ศูนย์ข่าวภูเก็ต - ทหาร ตำรวจ และเจ้าหน้าที่หลายฝ่ายในภูเก็ต บุกช่วยเหลือแรงงานต่างด้าวชาวกัมพูชาสองสามีภรรยา ที่ญาติระบุว่านายจ้างไม่ยอมให้กลับบ้าน และจ่ายค่าจ้างเพียงวันละ 90 บาท ขณะที่นายจ้างเผยจ่ายตามที่ตกลงกันไว้ เย็บเสื้อผ้าตัวละ 90 บาท
เมื่อเวลา 14.00 น. วันนี้ (27 มิ.ย.) ทหารจากมณฑลทหารบกที่ 41 ค่ายวชิราวุธ กองทัพภาค 4 นำโดย พล.ต.พีระพล วิริยากุล ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 41 พร้อมด้วย นายประเจียด อักษรธรรมกุล หัวหน้าสำนักงานจังหวัดภูเก็ต นายประพันธ์ ขันธ์พระแสง หัวหน้าศูนย์ดำรงธรรมภูเก็ต พ.ต.ท.สมศักดิ์ ทองเกลี้ยง สารวัตรสืบสวน สภ.เมืองภูเก็ต เจ้าหน้าที่จากสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เจ้าหน้าที่จากสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ บุกเข้าช่วยเหลือแรงงานต่างด้าวชาวกัมพูชา จำนวน 2 คน ที่ร้าน “ลายเสือ” ซึ่งเป็นร้านรับจำหน่ายเสื้อโปโล เสื้อยูนิฟอร์ม และรับออกแบบ สั่งตัด ปักโลโก้ ตราสัญลักษณ์ต่างๆ เลขที่ 41/3 ถ.มนตรี อ.เมือง จ.ภูเก็ต ใกล้กับๆ วงเวียนหอนาฬิกา
ทั้งนี้ สืบเนื่องจากทหารมณฑลทหารบกที่ 41 ได้รับการร้องเรียน และขอความช่วยเหลือจากญาติ (พี่สะใภ้ ซึ่งเป็นคนกัมพูชา) ของแรงงานชาวกัมพูชา ว่า ให้ช่วยเหลือแรงงานต่างด้าวชาวกัมพูชาจำนวน 2 คน คือ นายเจือน อายุประมาณ 20 ปี และนางงา อายุประมาณ 20 ปี ทั้งคู่เป็นสามี-ภรรยากัน โดยทั้ง 2 ได้แจ้งไปยังญาติว่านายจ้างไม่ยินยอมให้กลับบ้าน และจ่ายค่าจ้างไม่เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด โดยจ่ายเพียงวันละ 90 บาท ทาง พล.ต.พีระพล วิริยากุล ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 41 ซึ่งรับผิดชอบพื้นที่จังหวัดภูเก็ต จึงได้ใช้อำนาจตามประกาศกฎอัยการศึกสั่งการให้เจ้าหน้าที่ทหาร ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต เข้าช่วยเหลือแรงงานทั้ง 2 คน
เมื่อเจ้าหน้าที่เข้าไปถึงร้านพบว่า ภายในร้านดังกล่าวมีแรงงานต่างด้าวชาวกัมพูชา จำนวน 5 คน กำลังนั่งทำงานอยู่ที่จักรปักโลโก้ เป็นหญิง 4 คน ชาย 1 คน จึงได้สอบถามหาเจ้าของร้าน ได้รับคำตอบว่า เจ้าของร้านไม่อยู่ ส่วนแรงงานต่างด้าวชาวกัมพูชาทั้ง 2 คน เมื่อเห็นพี่สะใภ้ ได้โผเข้ากอดกันด้วยความดีใจ และร้องไห้ที่ได้พบกัน และดีใจที่ได้รับการช่วยเหลือในครั้งนี้ หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ได้นำตัวแรงงานต่างด้าวทั้ง 5 คน มายังศาลากลางจังหวัดภูเก็ต ขณะที่ทางเจ้าหน้าที่ทหารก็ได้โทรศัพท์พูดคุยกับเจ้าของร้าน และทราบชื่อภายหลังคือ น.ส.ภาษิตา สร้างสกุล ชาวกรุงเทพฯ พร้อมกับเชิญตัวมาสอบสวนที่ศาลากลางศาลากลางภูเก็ต ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ไม่ได้เปิดให้สื่อมวลชนเข้าฟังแต่อย่างใด
