xs
xsm
sm
md
lg

ผอ.รพ.รัษฎา จ.ตรัง เสนอทำวิจัยแก้ปัญหาเผาขยะ ท.คลองปาง(ชมคลิป)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ตรัง - ผอ.รพ.รัษฎา จ.ตรัง เสนอให้ทำวิจัยเพื่อศึกษาปัญหาการเผาขยะ ในเขตเทศบาลตำบลคลองปาง มายาวนานนับปี หลังจากมีประชาชนหลายคนรู้สึกเจ็บป่วย เพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งกัน

ประชาชนในเขตเทศบาลตำบลคลองปาง อำเภอรัษฎา จังหวัดตรัง โดยเฉพาะในพื้นที่หมู่ที่ 1 และหมู่ที่ 2 รวมตัวกันออกมาแสดงความห่วงใยต่อสุขภาพของตนเอง หลังจากที่มีการเผากองขยะบริเวณลานเนื้อที่ 5 ไร่ ตรงข้ามโรงเรียนรัษฎา ทั้งกลางวัน และกลางคืน แถมบางครั้งก็เป็นฝีมือของผู้นำท้องถิ่นบางคนด้วยซ้ำไป ทำให้เกิดกลุ่มควันลอยล่องไปทั่ว และบางครั้งก็ไปไกลถึงตลาดคลองปาง ที่อยู่ห่างออกไปหลายกิโลเมตร

รวมทั้งเกิดกลิ่นเหม็นจากกองขยะลอยโชยไปทั่วทั้งบริเวณอีกเช่นกัน นอกจากนั้น ยังมีฝูงแมลงวันเป็นจำนวนมาก และมีสุนัขเข้ามาคุ้ยหาอาหารด้วย จนนานเข้าประชาชนหลายคนก็เริ่มมีอาการเจ็บป่วยด้วยโรคทางเดินหายใจ หรือรายใดที่ป่วยเป็นโรคหอบหืด หรือโรคภูมิแพ้อยู่แล้ว ก็จะมีอาการทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้น

ด้าน นพ.ชัยณรงค์ มากเพ็ง ผู้อำนวยการโรงพยาบาลรัษฎา กล่าวว่า จากข้อมูลผู้ป่วยที่มาเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล ในช่วงปี 2556 พบว่า ทั้ง 5 ตำบลของอำเภอรัษฎา ตำบลคลองปาง มีผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจเฉียบพลัน เช่น โรคหวัด จำนวนมากที่สุด คือ 200 รายต่อแสนประชากร รวมทั้งมีผู้ป่วยโรคหลอดลมอุดตันเรื้อรัง หรือโรคหอบหืด ซึ่งเป็นแล้วรักษาไม่หายขาด จำนวนมากที่สุดเช่นกัน คือ 30 รายต่อแสนประชากร และ 43 รายต่อแสนประชากร แต่เป็นอัตราผู้ป่วยตามเกณฑ์มาตรฐานทั่วไป และไม่ได้สูงกว่าพื้นที่อื่นๆ จนน่าวิตกกังวล อีกทั้งเมื่อเจาะลึกไปถึงผู้ป่วยเฉพาะหมู่ที่ 1 และ 2 ตำบลคลองปาง ซึ่งอยู่ในบริเวณที่ตั้งกองขยะ ยังพบผู้ที่เป็นโรคทางเดินหายใจเฉียบพลัน โรคหลอดลมอุดตันเรื้อรัง หรือโรคหอบหืด ในจำนวนที่น้อย

นอกจากนั้น ปัจจัยของการเกิดโรคเหล่านี้ก็อาจมาจากสาเหตุอื่นประกอบด้วย เช่น กรรมพันธุ์ หรือสภาพแวดล้อม เนื่องจากเทศบาลตำบลคลองปาง เป็นชุมชนที่ใหญ่ที่สุดของอำเภอรัษฎา จึงมีการตั้งสถานประกอบการ อาคารบ้านเรือน รวมทั้งมีรถราผ่านไปมาเป็นจำนวนมาก รวมทั้งยังเกี่ยวพันต่อพฤติกรรมบริโภคนิยมของผู้ป่วยด้วย เช่น การสูบบุหรี่ ซึ่งมีผลต่อการเกิดโรคได้ อย่างไรก็ตาม เพื่อให้ปัญหาความขัดแย้งเรื่องกองขยะคลี่คลายไปในทิศทางที่ดีขึ้น โรงพยาบาลรัษฎา ยินดีเป็นตัวกลางเจรจากับทุกฝ่าย พร้อมเสนอให้มีการทำวิจัยเพื่อศึกษาปัจจัย หรือตัวแปรที่ทำให้เกิดโรคทางเดินหายใจเฉียบพลัน โรคหลอดลมอุดตันเรื้อรัง หรือโรคหอบหืด แล้วนำไปเปรียบเทียบเทียบกับพื้นที่ข้างเคียง เพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน
 
 

 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น