xs
xsm
sm
md
lg

เกษตรกรนครศรีฯ ร้อง คสช.พยุงราคายาง อึ้ง! จนท.บุกโค่นต้นยางชาวบ้านเสียหายนับล้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


นครศรีธรรมราช - เกษตรกรนครศรีฯ สุดทน บุกยื่นหนังสือถึง คสช.ผ่านกองทัพภาคที่ 4 ร้องเร่งแก้ราคาผลไม้-ยางพาราตกต่ำหนัก ทำเกษตรกรขาดทุนยับ ด้านเกษตรสวนยางรายหนึ่งโวยถูกเจ้าหน้าที่เข้าตัดไม้ยางนำไปขาย อ้างเตรียมสร้างศูนย์เพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ สร้างความเสียหายมูลค่านับล้านบาท

วันนี้ (15 ก.ค.) เมื่อเวลา 11.00 น. ที่บริเวณประตูค่ายวชิราวุธ กองทัพภาคที่ 4 อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช ตัวแทนเกษตรกรชาวสวนไม้ผล และยางพารา ในอำเภอพิปูน อำเภอฉวาง อำเภอช้างกลาง กว่า 30 คน ได้รวมตัวกันเพื่อยื่นหนังสือขอความช่วยเหลือไปยัง คณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช.โดยผ่านแม่ทัพภาคที่ 4 ในกรอบ 3 ประเด็นหลักที่เรียกร้องให้ช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน คือ 1.ราคาผลผลิตตกต่ำโดยเฉพาะมังคุด และยางพารา 2.เรื่องการเข้ารื้อถอนพืชสวนของประชาชนโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ และ 3.เรื่องการเข้าไปรื้อถอน และบังคับเอาทรัพย์สินไม้ยางพาราขนาดใหญ่ของชาวบ้านไปขายโดยที่ชาวบ้านไม่ได้รับเงินค่าเสียประโยชน์

โดยการยื่นหนังสือนั้น เจ้าหน้าที่ทหารสารวัตรได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาระดับสูงนำตัวแทนเกษตรกรทุกรายเข้าไปยื่นหนังสือร้องทุกข์ต่อศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์กองทัพภาคที่ 4 ซึ่งจะดำเนินการไปตามส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยให้ตัวแทนเกษตรกรเข้าทำบันทึกร้องเรียน พร้อมทั้งแนบเอกสารหลักฐานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง

นายสมยศ ส้มเขียวหวาน ตัวแทนเกษตรกรเปิดเผยว่า ขณะนี้ราคาผลผลิตโดยเฉพาะมังคุดราคาตกต่ำอย่างหนัก และยิ่งมาเจอกับการกดราคาของพ่อค้าคนกลางเข้าไปอีกยิ่งตกไปมากขึ้น ชาวสวนไม่มีทางออกจึงต้องหาทางออกด้วยการขอความช่วยเหลือจากภาครัฐ ตอนนี้ราคาอยู่ที่กิโลกรัมละ 4 บาท ผลผลิตยังออกมาไม่เต็มที่ นี่แค่เพียงต้นฤดูเท่านั้น ต้นทุนเราสูงถึงกิโลกรัมละ 15 บาท แต่ผลผลิตอยู่ที่ 4-5 บาท ค่าจ้างแรงงานในการเก็บเกี่ยวอีก 3-5 บาท ชาวสวนไม่มีรายได้เลย

ขณะที่ นายสมพร อังศุประเวศ เจ้าของสวนยาง 14 ไร่ ในพื้นที่ ต.ช้างกลาง อ.ช้างกลาง จ.นครศรีธรรมราช ได้เอกสารหลักฐาน และบันทึกภาพถ่ายสวนยางพาราของตนเองที่ถูกเจ้าหน้าที่ของกรมวิชาการเกษตร เข้ายึดที่ดินอ้างว่าจะนำไปก่อสร้างศูนย์เพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ ในขณะที่สวนยางของตนเองมีอายุกว่า 30 ปี เส้นผ่าศูนย์กลางลำต้นมากกว่า 20 นิ้ว ได้ถูกตัดโค่นทั้งหมด หลังจากนั้น ได้นำช้างมาชักลากไปขาย โดยไม้ทั้งหมดมีราคานับล้านบาทแต่เจ้าของสวนที่ปลูกยางดูแลมากว่า 30 ปี ไม่ได้เงินแม้แต่บาทเดียวไม่ทราบว่าเงินที่เจ้าหน้าที่ขายไม้ของตนเองนั้นไปตกอยู่ที่ใคร

ขณะที่ นายจิตรธรรม บุญญาธิการ สมาชิก อบจ.นครศรีธรรมราช เปิดเผยว่า ในส่วนของการเข้ารื้อถอนพืชสวนของชาวบ้านในพื้นที่ฉวาง พิปูน และช้างกลาง นั้น เป็นพื้นที่ที่ชาวบ้านทำมาหากินสืบทอดมาแล้ว 2-3 ชั่วอายุคน แต่ทางเจ้าหน้าที่อุทยานฯ ได้เข้ารื้อถอนพืชสวนของชาวบ้านจำนวนมากสร้างความเสียหายให้แก่แหล่งที่มาของรายได้ชาวบ้านเพียงทางเดียว ขณะนี้เท่าที่รวบรวมข้อมูลพบว่า มีสวนของชาวบ้านกว่า 600 แปลง รวมเนื้อที่กว่า 3,000 ไร่ ที่กำลังทยอยเข้ารื้อถอน


 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น