กาฬสินธุ์ - เกษตรกรชาวอำเภอห้วยผึ้ง จังหวัดกาฬสินธุ์ ยึดแนวทางเกษตรผสมผสานปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง รวมกลุ่มปลูกพืชผักสวนครัวที่ใช้น้ำน้อย สร้างรายได้สู้วิกฤตภัยแล้ง
วันนี้ (28 มี.ค.) นายโอภาส มั่นคง เกษตรอำเภอห้วยผึ้ง จ.กาฬสินธุ์ นางจิดาภา ลาวัลย์ นายก อบต.นิคมห้วยผึ้ง พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่นักวิชาการเกษตรอำเภอห้วยผึ้ง ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมและติดตามความคืบหน้าการปลูกพืชผักสวนครัวเกษตรผสมผสานของกลุ่มเกษตรกรปลูกผักไร้สารพิษบ้านภูเงิน ม.11 ต.นิคมห้วยผึ้ง อ.ห้วยผึ้ง จ.กาฬสินธุ์ หลังจากชาวบ้านได้น้อมนำและยึดเอาหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาใช้ในการดำเนินชีวิตจนเกิดเป็นรูปธรรม
โดยการรวมกลุ่มกันจำนวน 28 คนขอใช้พื้นที่สาธารณประโยชน์กว่า 4 ไร่ สร้างแปลงปลูกพืชผักสวนครัวในรูปแบบเกษตรผสมผสานปลอดสารพิษที่ใช้น้ำน้อยส่งขายตามหมู่บ้านและตามท้องตลาด สร้างอาชีพและรายได้ให้แก่ครอบครัวต่อสู้กับวิกฤตภัยแล้งได้เป็นอย่างดี โดยการส่งเสริมและสนับสนุนของ อบต.ห้วยผึ้งและเกษตรอำเภอห้วยผึ้ง
นางจิดาภา ลาวัลย์ นายก อบต.นิคมห้วยผึ้ง อ.ห้วยผึ้ง จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า ปัจจุบันหลายหมู่บ้านในตำบลนิคมห้วยผึ้งประสบกับปัญหาภัยแล้ง ขาดแคลนน้ำอุปโภค บริโภค ซึ่ง อบต.นิคมห้วยผึ้งจึงร่วมกับเกษตรอำเภอห้วยผึ้งและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชนยึดเอาหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาใช้ในการดำเนินชีวิต
โดยการรวมกลุ่มกันปลูกพืชผักสวนครัวปลอดสารพิษแบบผสมผสาน ซึ่งในช่วงหน้าแล้งจะเลือกปลูกผักที่ใช้น้ำน้อย เพราะพื้นที่แห่งนี้ใช้น้ำบาดาล บางวันน้ำไหลบ้าง ไม่ไหลบ้าง จึงทำให้ชาวบ้านมีรายได้เลี้ยงครอบครัวได้เป็นอย่างดี และสามารถต่อสู้กับวิกฤตภัยแล้งไปได้
ด้านนางพรรณี ปทุมชาติ อายุ 61 ปี เกษตรกรบ้านภูเงิน ม.11 กล่าวว่า ชาวบ้านภูเงินได้เริ่มรวมตัวกันปลูกพืชผักสวนครัวมากว่า 1 ปีแล้ว เดิมทีได้ผลผลิตออกสู่ท้องตลาดได้เงินครั้งแรก 300 บาท ต่อมาได้ปรับเปลี่ยนเป็นการปลูกพืชผักแบบเกษตรผสมผสาน และปรับสภาพให้เหมาะสมกับช่วงฤดูกาลต่างๆ
โดยเฉพาะช่วงหน้าแล้งได้ปรับเปลี่ยนเป็นการปลูกพืชผักสวนครัวที่ใช้น้ำน้อย เพื่อต่อสู่กับวิกฤตภัยแล้ง
เพราะพื้นที่บ้านภูเงินนั้นประสบภัยแล้งทุกปี และค่อนข้างที่จะขาดแคลนน้ำเนื่องจากอยู่ในพื้นที่สูง ซึ่งจากการปรับเปลี่ยนก็สามารถสร้างอาชีพให้สมาชิกที่นำผักไปขาย แต่ละคนมีรายได้เฉลี่ยวันละ 300-1,000 บาท ซึ่งสามารถสู้กับปัญหาภัยแล้งขาดแคลนน้ำไปจนถึงช่วงหน้าฝน