ยะลา - นักเรียนไทยใน จชต. เข้าขอบคุณเลขาธิการ ศอ.บต. หลังผลักดันจนมหาวิทยาลัยอิสลามมะดีนะห์ ประเทศซาอุดีอาระเบีย จัดสรรทุนการศึกษาระดับปริญญาตรี โท เอก ให้นักเรียนในจังหวัดชายแดนภาคใต้กว่า 30 ทุน
เมื่อวานนี้ (16 เม.ย ) ที่ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ นักศึกษาในพื้นที่ทั้งจากจังหวัดยะลา ปัตตานี และนราธิวาส ที่สอบชิงทุนของมหาวิทยาลัยอิสลามมาดีนะห์ ประเทศซาอุดีอาระเบีย ในระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก กว่า 30 คน พร้อมด้วยผู้ปกครอง เข้าพบ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อแสดงความขอบคุณ หลังจากที่ ศอ.บต.ได้ดำเนินงานเป็นผู้ประสาน และสร้างสัมพันธ์อันดีระหว่างรัฐบาลซาอุฯ กับรัฐบาลไทย
กระทั่งเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2556 ที่ผ่านมา ที่ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เลขาธิการ ศอ.บต.ได้เชิญ ดร.อับดุลการีม บิน อีซา อัรรุหัยลีย์ รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยอิสลามมาดีนะห์ ประเทศซาอุดีอาระเบีย ในฐานะประธานผู้จัดสรรทุนการศึกษา พร้อมคณะเดินทางมามอบทุนแก่นักศึกษาไทย และเยี่ยมเยียนสถาบันการศึกษาเอกชนสอนศาสนาอิสลาม เพื่อรับรองคุณวุฒิของโรงเรียนที่ยังไม่ได้รับการรับรองคุณวุฒิในการจัดการเรียนการสอน พร้อมทั้งพูดคุย และหารือเรื่องของการส่งเสริมการศึกษาของเยาวชนในพื้นที่ โดยมี พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการ ศอ.บต. พร้อมด้วย ดร.มะรอนิง สาแลมิง รองเลขาธิการ ศอ.บต. ให้การต้อนรับ
โดยในครั้งนั้น ดร.อับดุลการีม ได้พูดถึงการจัดสรรทุนแก่นักเรียนที่สำเร็จการศึกษาระดับซานาวีย์ สำหรับนักเรียนไทยมุสลิมที่มีภูมิลำเนาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อเข้าศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยอิสลามมะดีนะห์ เพื่อสร้างโอกาสทางการศึกษาให้นักเรียนไทยได้รับการศึกษาที่ดี มีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลมากขึ้น รวมทั้งยังเป็นการกระชับสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่าง 2 ประเทศให้แน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น เเละความพร้อมที่จะร่วมมือกันพัฒนาคุณภาพการศึกษาของเยาวชนต่อไป โดยเฉพาะทางด้านการศึกษาที่ทาง ศอ.บต. ให้ความสำคัญต่อประชาชนในพื้นที่ทั้งภาษาไทย ภาษาอาหรับ ภาษามลายู และภาษาต่างประเทศ
ดร.มะรอนิง สาแลมิง รองเลขาธิการ ศอ.บต. กล่าวด้วยว่า ในโอกาสที่นักศึกษาไทยที่นับถือศาสนาอิสลามได้รับทุนจากรัฐบาลซาอุดีอาระเบีย ที่จะไปศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยอิสลามมาดีนะห์ ณ นครเมกกะ ประเทศซาอุดีอาระเบีย เป็นการดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาลที่จะสนับสนุนการศึกษาของลูกหลานให้มีโอกาสศึกษาต่อในต่างประเทศ โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งมีศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือที่รู้จักกันในนาม ศอ.บต.ได้มีความพยายามในการที่จะนำนโยบายของรัฐบาลดังกล่าวให้เกิดเป็นจริงขึ้น จึงมีการสานสัมพันธ์กับทางมหาวิทยาลัยอิสลามแห่งนครมาดีนะห์ โดยได้ประสานติดต่อเพื่อให้ทางอาจารย์ให้มาเยี่ยมเยียนพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ตลอดจนส่วนอื่นของประเทศไทย
