xs
xsm
sm
md
lg

เปิดข้อมูลร่วมฝ่าวิกฤต JDA 28 วัน “โรงไฟฟ้าจะนะ” หยุดจ่ายไฟ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


นับจากนี้อีก 28 วัน คือระหว่างวันที่ 13 มิ.ย.-10 ก.ค.2557 ผู้ใช้ไฟฟ้าในภาคใต้ทุกภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นภาคอุตสาหกรรม ผู้ประกอบการ หรือภาคครัวเรือน ต้องหันหน้ามาร่วมมือกันประหยัดพลังงานไฟฟ้า โดยการลดใช้ไฟช่วงพีกโหลด (เวลา 18.30-22.30 น.) เพื่อจะได้ไม่ต้องเผชิญกับปรากฏการณ์ไฟดับทั้งภาคใต้ เนื่องจากช่วงวันและเวลาดังกล่าว โรงไฟฟ้าจะนะ ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าหลักที่ทำการจ่ายไฟในภาคใต้ ต้องหยุดจ่ายไฟ เพราะไม่มีก๊าซธรรมราชาติมาเป็นเชื้อเพลิง เนื่องจากผู้ผลิตก๊าซธรรมชาติในพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย แหล่ง JDA A-18 ต้องปิดซ่อมบำรุงครั้งใหญ่

ไขข้อข้องใจจากกรณีดังกล่าวได้จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดย นายสมรักษ์ เพ็ชรเจริญ ผู้อำนวยการโครงการพัฒนาโรงไฟฟ้าจะนะ ชุดที่ 2 และ นายพรเทพ โชตินุชิต ผู้อำนวยการฝ่ายกลยุทธ์และสื่อสารองค์กร สำนักงาน กกพ.
นายสมรักษ์ เพ็ชรเจริญ ผอ.โครงการพัฒนาโรงไฟฟ้าจะนะ ชุดที่ 2
นายสมรักษ์ เพ็ชรเจริญ ผู้อำนวยการโครงการพัฒนาโรงไฟฟ้าจะนะ ชุดที่ 2 กล่าวว่า ในส่วนที่มีการหยุดจ่ายก๊าซธรรมชาติของ ปตท.เนื่องจากอุปกรณ์ใช้งานมาช่วงระยะเวลาหนึ่งแล้วก็ต้องมีการหยุดซ่อม หรือปรับปรุงหลุมเจาะก๊าซ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการจ่ายก๊าซในอนาคตให้มากยิ่งขึ้น ก็จะมีการหยุดซ่อมบำรุงทุกปี ในแต่ละปี อาจจะยาวบ้างสั้นบ้าง โดยในปีนี้จะหยุด จำนวน 28 วัน สำหรับหลุมเจาะก๊าซ JDA A-18 ทั้งนี้ ปีหน้าก็จะมีการหยุดอีก ซึ่งแบ่งเป็น 2 ช่วงๆ แรก 10 วัน ช่วงที่ 2 อีก 8 วัน และจะมีการหยุดแบบนี้ทุกปีเพื่อซ่อมบำรุงอุปกรณ์ ผลกระทบก็จะไม่มีก๊าซส่งมายังโรงไฟฟ้าจะนะ ซึ่งเป็นแหล่งผลิตใหญ่ของภาคใต้

** หากโรงไฟฟ้าจะนะ หยุดจ่ายไฟ ก็จะไม่มีโรงไฟฟ้าไหน ที่จะสามารถสำรอง หรือทดแทนการจ่ายไฟในภาคใต้ได้

อย่างที่ทราบกันดีว่าในภาคใต้เรามีแหล่งผลิตอยู่อย่างจำกัด ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการในการใช้ไฟฟ้าในภาคใต้ ก็จะมีการส่งไฟฟ้าบางส่วนมาจากภาคกลาง แล้วยิ่งถ้าไม่มีก๊าซส่งมาให้โรงไฟฟ้าจะนะ ก็จะยิ่งทำให้กำลังการผลิตที่ไม่พออยู่แล้วทำให้ลดน้อยลงไปอีก

