xs
xsm
sm
md
lg

องค์กรคุ้มครองผู้บริโภคภาคใต้ ชี้อาหารฮาลาลเปื้อนหมู หวั่นกระทบเปิด AEC

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - เครือข่ายองค์กรคุ้มครองผู้บริโภคภาคใต้ เปิดเวทีระดมความคิด ชี้ขนมขายเด็กหน้าโรงเรียนมีอันตราย ไม่มี อย. แสดงข้อมูลฉลากไม่ครบถ้วน มีการโฆษณาสรรพคุณสินค้าทางเคเบิลทีวีเกินจริง อาหารฮาลาลไม่จริง ปลอมปนเนื้อหมู กรรมวิธีผลิตไม่ถูกต้อง พร้อมแนะเร่งตั้งองค์กรอิสระตามกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคอย่างจริงจัง

วันนี้ (23 เม.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่โรงแรมไดอิชิ หาดใหญ่ จ.สงขลา เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภาคใต้ได้ จัดโครงการเวทีสาธารณะเพื่ออาหารปลอดภัยภาคใต้ครั้งที่ 3 โดยมีเนื้อหาหลักในเวทีคือ การนำเสนอสถานการณ์ปัญหาการคุ้มครองผู้บริโภคด้านอาหารของภาคใต้ใน 3 ประเด็นคือ ฉลากอาหาร การโฆษณาผิดกฎหมาย และการแสดงเครื่องหมายฮาลาล

น.ส.สิรินนา เพชรรัตน์ ผู้ประสานงานโครงการบริโภคสร้างสรรค์ กล่าวว่า จากการสำรวจฉลากของขนมเด็กที่จำหน่ายหน้าโรงเรียนในจังหวัดสงขลา และสุราษฎร์ธานี จำนวน 272 รายการ พบว่ากว่า 1 ใน 3 ของฉลากที่สำรวจมีปัญหาการแสดงข้อมูลบนฉลากไม่ครบถ้วน ไม่เป็นไปตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับที่ 194 เรื่องฉลากอาหาร ปี พ.ศ.2543 เช่น ไม่แสดงวัน เดือน ปี ที่หมดอายุของผลิตภัณฑ์ แสดงเลขที่ อย.อันเป็นเท็จ ซึ่งเป็นปัญหาอย่างยิ่ง และอาจก่อให้เกิดอันตรายได้

นางกัลยทรรศ์ ติ้งหวัง ผู้ประสานงานเครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภคจังหวัดสตูล กล่าวว่าจากการสำรวจอาหารฮาลาลของเครือข่ายอาสาฯ พบปัญหาอย่างมากมาย เช่น ฮาลาลที่ไม่อยู่ในสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน ไม่แสดงวันหมดอายุของเครื่องหมายฮาลาล หรือแสดงวันหมดอายุของเครื่องหมายที่มีขนาดเล็กจนมองไม่เห็น อีกทั้งมีการแอบอ้างเครื่องหมายฮาลาลปลอม มีการตรวจพบการปลอมปนหมูในอาหารฮาลาล วัตถุดิบที่นำมาใช้ทำอาหารฮาลาลไม่เป็นไปตามหลักทางศาสนาอิสลาม มีการหลอกขายอาหารฮาลาล อีกทั้งยังเสนอแนะว่าในนี้ประเทศไทยยังไม่มี พ.ร.บ.ฮาลาล ซึ่งเป็นกฎหมายที่ควบคุมการผลิตอาหารฮาลาลเหมือนในต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปี 2558 จะมีการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน จะมีนักท่องเที่ยวจากประเทศมาเลเซีย และอินโดนิเซีย เข้ามาท่องเที่ยวอาจส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เนื่องจากประเด็นเรื่องศาสนาเป็นสิ่งที่ละเอียดอ่อน

น.ส.จุฑา สังขชาติ เลขาธิการสมาคมผู้บริโภคสงขลา กล่าวว่า จากการเฝ้าระวังปัญหาการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพทางสถานีวิทยุ และและเคเบิลทีวี พบปัญหาการโฆษณาผลิตภัณฑ์อาหาร หรือเครื่องสำอางที่โฆษณาเกินกว่าสรรพคุณที่ได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมายผ่านสื่อดังกล่าว

การคุ้มครองผู้บริโภคด้านอาหารมีความอ่อนแอ เครือข่ายผู้บริโภคภาคใต้จึงเห็นควรที่จะต้องมีการปฏิรูปการคุ้มครองผู้บริโภคด้านอาหารในภาคใต้ จึงมีข้อเสนอ ดังนี้ 1.ให้รัฐบาล และสภาผู้แทนราษฎรเร่งผลักดันร่างพระราชบัญญัติองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ที่ขณะนี้ผ่านการพิจารณาจากวุฒิสภาแล้ว และอยู่ระหว่างรอการพิจารณาจากสภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้มีกลไกการตรวจสอบการทำงานคุ้มครองผู้บริโภคของภาครัฐ เป็นตัวแทนของผู้บริโภคในการร่วมกำหนดนโยบายด้านการคุ้มครองผู้บริโภค

2.ให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เพิ่มเติมประกาศกระทรวงสาธารณสุขเรื่องฉลากอาหารฉบับใหม่ ดังนี้ 2.1 ให้มีการแสดงวันหมดอายุของอาหารเป็นภาษาไทย เรียงลำดับเป็น วัน เดือน ปี 2.2 ยกเลิกคำว่าควรบริโภคก่อน และใช้เฉพาะคำว่า “วันหมดอายุ” เท่านั้น เพื่อป้องกันปัญหาการสับสน 2.3 ให้มีการแสดงคำเตือนของอาหารที่มีส่วนประกอบของสารที่อาจก่อภูมิแพ้ 2.4 ให้มีการแสดงส่วนประกอบของอาหารที่มาจากการตัดต่อ/ดัดแปรพันธุกรรม (GMOs)

3.เร่งรัดพัฒนาระบบเตือนภัยอาหารไม่ปลอดภัย 4.สร้างระบบการเชื่อมโยงกลไกการคุ้มครองผู้บริโภคระหว่างรัฐกับประชาสังคมที่เป็นรูปธรรม 5.ปรับปรุงกฎหมาย และกระบวนการบังคับใช้กฎหมายเรื่องการควบคุมโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพ

 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น