ปัตตานี - มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี จัดเวทีสาธารณะ และการเสวนาทางวิชาการเรื่อง “กระบวนการสันติภาพ ปัตตานี” เพื่อสะท้อนถึงปัญหา และอุปสรรคของการสร้างกระบวนการสันติภาพ
วันนี้ (11 พ.ค.) ที่ห้องประชุมศรีวังษา คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์วิทยาเขตปัตตานี ได้จัดเวทีสาธารณะ และการเสวนาทางวิชาการเรื่อง “กระบวนการสันติภาพ ปัตตานี” จากสถานวิจัยความขัดแย้ง และความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ และคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ร่วมกับโรงเรียนวิชาการเมือง ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (College of Deep South Watch) จากนักประชาสังคม และบทบาทของผู้อำนวยความสะดวกในมินดาเนา และปาตานี : มุมมองจากมาเลเซีย (Peace Process, Civil Society and Roles of Facilitator in Mindanao and Patani : A Malaysia's Perspective)
โดยมี ศ.ดร.กามารุซซามาน อัสกันดาร์ ผู้ประสานงานศูนย์วิจัย และการศึกษาสันติภาพ REPUSM) มหาวิทยาลัยซายน์มาเลเซีย, ปีนัง, ประเทศมาเลเซีย ได้นำเสนอขัอมูลผลการวิจัยกระบวนการสันติภาพของมินดาเนา ฟิลิปปินส์ หรือบังซามอโร สู่กระบวนการสันติภาพปัตตานี นำการแลกเปลี่ยนผลการวิจัยโดย ดร.นอร์เบิร์ต โรเปอร์ส นักวิจัยอาวุโสสถานวิจัยความขัดแย้ง และความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ผศ.ดร.กุสุมา กูใหญ่ รองคณบดีคณะวิทยาการสื่อสาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ได้ร่วมบรรยายถึงปัญหา และอุปสรรค์ของกระบวนการสันติภาพของไทย ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตรภิรมย์ศรี และ อ.ไพซอล ดาโอ๊ะ เป็นผู้ดำเนินรายการ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในเวทีการเสวนาได้มีการสะท้อนถึงปัญหา และอุปสรรคของการสร้างกระบวนการสันติภาพ ปัตตานี หรือพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เกิดจากความพร้อมของคนในพื้นที่ที่ยังคงมีความคิดต่างกันอย่างสิ้นเชิงต่อเป้าหมาย เพื่อนำสู่กระบวนการสันติภาพ จึงมีการเรียกร้องให้คนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ต้องสร้างกระบวนการคิดที่สามารถตกผลึกร่วมกันได้ว่าคนในพื้นที่มีความต้องการอะไรเสียก่อน จึงสามารถที่จะนำแนวคิด หรือความต้องการที่เป็นเอกฉันท์ผลักดันสู่กระบวนการสันติภาพปัตตานี พูดเป็นภาษาชาวบ้านว่า “คนสามจังหวัดต้องกลับถามตัวเองว่า กูจะจัดการปัญหาของกูอย่างไร” จะไปโทษใครคนอื่นไม่ได้อีกแล้ว ต้องยอมรับกับความจริงแล้วสู่ทางการแก้ไขในการสร้างความพร้อม “นี่และคือหนทางสันติภาพปัตตานีอย่างแท้จริง”