xs
xsm
sm
md
lg

“เห็ดเสม็ด” อร่อยเด็ดๆ แบบชาวปักษ์ใต้ โอกาสทองได้ลิ้มรสกันปีละครั้ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


อีกหนึ่งเมนูเด็ดที่เป็นอาหารขึ้นชื่อคู่กับปักษ์ใต้ ที่หาทานที่อื่นไม่ได้นั่นคือ “เห็ดเสม็ด” หรือ “เห็ดเหม็ด” รังสรรค์เป็นเมนูลวกจิ้มน้ำพริก หรือจะแกงกะทิก็อร่อยเหาะ ตามต้นตำรับอาหารปักษ์ใต้ “เมนูเด็ดแดนใต้” สัปดาห์นี้ นอกจากจะแนะนำเมนูอาหารปักษ์ใต้แล้ว ยังมีความรู้เกี่ยวกับ “เห็ดเสม็ด” มาฝากกันด้วย

 
“ป่าเสม็ด” (Melaleuca forest) เป็นสังคมพืชป่าพรุ (Peat Swamp Forest) เป็นพืชที่มีลักษณะเฉพาะตัว เกิดในพื้นที่ลุ่มต่ำ หรือสภาพเป็นแอ่งน้ำจืดท่วมขังติดต่อกันเป็นเวลานาน เนื่องจากมีพืชพรรณ และสัตว์ชนิดต่างๆ อยู่จำนวนมาก จึงเป็นแหล่งที่มีคุณค่าทางด้านนิเวศวิทยาอย่างมหาศาล เพราะประกอบด้วยซากพืช และอินทรียวัตถุทับถมรวมอยู่บนผิวดิน หนาตั้งแต่ 0.5-5 เมตร หรือมากกว่า และมีค่าความเป็นกรดด่าง 4.5-6

 
สำหรับในพื้นที่อาณาเขตกว่า 1,700 ไร่ ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตตรัง “ป่าเสม็ด” ถือเป็นพันธุ์ไม้ที่บอกความเป็นเอกลักษณ์ ไม่ด้อยไปกว่าป่าโกงกาง และยังคงความสมดุลทางธรรมชาติค่อนข้างสูง ส่วนใหญ่จะเป็นไม้เสม็ดขาว และยังมีความหลากหลายทางธรรมชาติสูง จนถึงเป็นแหล่ง ป่าเสม็ด ที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งของจังหวัดตรัง ในขณะที่หลายพื้นที่ได้ถูกบุกรุกตัดโค่นไปอย่างมากมาย

 
ดังนั้น “ป่าเสม็ด” จึงถือเป็นป่าพรุที่ให้คุณประโยชน์แก่มวลมนุษย์ ไม่น้อยไปกว่าสังคมพืชป่าไม้ชนิดอื่นๆ ทั้งประโยชน์ทางตรงในแง่การใช้ไม้ และของป่า เป็นแหล่งรวมพันธุกรรมของพันธุ์ไม้ และสัตว์ที่หายาก เป็นที่อยู่อาศัยและแหล่งอาหารของสัตว์ป่านานาชนิด รวมทั้งยังเป็นแหล่งกักเก็บน้ำจืดตามธรรมชาติ ส่วนชุมชนก็สามารถใช้ประโยชน์จากไม้เสม็ด โดยการเผาทำเป็นถ่าน ซึ่งจะเป็นรายได้ให้แก่ครอบครัวอีกทางหนึ่ง

 
ขณะเดียวกัน “ป่าเสม็ด” ยังนับเป็นแหล่งหาอาหารที่สำคัญของชาวบ้าน โดยเฉพาะ “เห็ดเสม็ด” (Boletus griseipurpureus) หรือคนใต้เรียกว่า “เห็ดเหม็ด” ซึ่งจัดเป็นเห็ดตับเต่าชนิดหนึ่งที่มีถิ่นกำเนิดในภาคใต้ รวมทั้งในจังหวัดตรัง โดยจะขึ้นหลังจากเกิดความแห้งแล้งติดต่อกันมายาวนาน แล้วจู่ๆ ก็เกิดฝนตกขึ้นมาอย่างหนักเป็นเวลา 3-4 วัน ทำให้เห็ดป่าชนิดนี้ออกดอกเบ่งบานให้ได้เก็บกินกันทันที ซึ่งจะมีโอกาสทองเพียงปีละครั้งเดียวเท่านั้น

 
“ปนัดดา วันมุสา” ชาวอำเภอสิเกา บอกว่า ชาวบ้านนิยมออกไปหา “เห็ดเสม็ด” กันตั้งแต่เช้า เนื่องจากยังมีความชื้นของน้ำค้าง และเห็ดเพิ่งแทงออกมาจากพื้นดิน ทำให้สะดวกต่อการเก็บ และยังมีอากาศไม่ร้อนด้วย โดยต่างคนต่างเก็บได้มากบ้างน้อยบ้าง ตามแต่ความชำนาญ และความสามารถ ทั้งนี้ “เห็ดเสม็ด” จะนิยมขึ้นอยู่ตามโคน “ต้นเสม็ด” หรือบริเวณที่มีใบไม้ทับถม แค่ใช้ไม้เขี่ยควานหาไปเรื่อยๆ ก็จะเจอ

 
ลักษณะเด่นของ “เห็ดเสม็ด” ก็คือ จะมีรสขมเล็กน้อย ส่วนใหญ่จะนิยมนำไปต้ม โดยจะใส่ใบมะขาม และเกลือลงไป เพื่อลดความขม ก่อนจิ้มกินกับน้ำพริก หรือนำไปทำเป็นแกงกะทิก็ได้ ซึ่งหากมีเหลือจากการทานในครัวเรือนแล้ว ยังสามารถนำไปขายในท้องตลาดได้ด้วย คือ ถ้าเป็นเห็ดสดๆ จะมีราคาอยู่ที่กิโลกรัมละ 150 บาท แต่ถ้านำไปลวกเสร็จเรียบร้อย ราคาก็จะขยับเพิ่มขึ้นมาเป็นกิโลกรัมละ 200 บาท

“ผศ.โกสินทร์ พัฒนมณี” ผู้อำนวยการสถาบันทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตตรัง กล่าวว่า ไม่ว่าจะมีการเก็บ “เห็ดเสม็ด” มากมายสักเพียงใด ก็ไม่ต้องกลัวการสูญพันธุ์ และในฤดูกาลต่อไปก็จะกลับมางอกเหมือนเดิม อย่างไรก็ตาม แม้จะสามารถนำเชื้อเห็ดชนิดนี้ไปเพาะในป่าอื่นๆ ขึ้นมาได้ แต่จะให้ผลิตผลแค่ปีเดียวเท่านั้น ต่างกับใน “ป่าเสม็ด” ที่จะมี “เห็ดเสม็ด” ขึ้นอยู่ตลอดไป จึงทำให้เห็ดชนิดนี้กลายเป็นเอกลักษณ์เด่นคู่กับชาวปักษ์ใต้



ภาพ/เรื่อง - เมธี เมืองแก้ว
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น