** ระหว่างนี้มีมาตรการรองรับอย่างไรที่จะไม่ทำให้การใช้ไฟต้องสะดุด

ทางการไฟฟ้า และทางผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด ทั้งกระทรวงพลังงาน และเอกชนต่างๆ ก็ได้วางแผนและให้ความร่วมมือกัน ทั้งด้านที่เราเรียกว่าซัปพลาย หรือแหล่งผลิตไฟฟ้า ซึ่งเราจะเตรียมพร้อมแหล่งผลิตให้ดีที่สุด อันนี้ก็จะดูแลโดย กฟผ. กำลังผลิตที่เรามีอยู่แล้วค่อนข้างจำกัดก็จะเตรียมพร้อมให้มากที่สุด โดยโรงไฟฟ้าทุกโรงในพื้นที่ก็จะตรวจสอบความพร้อมให้พร้อมก่อนที่จะมีการหยุดจ่ายก๊าซ ในช่วงเดือนมิถุนายนนี้ และจะมีการสำรองเชื้อเพลิงให้เพียงพอต่อการเดินเครื่องในช่วงนี้ และอีกส่วนหนึ่งที่เรียกว่า ดีมานด์ หรือความต้องการใช้ไฟ ในส่วนนี้ทางกระทรวงพลังงาน ก็มีการรณรงค์ และประสานงานกับผู้ใช้ไฟฟ้ารายใหญ่ต่างๆ ให้ช่วยกันประหยัดพลังงานและลดการใช้ไฟในช่วงที่มีความต้องการใช้ไฟสูง หรือที่เราเรียกว่า ช่วงพีกโหลด คือ ช่วงเวลาประมาณ 18.30-22.30 น. ในส่วนนี้ทางกระทรวงพลังงานก็ได้รณรงค์ร่วมกับหน่วยงานเอกชน ผู้ใช้ไฟรายใหญ่ต่างๆ ร่วมกันลดใช้ไฟในช่วงเวลาดังกล่าว

**ในปัจจุบันโรงไฟฟ้าในภาคใต้เพียงพอต่อผู้ใช้หรือไม่ หากไม่เพียงพอควรจะเพิ่มโรงไฟฟ้า หรือแก้ปัญหาที่ผู้ใช้ไฟ

คือ จริงๆ ก็เกี่ยวเนื่องกันทั้ง 2 ส่วน คือ ส่วนซัปพลายตอนนี้ไม่เพียงพอ และในส่วนของดีมานด์ก็มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกๆ ปีๆ ละประมาณ 5-6% ปัจจุบันความต้องการใช้ไฟในภาคใต้รวมแล้วประมาณ 2,500 MW และจะเพิ่มขึ้นทุกปี ดังนั้น ก็ต้องให้ความร่วมมือกันทั้ง 2 ส่วน ทาง กฟผ.ก็จะพยายามหาแหล่งผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้น อีกส่วนหนึ่งคือ ส่วนของผู้ใช้ไฟ ควรจะช่วยกันประหยัดพลังงาน เพื่อให้พลังงานมีเพียงพอต่อการต้องการใช้ไฟ ก็ขอให้ประชาชนช่วยกันประหยัดพลังงาน ด้วยการลดการใช้ไฟ เช่น ปิดสวิตช์ไฟในเวลาที่ไม่จำเป็น ถอดปลั๊กเมื่อเราไม่ได้ใช้ไฟฟ้า และปรับเพิ่มอุณหภูมิแอร์ขึ้นอีก 1 องศา แค่นี้ก็สามารถช่วยได้เยอะแล้ว

**ในส่วนของภาคอุตสาหกรรม

ได้ขอความร่วมมือไปยังภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ว่า ให้พยายามเลี่ยงใช้ไฟในช่วงพีกโหลด การผลิตก็ให้ผลิตในช่วงระหว่างวัน หรือเลยช่วงพีกโหลดไปแล้ว

