xs
xsm
sm
md
lg

ชาวสวนยางเมืองตรังเลี้ยง “ไอ้เข้” ขาย โกยรายได้เป็นล้าน!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ตรัง - เกษตรกรชาวอำเภอย่านตาขาว จังหวัดตรัง หันมาเพาะเลี้ยงจระเข้น้ำจืดขายเป็นรายได้เสริม ในช่วงราคายางพารากำลังตกต่ำ เผยเลี้ยงง่าย เพียงแค่ 3 ปี ก็ได้กำเงินล้าน

นับเป็นหนึ่งในเกษตรกรที่ไม่ยอมหยุดนิ่งอยู่กับชะตากรรม ที่ต้องพึ่งพารายได้จากยางพาราที่กำลังประสบปัญหาราคาตกต่ำอย่างมาก ดังนั้น นายสุริยง จันทร์คำ อายุ 41 ปี อยู่บ้านเลขที่ 83 หมู่ที่ 3 ตำบลหนองบ่อ อำเภอย่านตาขาว จังหวัดตรัง ซึ่งเป็นเกษตรกรที่ทำสวนยางพารามาอย่างยาวนานแล้ว จึงตัดสินใจหันมาเพาะเลี้ยงจระเข้น้ำจืดขายเป็นรายได้เสริมให้แก่ครอบครัว โดยการสั่งซื้อลูกพันธุ์มาจากฟาร์มแห่งหนึ่งในจังหวัดชลบุรี ขณะที่จระเข้มีอายุประมาณ 1 ปี และมีความยาวตั้งแต่ 85-90 เซนติเมตร ในราคาตัวละ 2,500 บาท

ทั้งนี้ นายสุริยง ได้ลงมือเลี้ยงจระเข้รุ่นแรก จำนวน 70 ตัว เมื่อประมาณ 5 ปีที่แล้ว หลังจากใช้ระยะเวลา 3 ปี จึงสามารถจับจระเข้มาขายได้ ในราคาตั้งแต่ตัวละ 8,000-12,000 บาท จนสร้างรายได้ให้แก่เขาในครั้งนั้นกว่า 700,000 บาท เมื่อเห็นว่าเป็นรายได้ที่ดี และสามารถที่จะเลี้ยงเป็นอาชีพทดแทนอาชีพการทำสวนยางพาราได้ เขาจึงตัดสินใจขยายบ่อเลี้ยงจระเข้เพิ่มขึ้น จนเป็น 200 บ่อแล้ว ภายในระยะเวลา 6 ปี อีกทั้งการเลี้ยงจระเข้ก็มิได้ยุ่งยากแต่อย่างใด เพียงแค่ให้ซี่โครงไก่สัปดาห์ละ 2 ครั้ง และถ่ายน้ำ เดือนละ 1 ครั้ง

หลังจากระยะเวลาผ่านพ้นไป 3 ปี จระเข้จะมีขนาดรอบลำตัว 50-55 เซนติเมตร และมีความยาวกว่า 2 เมตร ซึ่งจะขายได้เซนติเมตรละ 145 บาท โดยจระเข้รุ่นล่าสุดที่ นายสุริยง จับขาย จำนวน 150 ตัว ปรากฏว่า ได้ทำให้มีรายได้ 1,200,000-1,500,000 บาท ส่วนด้านการตลาดก็ถือว่าไม่มีปัญหา เนื่องจากจะมีตัวแทนบริษัทจากจังหวัดชลบุรี เดินทางมารับซื้อจระเข้ถึงจังหวัดตรัง เพื่อนำไปทำผลิตภัณฑ์เครื่องหนัง เช่น กระเป๋า รวมทั้งนำไปผลิตเป็นอาหาร และส่วนผสมของเครื่องสำอาง โดยส่งขายทั้งในประเทศ และต่างประเทศ

นายสุริยง มองว่า ปัจจุบันจระเข้น้ำจืด นับเป็นสัตว์เศรษฐกิจตัวใหม่ที่น่าสนใจ และเป็นอีกหนึ่งทางเลือกให้แก่เกษตรกรที่มองหาอาชีพเสริม โดยใช้ระยะเวลาเลี้ยงครั้งละ 3 ปี แต่ไม่ยุ่งยาก และสามารถปล่อยทิ้งได้โดยไม่ต้องกลัวขโมย ซึ่งหากลูกจระเข้ตายภายในระยะเวลา 6 เดือน เลี้ยงแล้วไม่โต หรือติดเชื้อโรค ทางฟาร์มที่จังหวัดชลบุรี จะรับผิดชอบด้วยการเปลี่ยนลูกจระเข้ตัวใหม่ให้ทันที ทำให้ขณะนี้นอกจากตนแล้ว ยังมีเกษตรกรชาวสวนยางพารารายอื่นๆ พากันใช้พื้นที่ว่างข้างสวนหันมาเลี้ยงจระเข้มากกว่า 120 รายแล้ว
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น