xs
xsm
sm
md
lg

กอ.รมน.ภาค 4 สน. แจงตั้ง “ศูนย์ปรองดองฯ” มุ่งสลายสีการเมือง ปูทางปฏิรูปประเทศ (ชมคลิป)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ยะลา - กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า เดินหน้าตั้ง “ศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูป” ยุติความขัดแย้งทางการเมือง โดยกระทรวงมหาไทย ได้สั่งการตั้งคณะกรรมการระดับจังหวัดเพื่อรับฟังความคิดเห็นประชาชนในท้องถิ่น และระดมข้อเสนอแนะสู่สภาปฏิรูปประเทศ

วันนี้ (5 มิ.ย.) ที่ศูนย์ประชาสัมพันธ์กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ค่ายสิรินธร ต.เขาตูม อ.ยะรัง จ.ปัตตานี พ.อ.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า เปิดเผยถึงการจัดตั้งศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูป นั้น จริงๆ แล้วมีวัตถุประสงค์หลัก คือ ต้องการที่จะสลายความคิด ความขัดแย้งทางการเมือง และของคนไทยในชาติในห้วงที่ผ่านมา

โดยวิธีดำเนินการแบ่งเป็น 3 ขั้นตอน คือ เตรียมการ ซึ่งเป็นการตั้งคณะกรรมการและการจัดจั้งศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปในระดับจังหวัด ซึ่งขณะนี้ ทางกระทรวงมหาดไทย ได้สั่งการให้ทุกจังหวัดจัดตั้งศูนย์ปรองดองฯ ไปเรียบร้อยแล้ว สำหรับบทบาทหน้าที่ของศูนย์ปรองดองฯ ในระระดับจังหวัด ก็จะทำหน้าที่ในการรับฟังความคิดเห็นของพี่น้องประชาชน ทั้งในระดับหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ เพื่อนำไปเสนอต่อศูนย์ปรองดองฯ ในส่วนกลาง ซึ่งจะไปจัดทำข้อเสนอเข้าสู่สภาปฏิรูปที่จะมีการจัดตั้งขั้นต่อไป

สำหรับในส่วนของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า พล.ท.วลิต โรจนภักดี แม่ทัพภาคที่ 4 ได้สั่งการเน้นย้ำให้ทุกจังหวัด ได้เร่งรัดในการดำเนินการ และให้หน่วยเฉพาะกิจในระดับจังหวัด และหน่วยเฉพาะกิจประจำพื้นที่ ได้เข้าไปติดตามสถานการณ์ ส่วนหน้าที่การรับผิดชอบโดยตรงนั้นจะเป็นหน้าที่ของกระทรวงมหาดไทย ที่จะเป็นผู้ดำเนินการในการสร้างความปรองดอง ในส่วนของทหาร หรือกองทัพเราจะทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยความสะดวก โดยเป้าหมายสุดท้าย คือ ต้องการให้คนในชาติเกิดความรักความสามัคคีเกิดความปรองดองสมานฉันท์ และต้องการคืนความสุขให้ประชาชน และประเทศชาติ

พ.อ.ปราโมทย์ ยังกล่าวอีกว่า ในส่วนของพื้นที่ภาคใต้ การจัดตั้งศูนย์ปรองดองฯ นั้น จริงๆ แล้วจะต้องแยกเป็น 2 ส่วน คือ ความขัดแย้งทางการเมือง และความคิดความเชื่อในทางการเมืองของคนในชาติ และความเห็นต่างในการใช้ความรุนแรง ซึ่งในเรื่องที่ 2 ผู้ที่มีความเห็นต่างที่ใช้ความรุนแรงในช่วงที่ผ่านมา ทาง กอ.รมน. ภาค 4 สน. ก็ได้มีการขับเคลื่อนโครงการพาคนกลับบ้านอยู่แล้ว ซึ่งจะดำเนินการให้คนเหล่านี้ได้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม คนที่มีหมาย พ.ร.ก.ก็เข้าสู่ขั้นตอนทางกฎหมาย

ส่วนคนที่มีหมาย ป.วิอาญา ก็จะอำนวยความสะดวกที่จะเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม หรือแม้กระทั่งคนที่ตกใจหลบหนีออกจากบ้านก็จะเปิดโอกาสให้กลับมาใช้ชีวิตในครอบครัวอย่างอบอุ่น ในเรื่องของความขัดแย้งทางความคิดทางการเมืองที่เป็นปัญหาระดับชาติ ก็เป็นหน้าที่ของศูนย์ปรองดองฯ ซึ่งหลักๆ แล้วก็คือ ต้องมีการสอบถามความเห็นของทุกภาคส่วน โดยเฉพาะประชาชนตั้งแต่ระดับหมู่บ้าน ชุมชน ตำบล อำเภอ และจะรวบรวมเป็นข้อเสนอต่างๆ ผ่านทาง กอ.รมน.ภาค 4 สน. ก่อนที่จะนำเสนอไปให้พื้นที่ส่วนกลาง
   

 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น