ตราด - กลุ่มอนุรักษ์โลมาบ้านสะพานหิน ทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้โลมาที่เสียชีวิต รวมทั้งสัตว์น้ำชนิดอื่น จี้ภาครัฐเร่งแก้ปัญหา
วันนี้ (20 ก.พ.) ที่หาดสนสาธารณะบ้านหมู่ 5 สะพานหิน ต.แหลมกลัด อ.เมือง จ.ตราด นายทัด จิตสถาพร ประธานกลุ่มอนุรักษ์โลมาบ้านสะพานหิน จัดให้มีการทำอุทิศส่วนกุศลให้แก่โลมาที่เสียชีวิต โดยมีนายวิเชียร ทรัพย์เจริญ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ตราด กลุ่มสมาชิก อบจ. นายกฤตภาส ศรีแสงขจร รองนายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.)ไม้รูด อบต.แหลมกลัด ตัวแทนจากส่วนราชการ ตำรวจ ทหาร พร้อมประชาชน ต.แหลมากลัด รวมกว่า 100 คน ร่วมทำบุญปล่อยปลา และหอย 100,000 ตัว เพื่อขยายพันธุ์ในอ่าวแหลมกลัด
นายทัด กล่าวว่า การจัดงานครั้งนี้เพื่อเป็นการอุทิศส่วนกุศลให้แก่โลมาที่เสียชีวิตต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2553 จนปัจจุบันมีการเสียชีวิตอย่างต่อเนื่องกว่า 200 ตัว ซึ่งในปี 2557 พบโลมาเสียชีวิตแล้ว 8 ตัว โดยโลมาที่เสียชีวิตใน ต.แหลมกลัด ตนและสมาชิกนำมาฝังไว้ที่ชายหาดหน้าหาดสน ที่ปัจจุบันสุสานโลมาที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ
การจัดให้มีการทำบุญขึ้นก็เพื่อต้องการให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการช่วยกันอนุรักษ์โลมาไว้ ไม่ให้หมดไปจากอ่าวตราด และเพื่อเอุทิศส่วนกุศลให้แก่สัตว์โลกทั้งหลายที่เราใช้ชีวิตเขามาเลี้ยงชีวิตเรา ซึ่งตนและชาวบ้านจัดทำบุญมาแล้ว 3 ปี ด้วยการริเริ่มจากชาวบ้านเอง เพราะบริเวณนี้เป็นที่ฝังศพของโลมาที่เสียชีวิตหลายร้อยตัวใน ต.แหลมกลัด จึงจัดทำเป็นแผ่นความรู้ให้เยาวชนช่วยกันอนุรักษ์โลมา และเป็นสัญลักษณ์ในการที่เรียกร้องให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง หาทางที่จะทำให้โลมาเสียชีวิตลดลง เพราะที่ผ่านมา มีแต่สื่อมวลชนเท่านั้นที่สนใจ และให้ความสำคัญ พร้อมเป็นตัวกลางในการสะท้อนปัญหาของชุมชนจนถึงวันนี้
นายกฤตภาส กล่าวว่า ที่ผ่านมาได้ร่วมกับนายทัด และชาวประมงพื้นบ้านสะพานหิน ช่วยชีวิตโลมาในอ่าวตราดมาหลายปี แต่โลมาที่ช่วยชีวิตเกือบร้อยละร้อยเสียชีวิต และที่พบก็เสียชีวิตแล้วทั้งนั้น จึงทำได้เพียงการชันสูตรซากโลมา ตามที่ได้รับการอบรมจากนักวิชาการ ศูนย์อนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลภาคตะวันออก จ.ระยอง ซึ่งพบว่า การเสียชวิตของโลมาเกิดจากการติดเครื่องมือประมง ทั้งเรือประมงอวนลากคู่ เครื่องมือประมงชายฝั่งที่มีจำนวนมากในทะเลตราด แม้สายเชือกอวนเส้นเดียวก็ทำให้โลมาเสียชีวิตได้ เมื่อหาง หรือครีบติดกับเชือกก็ทำให้โลมาที่ต้องขึ้นมาหายใจทุก 10-15 นาทีจมน้ำตาย ที่ผ่านมา ทางกลุ่มได้เรียกร้องให้ส่วนราชการแก้ปัญหา และหาทางป้องกัน แต่ยังไม่มีหน่วยงานใดเข้ามาแก้ไขอย่างจริงจัง
ด้านนายไชยันต์ การสมเนตร ประมงจังหวัดตราด กล่าวว่า โดยหน้าที่ของสำนักงานแล้วจะดูแลในเรื่องอื่น ไม่ได้ดูแลเรื่องโลมา เพราะโลมาเป็นสัตว์ทะเลหายาก สำนักงานทรัพยากรธรรมการและสิ่งแวดล้อมจังหวัดจะดูแลอยู่ ทั้งนี้ การเสียชีวิตของโลมาส่วนใหญ่จะติดเครื่องมือประมงทุกชนิด ที่ผ่านมา มีการถกเถียงกันในเรื่องนี้ว่าใครทำให้โลมาเสียชีวิต โดยการจะแก้ปัญหาต้องร่วมกันหลายภาคส่วน และต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่องด้วย