ขณะที่ นางเพชร พี่สะใภ้ของแรงงานที่ร้องขอความช่วยเหลือ ระบุว่า แรงงานต่างด้าวชาวกัมพูชาทั้ง 2 คน ได้เดินทางมาทำงานที่ร้านดังกล่าวเมื่อ 2 เดือนที่ผ่านมา โดยมีนายหน้านำพามาที่ภูเก็ต บอกว่าจะได้ค่าจ้างวันละ 800-900 บาท พร้อมต้องจ่ายค่านำพาอีกคนละ 2,500 บาท และค่าเดินทาง แต่เมื่อมาทำงานจริงๆ กลับได้ค่าจ้างเพียงวันละ 90 บาท และต้องถูกหักค่าใช้จ่ายในการนำพาอีกด้วย เมื่อขอลาออก และต้องการจะกลับบ้านที่ประเทศกัมพูชา เจ้าของร้านก็ไม่ยินยอม โดยบอกว่าถ้าอยากกลับบ้านจะต้องให้ญาตินำเงินมาจ่ายค่าเดินทางมาทำงาน 10,000 บาท จึงได้ขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยมีคนไทยช่วยประสานงานจนช่วยเหลือทั้ง 2 คนออกมาได้
ด้าน น.ส.ภาษิตา สร้างสกุล เจ้าของร้ายลายเสือ ได้กล่าวต่อผู้สื่อข่าว ขณะเข้าหน้าที่ตำรวจนำตัวไปสอบสวนเพิ่มเติมที่สถานีตำรวจภูธรเมืองภูเก็ต ว่า ตอนที่รับทั้ง 2 คนเข้ามาทำงานได้ติดต่อผ่านคนที่รับจัดหาแรงงานซึ่งได้แจ้งความประสงค์ว่าต้องการคนที่เย็บผ้าเป็นโดยตกลงจ่ายค่าจ้างเย็บเสื้อ และกางเกงตัวละ 90 บาท และจ่ายค่ากับข้าวเดือนละ 1,000 บาท ซึ่งในช่วงที่รับแรงงานเข้ามาจะต้องจ่ายค่าดำเนินการ และค่ารถในการเดินทางจากตลาดโรงเกลือมายังจังหวัดภูเก็ตให้แก่คนที่รับจัดหางานคนละประมาณ 8,000 บาท และไม่เคยบังคับ และการสื่อสารก็จะให้คนงานที่ร้านซึ่งเป็นชาวเขมรด้วยกันเป็นคนสื่อสารกับทั้ง 2 คน และมีการเซ็นสัญญาข้อตกลงไว้เรียบร้อยไม่มีการบังคับขู่เข็ญแต่อย่างใด สามารถออกไปข้างนอกได้ แต่คิดว่าเป็นความเข้าใจผิด ถ้าบอกว่าอยากกลับบ้านก็จะให้กลับเพียงแต่ต้องจ่ายเงินที่ค้างอยู่
ขณะที่ พล.ต.พีรพล วิริยะกุล ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 41 และ พล.ต.ต.กระจ่าง สุวรรณรัตน์ รองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 8 รักษาราชการผู้บัญชาการตำรวจภูธรจังหวัดภูเก็ต พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ตำรวจ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันแถลงผลการปฏิบัติงานในครั้งนี้ว่า สืบเนื่องจากทางเจ้าหน้าทีได้รับแจ้งจากญาติของแรงงานชาวกัมพูชาทั้ง 2 คนขอให้เข้ามาช่วยเหลือแรงงานดังกล่าว และที่ผ่านมา ทาง คสช.ก็ได้ออกประกาศเกี่ยวกับเรื่องของการแก้ไขปัญหา และการจัดการต่อแรงงานต่างด้าวมาแล้ว 3 ฉบับ เมื่อได้รับการร้องเรียนจากญาติของแรงงานทั้ง 2 ว่าได้รับค่าตอบแทนที่ไม่เป็นธรรมจึงเข้าตรวจสอบ และช่วยเหลือแรงงานออกมา พร้อมทั้งนำตัวมาสอบสวนทั้งในส่วนของแรงงาน และนายจ้าง ซึ่งในส่วนของลูกจ้างก็แจ้งว่าได้รับค่าจ่างไม่เป็นธรรม และอยากเดินทางกลับบ้าน ขณะที่นายจ้างเองก็บอกว่าได้จ่ายค่าจ้างตามที่ตกลงกันไว้ และที่จ่ายไม่ครบเนื่องจากต้องหักค่าใช้จ่ายในการเดินทางมาทำงานด้วย
สำหรับการดำเนินการนั้น ในส่วนของแรงงานก็ต้องดำเนินคดีในข้อหาหลบหนีเข้าเมืองเนื่องจากไม่มีเอกสารอะไรเลย ส่วนนายจ้างก็ต้องดำเนินคดีในข้อหาให้ที่พักพิง แต่ตามประกาศ คสช. ได้มีการผ่อนผันให้ทั้งแรงงานที่ผิด และแรงงานที่เข้ามาในขณะนี้ ซึ่งก็ต้องดำเนินการไปตามประกาศของทาง คสช.ต่อไป
ส่วนการเข้ามาของแรงงานทั้ง 2 เป็นการเข้ามาแบบขบวนการนำพาแรงงานหรือไม่นั้น พล.ต.พีรพล กล่าวว่า ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจก็ต้องสืบสวนต่อไป แต่ในเบื้องต้น คิดว่าน่าจะเป็นขบวนการที่มีนายหน้าในการจัดหาแรงงานเพื่อจัดส่งมาให้ผู้ที่ต้องการใช้แรงงาน แต่ทางเจ้าหน้าที่ก็ต้องมีการสอบสวนเพิ่มเติมต่อไป