึงยังเป็นสิ่งที่ยังเป็นไปได้สูง
 
ณ วันนี้การที่จะหยุดเหตุร้าย หรือการลดจำนวนเหตุรายวันที่เกิดขึ้นในดินแดนปลายด้ามขวาน จึงต้องอยู่ที่ความสามารถของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ล้วนๆ ทั้งการเปิดยุทธการ “เชิงรุก” เพื่อมิให้แนวร่วมมีเสรีภาพในการเคลื่อนไหวในวงกว้างเพื่อการก่อเหตุร้ายใหญ่ๆ แบบ “รวมดารา” หรือแบบ “ดาวกระจาย”
 
หรือการ “ตั้งรับ” ในการรักษาความปลอดภัยในพื้นที่เศรษฐกิจของ 4 จังหวัดชายแดนใต้ เพื่อมิให้เกิดเหตุต่อพื้นที่เศรษฐกิจเหล่านั้น โดยการต้องปิดช่องว่างช่องโหว่ที่อาจจะเกิดขึ้น ซึ่งการตั้งรับแบบนี้จะได้ผลดีหรือไม่นั้น อยู่ที่งาน “การข่าว” ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการป้องกัน
 
ส่วนเรื่องที่จะหวังได้ความร่วมมือกับประชาชน หรือภาคประชาสังคมนั้น ในบรรยากาศของวันนี้อาจจะหวังได้ยาก เพราะเท่าที่เห็น และสัมผัสมาทุกภาคส่วนของประชาชนรับฟัง แต่จะได้ยินหรือไม่เป็นเรื่องที่ประเมินกันได้ไม่ยาก โดยเฉพาะนักการทหารสายพิราบในพื้นที่จะเป็นผู้ที่ให้คำตอบได้ดีที่สุด
 
แฟ้มภาพ
 
ส่วนอีกเรื่องที่ต้องกล่าวถึงคือ เรื่องของ “ภัยแทรกซ้อน” ที่ล่าสุด พล.ท.วลิต โรจนภักดี แม่ทัพภาคที่ 4 และ ผอ.กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ได้ให้ความสำคัญ และมีคำสั่งให้มีการบูรณาการหน่วยงานต่างๆ ทั้งในส่วนกลาง และในพื้นที่ ดำเนินการ “เอาเรื่อง” และ “เอาผิด” ต่อกลุ่มก้อนของผู้ก่อภัยแทรกซ้อนที่เน้นในเรื่องของขบวนการค้ายาเสพติด น้ำมันเถื่อน และอื่นๆ ในพื้นที่ 
 
เรื่องภัยแทรกซ้อนที่กล่าวถึงนั้น กอ.รมน.มีหลักฐานชี้ชัดว่า กลุ่มผู้ก่อภัยแทรกซ้อนได้ทำหน้าที่เป็นฐานการเงินให้แก่ขบวนการแบ่งแยกดินแดน จึงจำเป็นต้องปราบปรามอย่างจริงจัง
 
ทั้งนี้ ผู้ที่ให้คำนิยามคำภัยแทรกซ้อนคนแรกคือ พล.อ.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ สมัยนั่งเป็นแม่ทัพภาคที่ 4 และผู้ที่รับไปสานต่อคือ พล.อ.สกล ชื่นตระกูล อดีตแม่ทัพภาคที่ 4 คนต่อมา โดยผู้ที่ต้องมาสานต่อเรื่องการปราบปรามภัยแทรกซ้อนเป็นแม่ทัพคนที่ 3 คือ พล.ท.วลิต โรจนภักดี แม่ทัพภาคที่ 4 และ ผอ.กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า คนปัจจุบัน
 
ประเด็นที่ต้องการชี้ให้เห็นคือ ในส่วนของเรื่องภัยแทรกซ้อนนั้น ต้องถือเป็นเรื่องใหญ่และเป็นเรื่องที่แก้ไขได้ยากเย็นยิ่ง เพราะมีปัญหาอุปสรรคในการปราบปรามอยู่มาก แม้จะผ่านมาถึง 3 แม่ทัพ และล้วนแต่เป็นผู้ที่สังคมยอมรับว่ามีฝีมือดีก็ตาม แต่ไม่เคยมีแม่ทัพคนไหนที่แก้ปัญหาภัยแทรกซ้อนบนแผ่นดินไฟใต้ได้สำเร็จแม้แต่คนเดียว
 
เอาแค่เรื่อง “น้ำมันเถื่อน” ที่ประชาชนเห็นว่าไม่น่าจะมีอะไรที่จะสลับซับซ้อน เพราะเป็นสินค้าที่ซุกซ่อนไม่ได้ ต้องใช้การขนส่ง การบรรทุก และมีการจัดจำหน่ายอย่างเปิดเผยในสถานที่ต่างๆ มียานพาหนะในการ ขนส่งจากประเทศเพื่อนบ้านไปสู่จังหวัดต่างๆ แต่สุดท้ายไม่มีแม่ทัพภาคที่ 4 คนไหนที่ได้รับชัยชนะในการปราบปรามน้ำมันเถื่อน จนกลายเป็นเรื่องมหัศจรรย์ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย
 
ดังนั้น การที่ พล.ท.วลิต โรจนภักดี แม่ทัพภาคที่ 4 คนปัจจุบันได้มีนโยบายที่จะปราบปรามภัยแทรกซ้อน ทั้งในเรื่องของยาเสพติด และน้ำมันเถื่อนในครั้งนี้ จึงเป็นเรื่องถูกใจทั้งคนในพื้นที่และคนทั่วประเทศ เพราะเรื่องนี้เป็นปัญหาที่ประชาชนเห็นได้ชัดกว่าเรื่องการแบ่งแยกดินแดนเป็นไหนๆ ถ้า กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ทำได้สำเร็จ สิ่งที่จะได้รับยอมต้องเป็น
 
ประการแรกจะมีการยอมรับว่า การบูรณาการระหว่างส่วนราชการเกิดขึ้นได้จริง ไม่ใช่เรื่องคำพูดที่หรูหราในหน้ากระดาษ หรือในห้องประชุมเท่านั้น และประการที่สอง จะได้รับความเชื่อมั่นจากประชาชนว่า สิ่งที่ได้มีการประกาศออกไปสามารถทำได้จริง
 
ถ้าประชาชนเกิดความเชื่อมั่น นั่นหมายถึงการที่จะได้บรรยากาศของความไว้วางใจกลับคืนมา และจะทำให้การสานต่อนโยบายการพูดคุยสันติสุขเกิดขึ้นได้จริงบนแผ่นดินปลายด้ามขวาน อันเป็นไปตามที่ทุกฝ่ายปรารถนาที่จะได้เห็นในชาตินี้ ซึ่งไม่ใช่ในชาติหน้าอย่างที่คนในพื้นที่สบประมาทไว้
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น