ยะลา - ยะลาจัดกิจกรรมวันแรงงานแห่งชาติ ในขณะที่รองประธานหอการค้ายะลา เผยปัญหาแรงงานภาคการก่อสร้าง ได้รับผลกระทบหนัก จากปัญหาความไม่สงบในพื้นที่
วันนี้ (1 พ.ค.) เมื่อเวลา 09.00 น. ที่สนามวิทยาลัยเทคนิคยะลา อ.เมือง จ.ยะลา นายเดชรัฐ สิมศิริ ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา ได้เดินทางมาร่วมกิจกรรมเนื่องในวันแรงงานแห่งชาติต้านยาเสพติด เสริมสร้างธุรกิจฮาลาล จังหวัดยะลา ปี 2557 ซึ่ง สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จ.ยะลา จัดขึ้นเนื่องในวันแรงงานแห่งชาติ เพื่อเสริมสร้างขวัญกำลังใจแก่ลูกจ้าง สร้างสัมพันธ์อันดีระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง และเจ้าหน้าที่ภาครัฐ โดยมี กลุ่มผู้ใช้แรงงาน นายจ้างในสถานประกอบการ จ.ยะลา เข้าร่วมกิจกรรมเป็นจำนวนมาก
โดยการจัดกิจกรรมครั้งนี้ได้รับความร่วมมือจากส่วนราชการ หน่วยงาน สถานประกอบการเป็นอย่างดี มีการรวมพลังกลุ่มผู้ใช้แรงงานเดินรณรงค์ถือป้ายต่อต้านยาเสพติด ในเขตเทศบาลนครยะลา การแสดงตาลีกีปัส จากบัณฑิตแรงงาน ฟุตบอลคู่พิเศษ ฟุตบอลชาย 7 คน กีฬาพื้นบ้าน การแสดงดนตรี การจำหน่ายสินค้าราคาถูก นิทรรศการการรณรงค์ต่อต้านยาเสพติด นิทรรศการวันความปลอดภัยในการทำงานแห่งชาติ และรับบริการจากหน่วยงาน สำนักงานแรงงาน สำนักงานจัดหางาน สำนักงานประกันสังคม ศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงาน และหน่วยงานต่างๆ
นายเชษฐ์ชาณัฎฐ์ ลิ่มกาญจนา รองประธานหอการค้าจังหวัดยะลา เปิดเผยว่า สำหรับปัญหาแรงงานในพื้นที่จังหวัดยะลา ถ้ามองในภาพรวมแล้วขณะนี้ก็ไม่มีปัญหาอะไร ปัญหาที่ผ่านมาค่อนข้างเบาบางลง โดยเฉพาะธุรกิจก่อสร้าง ที่ปัจจุบัน โครงการต่างๆ ของภาครัฐก็ลดน้อยลง เนื่องจากงบประมาณ นอกจากนั้นในส่วนของธุรกิจบ้านจัดสรร ซึ่งขณะนี้อยู่ในจุดที่อิ่มตัว ปัญหาแรงงานในพื้นที่จึงลดน้อยลง แต่อย่างไรก็ตามในเรื่องของปัญหาแรงงานด้านก่อสร้างซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นแรงงานต่างด้าว ไม่ว่าจะเป็นชาวพม่า หรือชาวกัมพูชา แรงงานเหล่านี้มาทำงานในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ก็จะเป็นแรงงานที่เคลื่อนย้ายตลอด จะไม่อยู่กับที่ ปัญหาในเรื่องของใบอนุญาตทำงาน เพราะเมื่อแรงงานเหล่านี้เคลื่อนย้ายไปจังหวัดอื่นๆ ใบอนุญาตทำงานก็จะไม่สามารถใช้งานได้ทันที และจะไม่สามารถต่ออายุใบอนุญาตได้ ตนเองจึงอยากให้ภาครัฐเข้ามาดูแลแก้ไขปัญหาเหล่านี้ โดยผ่อนปรนให้สามารถต่ออายุใบอนุญาตทำงานให้กับกลุ่มคนเหล่านี้ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย อาจจะมีข้อแม้ว่าหากต่อใบอนุญาตทำงานให้ กลุ่มแรงงานต่างด้าวนี้จะไม่สามารถเปลี่ยนนายจ้างได้
“ปัจจุบันแรงงานที่เป็นคนในพื้นที่ จริงๆแล้วไม่ได้ขาดแคลนเลย ปัญหาคือกลุ่มภาคธุรกิจรับเหมาก่อสร้างเท่านั้น ที่จะพบปัญหา เนื่องจากแรงงานที่เป็นคนในพื้นที่ จะไม่ทำงานก่อสร้าง จึงจำเป็นจะต้องใช้แรงงานต่างด้าว เข้ามาทำงานแทน ส่วนแรงงานที่เป็นคนในพื้นที่ ก็ไปทำงานต่างๆ ที่ไม่ต้องใช้แรงงานเหมือนแรงงานก่อสร้าง” รองประธานหอการค้าจังหวัดยะลา กล่าว
นายเชษฐ์ชาณัฎฐ์ ยังกล่าวอีกว่า ในส่วนแรงงานฝีมือ ก็มีปัญหา ส่วนใหญ่จะไหลออกไปข้างนอกพื้นที่ เนื่องจากปัญหาความไม่สงบที่ส่งผลกระทบ อย่างชัดเจน ค่าจ้างเท่ากัน แต่ในพื้นที่ไม่มีความปลอดภัย แรงงานฝีมือเหล่านี้ จึงเลือกที่จะย้ายออกไปทำงานนอกพื้นที่ แต่อย่างไรก็ตามปัญหาหลักๆ ในพื้นที่ ขณะนี้คือปัญหาการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าว ที่อยากจะให้รัฐเร่งดำเนินการให้สามารถจดทะเบียนได้ตลอด โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้