ศาลรัฐธรรมนูญเผยเอกสารที่ประชุมตุลาการ มีมติเลือก “นุรักษ์” นั่ง ปธ.ศาล รธน. “จรูญ” แจงลาออกก่อนครบวาระและอยู่ในตำแหน่งจนครบวาระเพื่อให้งานไม่สะดุด ไม่เสียเวลาหา ปธ.ใหม่ ก่อนใช้สิทธิเลือก ไร้เงา “ชัช” ร่วมประชุม “เฉลิมพล-อุดมศักดิ์” ลุกหนีไม่ลงมติ
วันนี้ (21 พ.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่าสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญได้เผยแพร่เอกสารข่าวหลังการประชุมคณะตุลาการฯ ว่า ด้วยนายจรูญ อินทจาร ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ได้ลาออกจากตำแหน่งประธานศาลรัฐธรรมนูญ แต่ยังดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญต่อไป ที่ประชุมคณะตุลาการในคราวการประชุมเมื่อวันที่ 21 พ.ค. จึงได้มีมติเลือกให้นายนุรักษ์ มาประณีต ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เป็นประธานศาลรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญได้มีหนังสือกราบเรียนประธานวุฒิสภา เพื่อนำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งนายนุรักษ์เป็นประธานศาลรัฐธรรมนูญคนต่อไป
ทั้งนี้ มีรายงานว่า นายจรูญได้ยื่นหนังสือลาออกจากการเป็นประธานศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 19 พ.ค.ที่ผ่านมา และจะอยู่ในตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจนครบวาระเนื่องจากมีอายุครบ 70 ปีตามรัฐธรรมนูญมาตรา 209 (2) ในวันที่ 29 พ.ค.นี้ ซึ่งการลาออกจากตำแหน่งประธานศาลรัฐธรรมนูญก่อนครบวาระนั้นนายจรูญให้เหตุผลว่าเพื่อให้การปฏิบัติงานของคณะตุลาการฯ ไม่ต้องสะดุดลงเนื่องจากเหตุต้องรอตุลาการศาลรัฐธรรมนูญคนใหม่ที่จะต้องมาจากการเลือกของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในการศาลปกครองสูงสุดซึ่งอาจจะต้องใช้เวลานาน
แต่ทั้งนี้หลังยื่นหนังสือลาออกและแจ้งไปยังสำนักเลขาธิการวุฒิสภาแล้วเมื่อวันที่ 19 พ.ค. นายจรูญยังดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และรักษาการแทนประธานศาลรัฐธรรมนูญ ในฐานะที่เป็นตุลาการที่มีอาวุโสสูงสุด และได้มีการเชิญประชุมคณะตุลาการฯเพื่อคัดเลือกประธานศาลรัฐธรรมนูญคนใหม่ในวันนี้ โดยในการประชุมมีตุลาการเข้าร่วมทั้งสิ้น 8 คน ขาดนายชัช ชลวร โดยที่ประชุมเห็นชอบวาระและหลักเกณฑ์พิจารณาการเลือกประธานศาลรัฐธรรมนูญคนใหม่ ซึ่งนายสุพจน์ ไข่มุกด์ ได้เสนอชื่อนายนุรักษ์ แต่เมื่อถึงขั้นตอนการลงมติ นายเฉลิมพล เอกอุรุ และนายอุดมศักดิ์ นิติมนตรี ขอไม่ใช้สิทธิลงมติและเดินออกจากห้องประชุม ที่ประชุมจึงมีมติเลือกนายนุรักษ์ด้วยคะแนนเสียง 6 เสียง
สำหรับนายนุรักษ์นั้นปัจจุบันอายุ 65 ปี เกิดเมื่อวันที่ 24 เม.ย. 2492 จบการศึกษานิติศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เคยดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาศาลฎีกา ประธานแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวในศาลอุทธรณ์ ภาค 7 ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลอุทธรณ์ และรองอธิบดีผู้พิพากษา นอกจากนี้หลังรัฐประหารเมื่อปี 2549 ยังเคยเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ 2550 โดยในปี 2551 ได้รับเลือกจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาให้มาดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญซึ่งมีการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเมื่อวันที่ 28 พ.ค. 51 และจนถึงปัจจุบันดำรงตำแหน่งมาแล้ว 7 ปี ซึ่งหากอยู่ดำรงตำแหน่งประธานศาลรัฐธรรมนูญตามที่ได้รับเลือกในวันนี้จนครบวาระในปี 2559 ก็จะดำรงตำแหน่งประธานศาลรัฐธรรมนูญรวม 2 ปี
ส่วนตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่จะว่างลงจากเหตุนายจรูญ พ้นจากตำแหน่งนั้น ทางสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญก็จะมีหนังสือแจ้งไปยังสำนักงานศาลปกครอง เพื่อให้ที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดลงคะแนนลับคัดเลือกตุลาการในศาลปกครองสูงสุดคนหนึ่งมาดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 204 (2)