** ในอนาคตจะมีการพัฒนาอย่างไรต่อระบบไฟฟ้า หากต้องมีการซ่อมบำรุงอีกในปีต่อๆ ไป

เนื่องจากแหล่งผลิตของ ปตท. เจดีเอ เอ 18 มีการหยุดซ่อมบำรุงทุกปี โรงไฟฟ้าจะนะ เดิมเราใช้เชื้อเพลิงได้เพียงชนิดเดียว คือ ก๊าซธรรมชาติจากแหล่ง เจดีเอ เอ 18 ดังนั้น เมื่อแหล่งก๊าซธรรมชาติต้องหยุดซ่อมบำรุงทุกปีก็ไม่สามารถผลิตไฟฟ้าได้ โดยโรงไฟฟ้าจะนะ ชุดที่ 1 กำลังผลิต 710 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าจะนะ ชุดที่ 2 กำลังผลิต 800 เมกะวัตต์ ใช้เชื้อเพลิงจากแหล่งเจดีเอ เอ 18 เหมือนกัน ถ้าไม่มีก๊าซ โรงไฟฟ้า จะนะ 1 และ 2 ก็ไม่สามารถผลิตไฟฟ้าได้ จะเป็นอย่างนี้ทุกปี ดังนั้น การไฟฟ้า ร่วมกับกระทรวงพลังได้คิดแผนที่จะใช้น้ำมันดีเซล เพื่อเป็นเชื้อเพลิงสำรองในกรณีที่ไม่มีก๊าซ เพื่อให้โรงไฟฟ้าจะนะ สามารถเดินเครื่องได้ ในช่วงที่ไม่มีก๊าซธรรมชาติ โครงการนี้ก็ได้เริ่มดำเนินการแล้วเมื่อต้นปี 2557 ที่ผ่านมา เพื่อที่จะปรับปรุงโรงไฟฟ้าจะนะ ให้ใช้น้ำมันดีเซลได้ ปัจจุบันก็อยู่ระหว่างการก่อสร้างถึงน้ำมันดีเซล เพื่อกักเก็บน้ำมัน จำนวน 21 ล้านลิตร ก็คาดว่าจะแล้วเสร็จประมาณต้นปี 2558 ก็คิดว่าจะสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้ใช้ไฟในภาคใต้ว่า ในช่วงไม่มีก๊าซธรรมชาติจากแหล่งเจดีเอ โรงไฟฟ้าจะนะก็สามารถเดินเครื่องโดยใช้น้ำดีเซลได้
 
ชมคลิป สัมภาษณ์ นายสมรักษ์ เพ็ชรเจริญ ผอ.โครงการพัฒนาโรงไฟฟ้าจะนะ ชุดที่ 2 
 
 

นายพรเทพ โชตินุชิต ผอ.ฝ่ายกลยุทธ์และสื่อสารองค์กร สำนักงาน กกพ.
ด้าน นายพรเทพ โชตินุชิต ผอ.ฝ่ายกลยุทธ์และสื่อสารองค์กร สำนักงาน กกพ. กล่าวถึงในส่วนของการเดินเครื่องประชาสัมพันธ์ขอความร่วมมือทุกภาคส่วนร่วมลดใช้ไฟฝ่าวิกฤต JDA A-18 ว่า ได้มีการประชาสัมพันธ์เป็น 2 ส่วน คือ ส่วนที่ทางกระทรวงพลังงานรับผิดชอบ โดยสำนักงานนโยบายและแผน ก็จะเป็นส่วนของครัวเรือน ภาคประชาชน ในส่วนของ สนง.กำกับกิจการพลังงาน หรือ กกพ.ก็จะรณรงค์ผ่านทางอุตสาหกรรม ผู้ประกอบการโรงแรม โรงเลื่อยต่างๆ กรมประมง ที่จะช่วยกันลดพลังงาน โดยการกะเวลาทำงาน โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดของภาคใต้ทุกจังหวัดได้ช่วยเร่งในเรื่องการประชาสัมพันธ์ด้วย ซึ่งคิดว่าในส่วนของพื้นที่ห่างไกลอาจจะช้าบ้าง แต่น่าจะไปถึงทั้งหมด

