ระนอง - นักวิชาการประมงระนอง ชี้ผลผลิตกุ้งขาวแวนนาไม และกุ้งกุลาดำของเกษตรกรชาวระนอง 4 เดือนแรกของปีนี้ ลดลงกว่าร้อยละ 70 สาเหตุจากเกษตรกรหวั่นโรค EMS และปริมาณการนำเข้ากุ้งจากเวียดนามเพิ่มขึ้น
นายขจร อิสริยานุพงศ์ นักวิชาการประมงชำนาญการ สำนักงานประมงจังหวัดระนอง เปิดเผยถึงสถานการณ์ด้านการประมงในส่วนของผู้เลี้ยงกุ้ง ตั้งแต่ปี 2556 พบว่า ผลผลิตลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วงเดือนมกราคมถึงเมษายน 2557 กุ้งขาวแวนนาไม มีผลผลิต 2,125 ตัน จากพื้นที่เลี้ยง 2,500 ไร่ ลดลงร้อยละ 50 และกุ้งกุลาดำผลผลิต 51.3 ตัน จากพื้นที่เลี้ยง 30 ไร่ ลดลงถึงร้อยละ 70 สาเหตุที่ผลผลิตลดลงเกินครึ่งเนื่องจากเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งหวั่นเกรงโรคระบาด EMS (Early Mortality Syndrome) หรือโรคตายด่วน ซึ่งระบาดอย่างหนักในรอบปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ ยังกังวลถึงการนำเข้ากุ้งจากประเทศเวียดนาม ส่งผลให้ราคาขายส่งกุ้งในประเทศมีราคาตกต่ำ
ทั้งนี้ นักวิชาการประมงได้แนะแนวทางการป้องกันโรค EMS ต้องเริ่มตั้งแต่การเตรียมบ่อด้วยการกำจัดปริมาณสารอินทรีย์ที่ตกค้างในบ่อให้มากที่สุด เลี้ยงระบบปิดมีบ่อพักน้ำที่เพียงพอ พร้อมฆ่าเชื้อในน้ำบ่อเลี้ยงก่อนนำกุ้งลงเลี้ยง ปรับปรุงคุณภาพน้ำให้เหมาะสม ไม่ควรให้ค่า PH ในน้ำบ่อเลี้ยงกุ้งสูงกว่า 8.5 ควบคุมอาหารให้เหมาะสม ไม่ให้มีอาหารเหลือตกค้างในบ่อมาก เพิ่มเครื่องตีน้ำให้มากขึ้น
และที่สำคัญคือ เลือกซื้อกุ้งจากโรงเพาะฟักที่ได้มาตรฐาน เชื่อถือได้ มีใบตรวจโรคควบคู่การซื้อขายด้วย และเลือกลูกกุ้งที่มีขนาดใหญ่ขนาด P 15 ขึ้นไป พร้อมทั้งเลี้ยงไม่หนาแน่นมากเกินไป และหากพบกุ้งตายโดยไม่ทราบสาเหตุให้ติดต่อสารวัตรปศุสัตว์ภายใน 24 ชั่วโมง หากเจ้าหน้าที่ยังไม่เข้าตรวจสอบให้เก็บตัวอย่างกุ้งที่ตายมาตรวจสอบที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาชายฝั่งระนอง และนำซากกุ้งฝังให้ลึกไม่ต่ำกว่า 50 เซนติเมตร เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรค