คอลัมน์ : คนคาบสมุทรมลายู
โดย...จรูญ หยูทอง-แสงอุทัย
ช่วงวันหยุดยาวเทศกาลอาสาฬหบูชา-เข้าพรรษา ๑๐-๑๕ กรกฎาคม ๒๕๕๗ ข้าพเจ้า และสมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ จำกัด ประกอบด้วย กรรมการดำเนินการและเจ้าหน้าที่สหกรณ์ ๒๓ คน สมาชิกหน่วยมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ๓๔ คน สมาชิกหน่วยมหาวิทยาลัยบูรพา ๔๐ คน สมาชิกหน่วยมหาวิทยาลัยทักษิณ ๓๗ คน ออกเดินทางไปร่วมประชุมสัมมนาและทัศนศึกษา ประจำปี ๒๕๕๗ ที่จังหวัดตาก และสหภาพเมียนมาร์ (เมียวดี) โดยออกเดินทางจากสงขลาตั้งแต่เวลา ๑๗.๐๐ น. ถึง อ.แม่สอด จ.ตาก เมื่อเวลาประมาณ ๑๖.๐๐ น. ใช้เวลาเดินทางประมาณเกือบสองวัน
เส้นทางสู่แม่สอดเป็นเส้นทางเลี้ยวลดคดโค้งบนภูสูงตลอดเส้นทาง ทำเอารถที่เคยวิ่งแต่ทางราบเรียบต้องคลานต้วมเตี้ยมจนคนวิ่งไล่ทัน กลิ่นผ้าเบรกคละคลุ้งไปทั่วรถทั้งสองชั้น จนผู้โดยสารหลายคนหน้าตาไม่ค่อยดี หลายคนเอามือปิดจมูก แต่ในที่สุดรถก็ไต่เพดานความสูงของยอดเขามาหยุดอยู่ที่ตลาดดอยมูเซอร์ ที่ขายพืชผักผลไม้ราคาแสนถูก โดยเฉพาะหน่อไม้ไผ่ตงสดๆ จากไร่กองละสิบบาทยี่สิบบาท ถ้าเป็นแถวหาดใหญ่ หน่อละไม่ต่ำกว่าสามสิบบาท แต่ที่นั่นราคาหนึ่งในสี่ของบ้านเรา
พืชผักผลไม้อย่างอื่นที่น่าสนใจ ได้แก่ ลูกเนียง (ราคากิโลกรัมละ ๑๐ บาท บ้านเรา ๒๐-๓๐ บาท/กิโลกรัม) อาโวกาโด (ผลไม้รสจืด บำรุงสมอง แม่ค้าแนะนำว่าให้กินกับน้ำตาล หรือนมสดอร่อยมาก) ราคา ๔ กิโลกรัม ๑๐๐ บาท (กิโลกรัมหนึ่งประมาณ ๕-๖ ลูกใหญ่) เห็ดหอมสด กิโลกรัมละ ๑๐๐ บาท มะระหวาน ๓ ถุง ๕๐ บาท (ถุงละ ๒๐ บาท มีประมาณ ๕-๖ ลูก) หมูป่า หมูกระจก กระเทียม (กิโลกรัมละ ๕๐ บาท) กระเทียมโทน (กิโลกรัมละ ๑๐๐ บาท) นอกนั้นก็เป็นผักพื้นบ้านสดๆ
เช้าวันที่ ๑๒ กรกฎาคม ๒๕๕๗ เวลาประมาณ ๐๘.๐๐ น. (ตรงกับเวลาในพม่า ๐๗.๓๐ น. ขบวนรถตู้จำนวน ๑๕ คัน นำพวกเราข้ามสะพานมิตรภาพไทย-พม่า เข้าสู่เมืองเมียวดี เมืองชายแดนแม่สอด สู่แดนพุทธภูมิ กราบเจดีย์วัดเจดีย์ทอง (วัดส่วยมินหวุ่น) ชื่อจริงเต็มๆ ของวัดนี้คือ “เจดีย์ชเวเมียนโหว่นเซตี้” เป็นวัดคู่บ้านคู่เมืองจังหวัดเมียวดี มีอายุเก่าแก่ที่สุด เจดีย์ทองเป็นศิลปะมอญ-พม่า สร้างบนฐานสี่เหลี่ยมย่อมุมไม้ยี่สิบ ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๓๐ เมตร มีความสูงจากฐานถึงยอดฉัตรประมาณ ๑๒๓ ฟุต ๓ นิ้ว ฐานชั้นแรกขององค์เจดีย์ประกอบด้วย เจดีย์รายขนาดเล็ก ๒๘ องค์ ตลอดองค์ระฆังจนถึงชั้นปลียอดประดับด้วยแผ่นทองคำ กลางองค์ระฆังประดับด้วยเส้นเข็มขัดรัดองค์ระฆัง ถัดลงมาจากเข็มขัดทำเป็นรูปอสูร ปรากฏเฉพาะหัวและมือถือช่อกระหนก แบกเข็มขัดแวดล้อมอยู่ทั้งสี่ทิศ คอระฆังประดับด้วยลายกรุยเชิงโดยรอบรับปล้องไฉน และชุดบัวคว่ำบัวหงายที่รับชั้นปลียอด ซึ่งประดับไว้ด้วยฉัตรที่มียอดเป็นทองคำประดับด้วยอัญมณีนานาชาติ
ออกจากวัดเจดีย์ทองเรามุ่งหน้าสู่วัดจระเข้ (วัดมิเจาโก) มีเอกลักษณ์ตรงที่มีรูปปั้นจระเข้ขนาดใหญ่ทาสีเขียวสดใสทั้งตัว จระเข้มีขนาดใหญ่มาก ความยาวของลำตัวตั้งแต่หัวจดหางยาว ๖๕ เมตร กลางตัวจระเข้สร้างเป็นหอไตรกลางน้ำมีทางเข้าอยู่ด้านหลัง วัดนี้ห้ามสตรีเข้า แต่ปัจจุบันสตรีเข้าได้แล้ว
จากนั้นพวกเรามุ่งหน้าสู่วัดก้อนหินใหญ่ (วัดเจ้าโหล่งจี) เป็นวัดที่ตั้งอยู่บนลานหินขนาดใหญ่บนเนินเขาทำให้มองเห็นยอดเจดีย์แต่ไกล คนไทยมาเที่ยวเมืองเมียวดีก็มักมาไหว้พระธาตุแห่งนี้เพื่อเป็นสิริมงคล หรืออาจจะลองเสี่ยงทายโดยยกก้อนหินสีทองลูกกลมๆ หนักราว ๑๐ กิโลกรัม โดยให้ยกก้อนหินก่อนว่าหนักแค่ไหน จากนั้นก็ให้อธิษฐานแล้วลองยกอีกครั้ง หากรู้สึกว่าเบากว่าครั้งแรก หรือก่อนอธิษฐานแสดงว่าคำอธิษฐานนั้นจะมีโอกาสเป็นจริง แต่ถ้าหากรู้สึกว่าหนักกว่าเดิม แสดงว่าคำอธิษฐานนั้นไม่ได้ผล จึงต้องทำบุญให้มากขึ้น
วัดสุดท้ายคือ วัดอธิษฐาน เป็นวัดที่สร้างใหม่เมื่อปี พ.ศ.๒๕๔๔ เชื่อกันว่าเป็นสัญลักษณ์แห่งความสำเร็จ และความเจริญรุ่งเรือง จากวัดนี้สามารถมองเห็นทิวทัศน์อำเภอแม่สอดได้ชัดเจน
จากนั้นรถตู้นำเราไปปล่อยลงที่ตลาดบุเรงนอง ตลาดที่แออัดยัดเยียด เต็มไปด้วยสินค้าประเภทเสื้อผ้า เครื่องประดับ ของใช้ประจำวัน เราตระเวนจนรอบตลาดโดยไม่สนใจซื้อหาอะไรติดไม้ติดมือ เพราะมีคนบอกว่า ให้ไปซื้อที่ตลาดริมเมยจะดีกว่า
เรามากินมื้อเที่ยงที่ตลาดริมเมย ตลาดที่คล้ายๆ ตลาดกิมหยงของเมืองหาดใหญ่ ทั้งลักษณะแออัด และประเภทสินค้าที่มีทั้งเสื้อผ้า เครื่องไฟฟ้า เครื่องประดับ อาหารแห้ง ของเล่นเด็ก ขนม ผลไม้แห้ง ฯลฯ ที่นี่มีร้านอาหารอยู่สี่ห้าร้านเป็นอาหารตามสั่ง แต่น่าแปลกใจตรงที่ร้านอาหารที่นี่ไม่รู้จักไข่เจียว ทำเป็นแต่ไข่ดาว วันนั้นเราจึงอดกินข้าวผัดกะเพรากับไข่เจียว ได้แต่ข้าวจืดๆ ไม่มีรสชาติกับผัดกะเพรา
แต่ที่น่าสนใจกว่านั้นคือ ตลาดริมเมยมีปูม้า ปูดำ ปลาหมึกแห้ง กุ้งแห้ง เหมือนเมืองชายทะเล ทั้งๆ ที่เป็นเมืองบนภูเขา คนขายบอกว่าที่นี่ห่างจากทะเลอันดามันไม่ถึง ๑๐๐ กิโลเมตร และปูดำที่นี่วางขายในภาชนะที่มีโคลนเลน จึงเปรอะเปื้อนทั้งปู ทั้งคนขายที่หน้าตาคล้ายพวกโรฮิงญาที่หนีมาอยู่แถวบ้านเรา
สินค้าที่มีชื่อเสียง และนักท่องเที่ยวนิยมซื้อเพราะราคาถูกคือ “ทานาคา” ผลิตภัณฑ์จากต้นไม้ชนิดหนึ่งที่มีเฉพาะในพม่าเท่านั้น มีทั้งชนิดที่เป็นแท่งๆ ท่อนๆ ของต้นไม้ขายคู่กับหินสำหรับฝนทาหน้าขายชุดละ ๑๐๐ บาท (สามารถต่อรองราคาได้ที่ประมาณ ๘๐ บาท) ชนิดตลับ ชนิดแท่งนิ่มๆ สนนราคาตลับละ ๕๐ บาท (สามารถต่อรองราคาได้ที่ ๒ ตลับ ๙๐ บาท)
เราจากลาเมียวดี และแม่สอดมาตอนบ่ายของวันที่ ๑๔ กรกฎาคม ๒๕๕๗ เข้าพักที่โรงแรมชากังราวรีเวิอร์วิว ริมฝั่งแม่น้ำปิง เมืองกำแพงเพชร ก่อนเข้าพักที่โรงแรมแวะชมอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร อันเป็นมรดกโลกอีกแห่งหนึ่งที่ทรงคุณค่าไม่แพ้อยุธยา และสุโขทัย
เราเดินทางกลับโดยแวะชมน้ำตกคลองลาน แวะทานมื้อเที่ยงที่ร้านอาหารทิดเทืองเมืองอุทัยธานี เป็นอาหารประเภทปลาเกือบทั้งหมด รสชาติอร่อยมากจนอิ่มแปร้แล้วต่างแยกย้ายกันกลับ บ้านใครบ้านมัน หน่วยอื่นคงถึงบ้านในเวลาไม่นานจากนั้น แต่สำหรับหน่วยมหาวิทยาลัยทักษิณ ต้องใช้เวลาอีกหนึ่งคืนกับครึ่งวัน
เราแวะตลาดร้อยปีสามชุก เมืองสุพรรณบุรี ซื้อของที่ระลึกและแวะทานมื้อเย็นที่วัดพระปฐมเจดีย์ แล้วออกเดินทางมุ่งหน้าสู่เมืองสงขลา ถึงจุดหมายปลายทางโดยสวัสดิภาพเมื่อเวลาประมาณ ๑๐ น. ของวันที่ ๑๕ กรกฎาคม ๒๕๕๗ แต่ผู้เขียนกลับถึงบ้านหลับเหมือนสลบ และต้องพักยาวอีกวันในวันที่ ๑๖ เพราะหมอนัดตรวจตาประจำปี หยอดยาตาแล้วขับรถไม่ได้ภายใน ๖ ชั่วโมง