ยะลา - ศอ.บต.จัดประชุมแนวทางขับเคลื่อนธุรกิจอาหารฮาลาล เสนอตั้งสำนักสนับสนุนการผลิตและธุรกิจอาหารฮาลาลชายแดนใต้เพื่อส่งออกสู่ต่างประเทศ ด้าน ปธ.สภาอุตสาหกรรมยะลารับควรปรับปรุงเรื่องรูปแบบบรรจุภัณฑ์ กระบวนการผลิตต้องสะอาดได้มาตรฐานระดับสากล หวังกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่
เมื่อวานนี้ (28 เม.ย.) เวลา 13.30 น. ห้องประชุม 1 ชั้น 3 อาคารอเนกประสงค์ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เป็นประธานการประชุมแนวทางการขับเคลื่อนธุรกิจฮาลาลจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมีว่าที่ ร.ต.เลิศเกียรติ วงศ์โพธิพันธ์ รองเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ผู้อำนวยการสำนัก/กอง ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องประมาณ 70 คน เข้าร่วมการประชุม
พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้เป็นการเสนอมุมมอง ข้อเสนอแนะ ที่ช่วยให้ธุรกิจฮาลาลสร้างคุณค่ากับภาคใต้ ธุรกิจการผลิตที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของภาคใต้
ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้เล็งเห็นความสำคัญและได้จัดตั้งสำนักสนับสนุนการผลิตและธุรกิจฮาลาลจังหวัดชายแดนภาคใต้ขึ้น เพื่อนำคุณค่าของธุรกิจฮาลาลเป็นพื้นฐานในการพัฒนาธุรกิจฮาลาลในพื้นที่และต่อยอดการพัฒนาธุรกิจฮาลาลไปยังประเทศต่างๆ โดยนำข้อมูลต่างๆ จากทุกคนมาบูรณาการร่วมกัน สร้างให้ธุรกิจฮาลาลในพื้นที่มีความเข้มแข็ง
ทั้งนี้ ทางศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้จะมีกิจกรรมที่ประเทศมาเลเซีย โดยนำมหกรรม “มวยไทยไฟท์” ไปจัด ทำให้เกิดมูลค่าทางด้านการค้า การลงทุนอีกทางหนึ่ง ทั้งนี้ อยากจะให้หน่วยงานในพื้นที่ได้ตระหนักถึงการใช้ทรัพยากรในภาคใต้ของเรา ในด้านของการจัดสัมมนาในจังหวัดภายในภาคใต้ การใช้ทรัพยากรในพื้นที่ ซึ่งต้องช่วยกัน ถือเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในภาคใต้ของเรา
ทางด้านนายฟุ้ง สุขเสรีทรัพย์ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดยะลา ได้ให้ความเห็นว่า จากการเข้าร่วมงานสัปดาห์ฮาลาล 2014 (MIHAS) สินค้าในพื้นที่ภาคใต้เป็นสินค้าที่มีคุณภาพเป็นที่ได้รับการยอมรับอย่างมาก แต่สิ่งที่อยากจะแนะนำในเรื่องของบรรจุภัณฑ์ต้องให้มีความทันสมัย โดดเด่น เรื่องของโรงงานต้องมีความสะอาด ได้มาตรฐาน และเรื่องของกำลังการผลิตสินค้าและวัตถุดิบในพื้นที่ว่าเพียงพอหรือไม่หากมียอดสั่งซื้อจำนวนมาก
สำหรับ นายสืบศักดิ์ กลิ่นสอน ผู้อำนวยการสถาบันฮาลาล มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้แสดงความคิดเห็นว่า ผู้ประกอบการมีการตื่นตัวในเรื่องของการส่งออกผลิตภัณฑ์ฮาลาล แต่จากการเข้าร่วมงานสัปดาห์ฮาลาล 2014 (MIHAS) ที่ผ่านมา ทำให้ผู้ประกอบการธุรกิจฮาลาลได้เห็นถึงจุดอ่อนของตนเองในเรื่องของภาษาในการสื่อสาร ภาษาบนฉลากผลิตภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์ ทำให้ทางสถาบันฮาลาล มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้จัดโครงการเกี่ยวกับการอบรมภาษาเกี่ยวกับการติดต่อสื่อสารในการค้าขาย และการออกฉลากผลิตภัณฑ์ที่แสดงให้เห็นส่วนผสมของผลิตภัณฑ์เป็นภาษาอังกฤษ เพื่อเป็นการยกระดับผลิตภัณฑ์ในอีกทางหนึ่งด้วย
สำหรับการจัดงาน THE 1th MALAYSIA INTERNATIONAL HALAL SHOWCASE หรืองาน MIHAS 2014 ได้จัดขึ้นระหว่างวันที่ 9-12 เมษายน 2557 ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย เป็นการบูรณาการระหว่าง 3 หน่วยงาน ซึ่งจัดในรูปแบบ Thailand Pavilion ประกอบด้วยส่วนแรก คือ กระทรวงการต่างประเทศ นำเสนอศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ส่วนที่สองคือ สถาบันอาหาร นำผู้ประกอบการไปเชื่อมโยงและเจรจาการค้า พร้อมทั้งจัดนิทรรศการอาหารไทย และส่วนที่สามคือ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศอ.บต.
ซึ่งทาง ศอ.บต.เอง ได้นำเสนอ 2 ส่วน คือ Part 1 Halal Product/Service 10 คูหา นำผู้ประกอบการไปเชื่อมโยงและเจรจาการค้า 10 ราย Part 2 Halal Support 2 คูหา คือสถาบันฮาลาล มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ประชาสัมพันธ์ด้านวิทยาศาสตร์ฮาลาล นวัตกรรมฮาลาลและสินค้าในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตลอดจนสิทธิประโยชน์การค้าการลงทุนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยได้จัดทำเป็นนิทรรศการและเอกสารเพื่อนำเสนอพหุวัฒนธรรมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งแสดงถึงการอยู่ร่วมกัน เช่น เทศกาลฮารีรายอ เทศกาลชักพระ เทศกาลกินเจ โดยจัดทำเป็นนิทรรศกาลพร้อมจุดถ่ายภาพภายในงาน ได้รับความสนใจจากผู้ที่มาเข้าชมงานเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะสินค้าอาหารฮาลาลจากประเทศไทย ทั้งนี้ ผลการนำผู้ประกอบการจากจังหวัดชายแดนภาคใต้เข้าร่วมงานมียอดจำหน่ายสินค้า 158,920 บาท และมียอดสั่งซื้อ 5,000,000 บาท