xs
xsm
sm
md
lg

ชาวประมงปากน้ำปราณสร้างบ้านให้ปลาด้วยซั้งจากธรรมชาติ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ประจวบคีรีขันธ์ - กลุ่มชาวประมงเรือเล็กปากน้ำปราณ กับศูนย์อนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 3 ร่วมกับหลายหน่วยงานในประจวบฯ สร้างบ้านให้ปลาด้วยซั้งจากธรรมชาติ

วันนี้ (4 มิ.ย.) กลุ่มชาวประมงเรือเล็กปากน้ำปราณ อ.ปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ ร่วมกับศูนย์อนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 3 เทศบาลปากน้ำปราณ สถานีตำรวจน้ำปราณบุรี ตลอดจนหน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชน และชาวประมงในพื้นที่ร่วมกับจัดกิจกรรมจัดทำซั้งเพื่อการฟื้นฟูแหล่งทรัพยากรทางทะเล โดยนายสุทธิพร ณ นคร ปลัดอำเภอปราณบุรี เป็นประธานเปิดงาน ท่ามกลางความร่วมมือของชาวประมงปากน้ำปราณมากกว่า 100 คน

นายเกรียง มหาศิริ ผู้อำนวยการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 3 กล่าวว่า ทะเลอ่าวไทยตอนกลาง บริเวณจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นแหล่งที่มีความอุดมสมบูรณ์ด้านทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งมานาน ทั้งทรัพยากรเพื่อการประมง ทรัพยากรเพื่อการท่องเที่ยว

ได้แก่ ชายหาด ปะการัง เกาะ ตลอดจนสัตว์ทะเลหายากนานาชนิด โดยที่ผ่านมา ระบบนิเวศทางทะเลถูกใช้ประโยชน์แบบสิ้นเปลือง ทั้งจากการทำประมงที่ผิดกฎหมาย การท่องเที่ยวที่ขาดความรับผิดชอบ และภัยธรรมชาติ ทำให้ระบบนิเวศใต้ทะเลเสื่อมโทรมลง ชุมชน และคนในท้องถิ่นจึงมีบทบาทสำคัญที่จะต้องร่วมมือกันดูแล และร่วมใจกันอนุรักษ์เพื่อให้ท้องทะเลยังประโยชน์ต่อพี่น้องประชาชนต่อไป

ด้านนายเจือ แคใหญ่ ประธานกลุ่มประมงเรือเล็กปากน้ำปราณ ระบุว่า สำหรับกิจกรรมทิ้งซั้งเพื่อสร้างบ้านให้ปลานั้น ทางกลุ่มประมงเรือเล็กได้ทำต่อเนื่องมาตลอดทุกปี เพราะเห็นประโยชน์ชัดเจนว่า หลังจากมีซั้งเป็นแนวปะการังเทียมก็ทำให้สัตว์น้ำเพิ่มมากขึ้น

โดยในปีนี้ได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะศูนย์อนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 3 และเทศบาลปากน้ำปราณ ที่สนับสนุนงบประมาณสำหรับทำซั้งกว่า 1 แสนบาท มาให้ชาวประมงได้ทำซั้งกว่า 200 ต้น สำหรับนำไปทิ้งสร้างเป็นปะการังเทียม ที่ระยะห่างจากฝั่ง 3,000 เมตร หรือหนึ่งไมล์ทะเลเศษ

โดยซั้งที่ทำสามารถย่อยสลายได้ดีในธรรมชาติ มี 2 แบบคือ แบบที่ 1 ซั้งที่สร้างจากทางมะพร้าวและไม้ไผ่ มีข้อดีคือ ปลา และสัตว์ทะเลจะชอบเนื่องจากได้กลิ่นจากใบทางมะพร้าว แต่มีข้อเสียคือ ย่อยสลายได้เร็ว ประมาณ 1 ปี หรืออาจน้อยกว่าแต่เป็นนิยมสร้างในหมู่ชาวประมง แบบที่ 2 คือซั้งเชือก ข้อดีคือ คงทนกว่าซั้งทางมะพร้าว อายุมากกว่า 2 ปี โดยการทำซั้งทั้ง 2 แบบ ชาวประมงเรือเล็กปากน้ำปราณ ได้ดูตัวอย่างมาจากโครงการพระราชดำริฯ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

อย่างไรก็ตาม ในปีนี้กำหนดทำซั้ง และเริ่งทิ้งตามแนวปะการังเทียม ระหว่างวันที่ 4-6 มิถุนายน 2557 นี้ โดยจะทิ้งซั้งให้ได้ครบทั้งหมดทั้ง 200 ต้น ตามระยะเวลาดังกล่าวเนื่องจากเป็นช่วงระยะเวลาที่เหมาะสม คลื่นลมยังสงบดี





กำลังโหลดความคิดเห็น