ศูนย์ข่าวภูเก็ต - จังหวัดภูเก็ต จัดประชุมพิจารณาคัดเลือกรากวัฒนธรรม “ของดีบ้านฉัน” เพื่อกระตุ้นให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการสืบค้นรากวัฒนธรรมในท้องถิ่นของตนเอง และส่งเสริมให้เกิดความรักความสามัคคี มีความภาคภูมิใจในบ้านเกิด
วันนี้ (23 พ.ค.) ที่ห้องประชุมสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดภูเก็ต นายสมเกียรติ สังข์ขาวสุทธิรักษ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานการประชุมพิจารณาคัดเลือกรากวัฒนธรรม “ของดีบ้านฉัน” จังหวัดภูเก็ต โดยมี นายสมณ์ศักดิ์ รัตนแสนยานุภาพ ที่ปรึกษานายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต หัวหน้าส่วนราชการ ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม
นายสมเกียรติ สังข์ขาวสุทธิรักษ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า โครงการรากวัฒนธรรม “ของดีบ้านฉัน” จัดขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการกระตุ้นให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการสืบค้นรากวัฒนธรรมในท้องถิ่นของตนเอง ส่งผลให้เกิดความรักความสามัคคี มีความภาคภูมิใจในบ้านเกิด รวมทั้งนำไปสร้างสรรค์ต่อยอดภูมิปัญญาท้องถิ่น ด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมของหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน
นายสมเกียรติ กล่าวถึงการประชุมพิจารณาคัดเลือกรากวัฒนธรรม “ของดีบ้านฉัน” ประกอบด้วย ด้านประเพณี ด้านศิลปะการแสดง ด้านอาหาร และด้านผ้าทอ โดยคัดเลือกจากที่ได้มีการคัดสรรมาแล้วในระดับอำเภอ ซึ่งรากวัฒนธรรม “ของดีบ้านฉัน” อำเภอเมือง ได้แก่ ประเพณีแต่งงานแบบบาบ๋า การแสดงรองเง็ง อาหารอิ่วปึ่ง ผ้าบาติก อำเภอถลาง ได้แก่ ประเพณีลากพระ เพลงตันหยง จักจั่นทอด อำเภอกะทู้ ได้แก่ ประเพณีถือศีลกินผัก ดนตรีล่อโก๊ะฉ่า ขนมอังกู๋ และขนมเดือน ทั้งนี้ เพื่อให้ได้รากวัฒนธรรม “ของดีบ้านฉัน” ที่โดดเด่นของจังหวัด 4 รายการ เพื่อเผยแพร่ และบริการเป็นต้นน้ำของการศึกษา ค้นคว้า พัฒนา บ่มเพาะ ต่อยอดไปสู่อุตสาหกรรมวัฒนธรรมสร้างสรรค์ สร้างคุณค่าทางสังคม และมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจได้อย่างยั่งยืน โดยผ่านกระบวนการสืบสาน สร้างสรรค์ และบูรณาการการมีส่วนร่วมของหน่วยงาน องค์กร และประชาชนเจ้าของวัฒนธรรมในทุกระดับ
สำหรับผลการคัดเลือกรากวัฒนธรรม “ของดีบ้านฉัน” ที่ผ่านการคัดสรรรในระดับจังหวัดทั้ง 4 ประกอบด้วย ด้านประเพณี คือ ประเพณีถือศีลกินผัก ด้านศิลปวัฒนธรรม คือ การแสดงรองเง็ง ด้านอาหาร คือ อิ่วปึ่ง และด้านผ้าทอ คือ ผ้าบาติก โดยคณะกรรมการพิจารณาตามหลักเกณฑ์ต่างๆ ได้แก่ ประเพณีที่เกี่ยวกับศาสนา ความเชื่อ วิถีชีวิต หรือการทำมาหากินที่สะท้อนคุณค่าทางสังคม จิตใจ และวิถีชีวิตของชุมชน มีประวัติความเป็นมาและอัตลักษณ์ที่โดดเด่น เป็นประเพณีที่ชุมชนนั้นๆ ได้ถือปฏิบัติสืบทอดกันมาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน มีรูปแบบการปฏิบัติ ช่วงเวลา วิธีการ และขั้นตอนที่ชัดเจน มีกระบวนการปรับเปลี่ยน พัฒนาจนเป็นที่ยอมรับในชุมชน มีรูปแบบการนำเสนอที่ดึงดูดความสนใจ และสร้างความประทับใจ มีการเสริมสร้างความรักสามัคคี ความผูกพัน และความภาคภูมิใจของคนในชุมชน ชุมชนมีส่วนร่วมในการรักษาประเพณี มีหน่วยงาน องค์กร กลุ่มบุคคล บุคคลดูแลสนับสนุน มีความสามารถในการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ผลงานผ่านสื่อต่างๆ สร้างอาชีพ และสร้างรายได้ให้แก่ครอบครัว และชุมชน