xs
xsm
sm
md
lg

เมื่อความยุติธรรมถูกซื้อขาย / จรูญ หยูทอง-แสงอุทัย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพจากอินเทอร์เน็ต
 
คอลัมน์ : คนคาบสมุทรมลายู
โดย...จรูญ  หยูทอง-แสงอุทัย 
 
ในฐานะนักเรียนกฎหมายที่เคยได้รับปริญญาบัตรนิติศาสตรบัณฑิต จากมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช มาประดับข้างฝาบ้านพักเมื่อปี  ๒๕๓๘  และได้ใช้ความรู้ทางกฎหมายที่ร่ำเรียนมาเป็น “ทะแนะ” ให้แก่ผู้ทุกข์ยากเกี่ยวกับคดีความฟรีมาบ้างหลายราย โดยไม่เคยได้รับค่าตอบแทนอะไรมากไปกว่าคำว่า “ขอบคุณ”  ข้าพเจ้าเคยเรียนรู้มาว่า “อัยการ” คือ นักกฎหมายที่ทำหน้าที่เป็นทนายของแผ่นดิน  เป็นทนายของโจทก์ หรือผู้เสียหายในคดีความ “ผู้พิพากษา” คือ นักกฎหมายที่ใช้ความรู้ทางด้านกฎหมายทำหน้าที่พิพากษาอรรถคดีภายใต้พระปรมาภิไธย  เพื่ออำนวยความยุติธรรมแก่สังคม “เจ้าหน้าที่ตำรวจ” คือ นักกฎหมายที่ทำหน้าที่สืบสวนสอบสวนเพื่อจับกุมผู้กระทำความผิดมาดำเนินคดี  “ทนาย” คือ นักกฎหมายที่ทำหน้าที่แก้ต่างให้แก่โจทก์ และจำเลยในคดีความ  ฯลฯ ทั้งหมดอยู่ในกระบวนการยุติธรรมที่มีกฎหมายเป็นเครื่องมือในการดำเนินการเพื่อดำรงไว้ซึ่งความเป็นธรรมในสังคม
 
ข้าพเจ้ามีความเชื่อเช่นนั้น ตามตำราวิชากฎหมายที่ร่ำเรียนมา และครูบาอาจารย์เคยสั่งสอนไว้ในวันเข้าร่วมกิจกรรมก่อนจบหลักสูตรและเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรเป็นเวลา  ๗  วัน  เพื่อใช้ชีวิตความเป็นนิสิตนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช  หลักสี่  กรุงเทพมหานคร
 
แต่เมื่อตอนเย็นวันที่ ๒๗  มิถุนายน  ๒๕๕๗  ทันทีที่ลงจากรถในโรงรถหน้าบ้าน และกำลังจะเดินไปปิดประตูรั้วบ้าน  ข้าพเจ้าได้รับโทรศัพท์จากพี่ชายที่อยู่ในจังหวัดแห่งหนึ่ง และกำลังวิ่งเต้นคดี  เพื่อให้ลูกชายผู้พิการทางการได้ยิน เพราะประสบอุบัติเหตุจากการโค่นไม้ในอาชีพการแปรรูปไม้ตามสวนข้างบ้านของชาวบ้านขาย  ที่ถูกฆ่าตายอย่างทารุณโหดร้ายเมื่อหนึ่งปีกว่าๆ ที่ผ่านมา  และเจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถจับคนร้ายหรือผู้ต้องสงสัยได้เพียงคนเดียว  และในเบื้องต้น ผู้ต้องหาให้การรับสารภาพ  เพราะจำนนด้วยหลักฐานคือ  คราบเลือดของผู้ตายที่ยังติดรองเท้า และเสื้อผ้า  ซึ่งส่งพิสูจน์เปรียบเทียบดีเอ็นเอผลออกมาว่า เป็นเลือดของผู้ตาย  แต่ต่อมาภายหลังพนักงานสอบสวนได้แต่งสำนวนสอบสวนให้ผู้ต้องหาปฏิเสธ  และพยายามหาช่องโหว่ให้ทุกคนที่ต้องสงสัยพ้นผิด  โดยสร้างพยานหลักฐานให้ศาลเชื่อว่า  ผู้ต้องหาเป็นคน “วิกลจริตจิตฟั่นเฟือนเพราะเสพยาบ้า”
 
ล่าสุด จากการสืบพยานในชั้นศาล  สถานการณ์พลิกกลับกลายเป็นผู้ต้องหาปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา  พนักงานสอบสวนจงใจไม่เก็บพยานหลักฐานในที่เกิดเหตุ  ไม่สืบสวนสอบสวนเพื่อเอาคนร้ายที่ร่วมลงมือวางแผน และรุมฆ่าผู้ตายอย่างโหดเหี้ยมทารุณ  สร้างหลักฐาน และพยานเท็จให้ศาลเห็นว่า  ผู้ต้องหาที่ถูกจับเพียงคนเดียว ทั้งๆ ที่พฤติการณ์หรือรูปการในคดีคนทั่วไปย่อมรู้ดีว่า  การฆ่าคนโดยการยิง  แทง และฟันบริเวณลำคอเป็นบาดแผลฉกรรจ์หลายแผลแบบนี้  ไม่น่าจะเป็นการกระทำของคนร้ายเพียงคนเดียว  มันเป็นลักษณะของการรุมฆ่า  โดยคนร้ายไม่ต่ำกว่าสองคนขึ้นไป  อีกทั้งพยานแวดล้อมอื่นๆ ก็มีมากมาย แต่พนักงานสอบสวน และอัยการไม่สนใจที่จะสอบสวนสืบสวนเพิ่มเติม
 