**แผนรองรับหากเกิดไฟดับทั้งภาคใต้

ส่วนแผนรองรับ กฟผ. และ กฟภ.ก็ได้เตรียมการไว้ทั้งหมดแล้ว โดยมาตรการสุดท้ายที่เราจะทำคือ การเวียนดับไฟครั้งละ 1 ชม. 19 โซน หมุนเวียนสับเปลี่ยนไปจนกว่าในช่วงวิกฤตในขณะนั้นจะคลี่คลาย ในช่วงวิกฤตคือ ช่วงเวลา 18.30-22.30 น. ซึ่งเป็นช่วงที่มีการใช้ไฟใกล้เคียงกับจำนวนที่เราผลิตไฟฟ้าได้ ดังนั้น ถ้าเราสามารถบริหารจัดการได้ในช่วงนั้น ทุกคนดับแอร์ 1 เครื่อง ดับไฟ 1 ดวง ช่วยกัน รวมถึงภาคอุตสาหกรรมช่วยกันโดยเปลี่ยนเวลาการผลิต หรือโรงแรมช่วยกันลดอุณหภูมิอาจจะไม่ต้องถึงกับต้องดับเครื่องปรับอากาศ อาจจะแค่ช่วยลดอุณหภูมิลงบ้าง ก็จะสามารถอยู่ในวิสัยที่จะจัดการได้

ผลกระทบในครั้งนี้จะแตกต่างจากการประหยัดพลังงานในช่วงปกติ เพราะปกติเราก็มีการปลูกฝังการใช้ประหยัดพลังงานกันอยู่แล้ว แต่ครั้งนี้เป็นการช่วยกันช่วงวิกฤตจริงๆ ใน 4 ชม.ช่วงพีกโหลดของทุกวัน หนึ่งคนปิดหนึ่งดวง ถ้าทั่วจังหวัด ทั่วทั้งภาค มันก็จะนำมาสู่ผลรวมของการลดใช้พลังงานได้เยอะมาก

ในส่วนของภาคอื่นๆ ทางด้านเทคนิคจริงๆ แล้วก็ไม่เกี่ยวข้อง ทางการไฟฟ้าก็มีแผนที่จ่ายไฟลงมาช่วยเหลือทางภาคใต้อยู่แล้ว คงไม่ต้องถึงกับดึงพลังงานมาจากภาคนี้มาช่วยภาคนั้น ก็จะเป็นเรื่องในส่วนของในภาคนั้นช่วยกันจัดการเรื่องลดใช้พลังงานมากกว่า

ทั้งนี้ จะมีการแสดงแอปพลิเคชันที่ถ่ายลงมาจากภาคใต้แสดงให้ประชาชนได้เห็นถึงปริมาณการใช้ไฟฟ้าด้วย ซึ่งใช้ในเชิงสัญลักษณ์ว่าช่วงไหน ใกล้วิกฤตหรือยัง คือ ประชาชน และทุกภาคส่วนต้องช่วยกัน แค่หนึ่งคนปิดหนึ่งดวงและช่วยกันเป็นหูเป็นตาเห็นไฟเปิดทิ้งไว้โดยไม่จำเป็นก็ช่วยกันปิดได้ แค่นี้เราจะสามารถผ่านพ้นวิกฤตไปได้แล้ว
 
ชมคลิป สัมภาษณ์ นายพรเทพ โชตินุชิต ผอ.ฝ่ายกลยุทธ์และสื่อสารองค์กร สำนักงาน กกพ.
 
 

แอปพลิเคชัน ติดตามสถานการณ์ไฟฟ้าภาคใต้
โดยสามารถติดตามสถานการณ์การใช้ไฟฟ้าภาคใต้ได้ทางเว็บไซต์ หรือโหลดแอปพลิเคชัน โดยพิมพ์ JDA18.ERC.OR.TH ก็สามารถเช็กได้ตลอดเวลาว่า การใช้ไฟฟ้าอยู่ในระดับใด วิกฤตหรือไม่ อย่างไร

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ในภาคใต้จะมีโรงไฟฟ้าเกิดขึ้นแล้วหลายโรง แต่ได้รับการยืนยันจาก กฟผ.แล้วว่า ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้ใช้ไฟฟ้า ซึ่งพบว่าภาคใต้ในส่วนของภาคครัวเรือนใช้ไฟฟ้าในสัดส่วนที่มากที่สุด เพราะฉะนั้น วิกฤตครั้งนี้ถึงแม้ภาคอุตสาหกรรมจะร่วมมือในการประหยัด และลดใช้ไฟฟ้าแล้ว หากภาคครัวเรือนร่วมมือกันมากกว่านี้ในการช่วยกันลดใช้ไฟฟ้าในช่วงซ่อมบำรุง เหตุการณ์ไฟฟ้าดับทั้งภาคใต้คงจะไม่เกิดขึ้น
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น