ตรัง - อดีตหนุ่มศึกษาศาสตร์ ม.อ.ปัตตานี วัย 39 ปี ผันชีวิตจากพนักงานคอมพิวเตอร์ หันทำ “สวนโสทร” สวนผักปลอดสารพิษ พร้อมจัดทำ Facebook และเว็บไซต์ หวังใช้สื่อออนไลน์ช่วยประชาสัมพันธ์ เปิดตลาดซื้อขายผักในโลกออนไลน์ เพื่อปลุกกระแสให้คนหันมารักสุขภาพ
วันนี้ (22 พ.ค.) นางอารีย์ ขวัญศรีสุทธิ์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) นาข้าวเสีย อำเภอนาโยง จังหวัดตรัง เปิดเผยว่า สำหรับชาวบ้านในพื้นที่ตำบลนาข้าวเสีย คงไม่มีใครไม่รู้จักผู้ชายที่ชื่อว่า “โสทร รอดคงที่” หรือ “โส” หนุ่มวัย 39 ปี เจ้าของสวนผักปลอดสารพิษ “สวนโสทร” ภายในเนื้อที่กว่า 2 ไร่เศษ ของหมู่ที่ 6 บ้านหูโตน หรือบ้านนาละหาน ซึ่งถูกตั้งขึ้นเป็นศูนย์การเรียนรู้สำหรับผู้ที่มีความสนใจในเรื่องของการทำเกษตรเชิงผสมผสาน รวมไปถึงการประยุกต์ให้เข้ากับโลกออนไลน์ ด้วยการจัดทำ Facebook และเว็บไซต์ชื่อว่า “โสทร บ้านสวนพอเพียง” เพื่อรณรงค์ให้ผู้คนหันมาใส่ใจสุขภาพ ด้วยการกินผักที่ปลอดสารพิษ
ล่าสุด ได้รับความสนใจ และมียอดผู้เข้าเยี่ยมชมเป็นจำนวนมาก จนกลายเป็นที่รู้จักของคนต่างจังหวัด และคนไทยในต่างประเทศ นับเป็นการรวมกลุ่มของคนรักสุขภาพทุกหนแห่ง ทั้งที่มีความคิดต่าง และคิดเหมือนกัน เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์เกี่ยวกับการปลูกผักปลอดสารพิษเพื่อกินเอง จนทำให้โลกออนไลน์กลายเป็นตลาดย่อมๆ ของคนกลุ่มนี้ไปเลย
ก่อนที่เกษตรกรวัยหนุ่มอย่าง “โสทร” จะผันชีวิตตัวเองมาเป็นเกษตรกรนั้น เขาได้จบการศึกษาระดับปริญญาตรี คณะศึกษาศาสตร์ วิชาเอกเทคโนโลยีการศึกษา จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) วิทยาเขตปัตตานี แต่ชีวิตก็ไม่ได้เป็นครูสอนเด็ก กลับหันไปจับงานด้านคอมพิวเตอร์ถึง 10 ปี กระทั่งเมื่อถึงจุดอิ่มตัว ประกอบกับไม่มีใครคอยดูแลพ่อแม่ จึงทำให้ตัดสินใจกลับมาอยู่บ้านที่จังหวัดตรัง เพื่อหวังตอบแทนบุญคุณในขณะที่ท่านยังแข็งแรง และเขาก็อยากมีกิจการเป็นของตัวเองด้วย บวกกับความโชคดีที่พื้นฐานของครอบครัวมาจากการเกษตรอยู่แล้ว จึงใช้ระยะเวลากว่า 2 ปีที่ผ่านมา เพื่อศึกษาข้อมูล และทดลองทำด้วยตนเอง ไม่ว่าจะเป็นการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ น้ำหมักชีวภาพ หรือน้ำส้มควันไม้สำหรับไล่แมลง และศัตรูพืช ผนวกกับการที่เขาเป็นคนชอบกินผักเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เลยคิดปลูกผักปลอดสารพิษให้มีรสชาติที่แตกต่างไปจากผักที่ซื้อมาจากตลาดทั่วไป อีกทั้งเมื่อเหลือจากการรับประทานในครัวเรือนแล้ว ก็ยังสามารถนำไปขายให้แก่ลูกค้าที่สนใจได้ด้วย
ดังนั้น ตลาดส่วนใหญ่จึงเป็นเพื่อนบ้านที่อยู่บริเวณใกล้เคียงในตำบลนาหมื่นศรี และบุคลากรของโรงพยาบาลอำเภอนาโยง โดยไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง ส่วนราคาขายก็จะไม่เคยอ้างอิงราคาตลาดเพราะทุกอย่างจะเป็นไปตามความเหมาะสม เช่น ผักใบ จะขายอยู่ที่กิโลกรัมละ 30 บาท ยกเว้นบางชนิด เช่น ดอกขจร ก็จะขายอยู่ที่กิโลกรัมละ 100 บาท เพื่อตอบสนองความพอเพียง และสามารถซื้อไปกินได้ในราคาที่ไม่แพง แต่ปลอดภัย
ส่วนการใช้โลกออนไลน์มาเป็นสื่อออกไปสู่สาธารณชนนั้น ก็หวังต้องการให้คนไทยหันมาดูแลรักษาสุขภาพกันมากขึ้น โดยเริ่มจากจุดเล็กๆ ของสมาชิกเพียงไม่กี่คน แล้วขยายตัวออกไปอย่างรวดเร็ว ซึ่งจากกระแสตอบรับที่เพิ่มขึ้นส่งผลให้มีผู้สนใจสมัครเข้ามาเป็นสมาชิกกันจำนวนมาก จนกลายเป็นการปลุกกระแสคนรักสุขภาพให้มาอยู่รวมที่เดียวกัน และหากผู้ใดมีปัญหา หรือข้อสงสัยก็จะถามตอบกันภายในโลกออกไลน์ นับเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่ต้องพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน ภายใต้ยุคที่สังคมเปิดกว้างอย่างไร้พรมแดน