ทนายของพี่ชายจึงบอกได้เพียงว่า  คดีนี้ห้าสิบห้าสิบ  เพราะคนในกระบวนการยุติธรรมทุกระดับมันซื้อได้ทั้งนั้น  ข้าพเจ้าจึงเริ่มไม่เชื่อมั่นในหลักการตามตำราที่ร่ำเรียนมา  และเริ่มมั่นใจว่า ที่ชาวบ้านเคยสบประมาทว่า “หรางเขามีไว้ขังหมากับคนจน” มันเป็นความจริง  เป็นสัจพจน์โดยแท้  “อัยการ” ที่ตำราบอกว่าเป็น “ทนายของแผ่นดิน” วันนี้มันกลายเป็นทนายของจำเลยเพื่อแลกรับเงิน หรือผลประโยชน์ตอบแทน โดยไม่คำนึงถึงความยุติธรรม  เกียรติยศศักดิ์ศรีของข้าราชการของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  พวกเขาสามารถจะแลกรับผลประโยชน์บนความเป็นความตาย  ความทุกข์ยากเดือดร้อนของประชาชน  เช่นเดียวกับตำรวจ หรือพนักงานสอบสวนที่ชอบค้าคดีเพื่อเรียกรับเงินจากฝ่ายจำเลย  ทำตัวเป็นปฏิปักษ์ต่อประชาชนผู้ทุกข์ยากเดือดร้อน  ไม่ทำหน้าที่ “บำบัดทุกข์  บำรุงสุข” หรือ “ผู้พิทักษ์สันติราษฎร์” แต่กับกระทำตนชั่วช้าสามานย์ตรงกันข้ามกับคำขวัญอันสวยหรู  แต่ไม่มีอยู่จริงดังกล่าว
 
ในส่วนของผู้พิพากษาที่สังคมเคยให้เกียรติยกย่องให้มีค่าตอบแทนสูง  มีสวัสดิการเพียบพร้อม  และได้รับการเคารพนับถือเรียกว่า “ท่าน” เพราะเชื่อกันว่าเขาเหล่านั้นพิพากษาคดีภายใต้พระปรมาภิไธย  ตัดสินออกมาอย่างไร จะเป็นคุณหรือเป็นโทษ  ห้ามวิพากษ์วิจารณ์  หากใครฝ่าฝืนจะโดนข้อหาหมิ่นศาล ซึ่งไม่สามารถอุทธรณ์ฎีกาได้  แต่มาถึงวันนี้กิตติศัพท์ที่ว่าเริ่มมัวหมอง และถูกมองอย่างคลางแคลงใจจากสังคมที่เข้าไม่ถึงความยุติธรรม  เพราะพวกเขาเหล่านั้นไม่ต่างกับ “เทวดาเดินดิน” สำหรับสามัญปุถุชนส่วนใหญ่ของประเทศ
 
ประสบการณ์ทั้งโดยตรง และโดยอ้อมบอกข้าพเจ้าว่า  ความยุติธรรมในสังคมด้อยพัฒนา  ล้าหลัง และอำนาจนิยม-อุปถัมภ์  ไม่สามารถจะได้มาด้วยมือเปล่า  จำเป็นต้องมีการจ่ายด้วยเงิน หรือผลประโยชน์ เพื่อให้ได้มาซึ่งความเป็นธรรมตามที่อยากจะได้  ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายโจทก์ หรือจำเลย  ฝ่ายกระทำ หรือฝ่ายถูกกระทำ
 
กรณีคดีของหลานชายนับว่าเป็นคดีตัวอย่าง  ที่บรรดานักกฎหมายที่เกี่ยวข้องในกระบวนการยุติธรรมต่างใช้ศพของหลานชายของข้าพเจ้าในการทำมาหากิน  ทั้งในฐานะพนักงานสอบสวน  อัยการ  ผู้พิพากษา  ทนาย  ต่างกันเพียงว่าใครเป็นผู้ได้รับประโยชน์อันพึงมีพึงได้  ใครเป็นเหลือบของสังคมที่เกาะกินดูดเลือดคนจน  หยิบยื่นความอยุติธรรมให้แก่ประชาชน  โดยไม่มีจิตสำนึกผิดชอบชั่วดี  จนเป็นที่เอือมระอาของประชาชน  นับวันความชั่วร้ายเหล่านี้จะยิ่งแผ่ขยายไปทั่ว  ดังจะเห็นได้จากคดีผู้ต้องหาที่อ้างว่าถูกยัดยาบ้ากระโดดตึกที่ศาลเสียชีวิตมาแล้ว  เพื่อประท้วงการกระทำของคนในกระบวนการยุติธรรม
 
“ไม่มีความชั่วร้ายใดจะเลวร้ายยิ่งไปกว่า  ความชั่วร้ายที่เกิดจากการกระทำของนักกฎหมายในกระบวนการยุติธรรม”
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น