ตรัง - เจ้าหน้าที่พบหลักฐานโยงขบวนการล่าพะยูนกลางท้องทะเลตรัง เตรียมสาวไปถึงตัวการเพื่อดำเนินคดี และหามาตรการอนุรักษ์พะยูนอย่างจริงจังมากขึ้น ขณะที่ผลการบินสำรวจล่าสุดในปี 2557 พบพะยูนมีจำนวนเพิ่มขึ้น 10-20%
วันนี้ (7 มิ.ย.) นายประจวบ โมฆรัตน์ ผู้อำนวยการศูนย์อนุรักษ์ทรัพยากรชายฝั่งที่ 6 จังหวัดตรัง กล่าวว่า จากกรณีที่เมื่อเร็วๆ นี้ เจ้าหน้าที่ได้มีการส่งซากชิ้นเนื้อสัตว์ทะเลไปทำการตรวจสอบที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามัน ผลการพิสูจน์ที่ออกมาล่าสุดปรากฏว่า เป็นเนื้อพะยูนจริงๆ ดังนั้น จึงถือเป็นหลักฐานสำคัญสำหรับการสืบสวนเพื่อหาตัวผู้กระทำความผิด และอาจเกี่ยวโยงไปถึงขบวนการล่าพะยูนอย่างที่เคยเป็นข่าว เพื่อนำกระดูก หรืออวัยวะต่างๆ ไปทำยาบำรุงกำลัง หรือนำไปทำเครื่องรางของขลังตามความเชื่อที่ผิดๆ
โดยขณะนี้ ทางศูนย์ฯ ได้ประสาน สภ.กันตัง เขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เพื่อดำเนินคดีต่อผู้ที่นำซากพะยูนดังกล่าวไปหาผลประโยชน์ รวมทั้งหามาตรการร่วมกับชุมชนเกาะลิบง เพื่ออนุรักษ์พะยูนอย่างจริงๆ จังๆ มากยิ่งขึ้น และกวาดล้างเครื่องมือประมงที่เป็นอันตรายต่อพะยูน โดยเฉพาะโป๊ะน้ำตื้น ซึ่งน่าจะเป็นสาเหตุที่ทำให้พะยูนตายลง ก่อนถูกลักลอบนำซากไปแอบฝังไว้เพื่อรอวันขุดขึ้นมาขายให้แก่นายทุน และหากมีเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นมาจริงๆ ก็นับเป็นเรื่องที่น่าห่วงมาก
นายก้องเกียรติ กิตติวัฒนาวงศ์ หัวหน้ากลุ่มสัตว์ทะเลหายาก ศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามัน กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พร้อมทีมงาน ได้ทำการสำรวจพะยูนด้วยเครื่องบินเล็กอุลตราไลท์ ในท้องทะเลตรัง จำนวน 8 เที่ยวบิน แหล่งอนุรักษ์พะยูนที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทย ทั้งนี้ ข้อมูลจากการสำรวจย้อนหลังในปี 2555 พบพะยูน จำนวน 110-135 ตัว และมีรายงานลดลงในปี 2556 เหลือเพียง จำนวน 110-125 ตัว เนื่องจากมีการพบพะยูนตายในทะเลตรังจำนวนกว่า 13 ตัว
อย่างไรก็ตาม จากการสำรวจพะยูนเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2557 ที่ผ่านมา กลับมีแนวโน้มที่จะพบพะยูนในทะเลตรังจำนวนเพิ่มมากขึ้น ประมาณ 50 ตัวต่อเที่ยวบิน ซึ่งปกติในการบินสำรวจจะพบเพียง 30-40 ตัวต่อเที่ยวบินเท่านั้น ทำให้คาดการณ์ว่าในปีนี้จะมีจำนวนพะยูนเพิ่มขึ้นประมาณ 10-20% หรือมีจำนวนประมาณ 125-135 ตัว นอกจากนั้น การบินสำรวจพะยูนด้วยเครื่องบินเล็กอุลตราไลท์ ยังพบพะยูนแม่ลูกมากกว่า 7 คู่ต่อเที่ยวบินด้วย จากเดิมที่จะพบได้เพียง 3-4 คู่ต่อเที่ยวบิน