ด้วยความพยายามดังกล่าว ในช่วง 6 เดือนก่อนนี้ ก็มีคณะอาจารย์ของมหาวิทยาลัยอิสลามมาดีนะห์ ได้เดินทางมาประเทศไทย และได้มีโอกาสทำการสอบคัดเลือกนักศึกษาไทยที่จะไปศึกษาต่อในประเทศซาอุดีอาระเบีย จำนวน 30 ทุน วันนี้การดำเนินการของรัฐบาล และ ศอ.บต.ที่ดำเนินการให้ความสะดวกนักศึกษาในการคัดเลือก และทุนของประเทศซาอุดีอาระเบียก็ได้มาถึงยังสถานทูตซาอุดีอาระเบียในประเทศไทย นักศึกษา จำนวน 30 คน ได้มีการเตรียมการประสานงาน โดยทาง ศอ.บต.ได้มีส่วนร่วมในการประสานกับองค์กร และภาครัฐที่มีส่วนเกี่ยวข้อง เพื่อให้ได้รับวีซ่า (VISA) และการเดินทางไปสู่ประเทศซาอุดีอาระเบีย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นลูกหลานของคนในจังหวัดชายแดนภาคใต้
ด้วยโอกาสที่ดีอันนี้ คณะผู้ปกครอง ตลอดจนนักศึกษาที่ได้รับทุนดังกล่าวมาเยี่ยมเยียน ศอ.บต. และขอบคุณ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งได้เข้ามาขอบคุณ และฟังโอวาทจากท่าน ซึ่งเป็นโอกาสที่สำคัญที่เราได้รับโอกาสจากรัฐบาลซาอุดีอาระเบีย ที่ได้เปิดโอกาสให้ลูกหลานมุสลิมได้ศึกษาต่อ ซึ่งคาดหวังในอนาคตบุคคลเหล่านี้ หลังจากจบการศึกษาแล้วก็จะเป็นต้นทุนทางสังคมในการเป็นผู้สร้างสรรค์ และสร้างประโยชน์แก่สังคมต่อไป
ซึ่งช่วงก่อนหน้านี้ รัฐบาลไทยกับรัฐบาลซาอุดีอาระเบีย โดยเฉพาะการให้ความร่วมมือกับพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ว่ามีน้อยแค่มาก ในอดีตนั้นความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลซาอุดีอาระเบียก็เป็นไปตามปกติ โดยช่วงนั้นรัฐบาลซาอุดีอาระเบียก็ได้ให้ทุนแก่นักศึกษาไทยมุสลิมไปศึกษาต่อในแต่ละปี โดยจะมีอัตราที่ต่างกัน บางปีก็ 10 คน บางปีก็ 15 คน บางปีก็ 20 คน หลังจากมีความสัมพันธ์ที่ทราบกันก็คือว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นใน กทม.หลังจากที่เกิดเหตุการณ์คนงานไทยที่ไปทำงานในประเทศซาอุดีอาระเบีย และกลับมามีคดีที่เราเพิ่งทราบกัน ทำให้บางช่วงบางตอน รัฐบาลซาอุดีอาระเบียได้ตัดทุนบางส่วน อัตราการให้ทุนจึงลดน้อยลง และเมื่อ 7-8 ปีก่อน ระยะเวลา 4 ปีติดต่อกัน ทางรัฐบาลซาอุดีอาระเบีย ได้ตัดโควตาทุนการศึกษาของเด็กไทยออกไป
แต่ด้วยความพยายามในระดับพื้นที่ โดยเฉพาะ ศอ.บต.โดยการสานสัมพันธ์ในระดับอาจารย์ที่มีอยู่ในมหาวิทยาลัยอิสลามมาดีนะห์ เพื่อให้ทุนการศึกษาที่มีอยู่นั้น ได้มีการจัดสรรให้แก่นักศึกษาที่อยู่ในประเทศไทย ตลอดจนทาง ศอ.บต.ได้เชิญทางอาจารย์มหาวิทยาลัยอิสลามมาดีนะห์ ได้มาเยี่ยมเยียนพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และเยี่ยมเยียนประเทศไทย ซึ่งเป็นโอกาสที่ดีที่เราได้เห็นภาพมุสลิมจำนวนมาก โดยเฉพาะใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เห็นถึงวิถีชีวิตต่างๆ ที่อยู่กับวิถีศาสนา และบทบาทในการสร้างสรรค์สังคมที่ดี จนเป็นที่มาของการให้ทุนแก่นักศึกษาไทยอีกครั้ง ซึ่งในเวลา 2-3 ปี ก็มีการเพิ่มขึ้น ซึ่งในปีนี้ก็ถือว่าเป็นจำนวนที่มากพอสมควร นั่นคือ 30 ทุนด้วยกัน ความสัมพันธ์ที่ทางรัฐบาลซาอุดีอาระเบีย และมหาวิทยาลัยฯ ได้เล็งเห็นถึงบทบาทของผู้ที่จบการศึกษาในประเทศซาอุดีอาระเบีย เป็นการทำงานในเชิงสันติและให้ประโยชน์แก่สังคม ซึ่งเป็นสิ่งที่ทางมหาวิทยาลัยมาดีนะห์ และทางรัฐบาลซาอุดีอาระเบีย รู้สึกภาคภูมิใจในสิ่งเหล่านี้ ศอ.บต.เองก็มีบทบาทสำคัญที่ถือเป็นองค์กรหลักในพื้นที่ที่เล็งเห็นความสำคัญของการศึกษาของลูกหลานของคนในพื้นที่ โดยเฉพาะโอกาสที่จะได้ศึกษาต่อในซาอุดีอาระเบีย ซึ่งถือเป็นมหาวิทยาลัยที่ได้ความน่าเชื่อถือระดับโลก และได้รับการยอมรับจากคนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่อยู่ที่นั้น
ด้าน นายไซนุดดีน เจ๊ะบือราเฮง นักศึกษาจาก ร.ร.นูรุดดีน อ.ตากใบ จ.นราธิวาส ผู้ได้รับทุนการศึกษา กล่าวว่า “ผมคิดว่าประเทศซาอุดีอาระเบีย เป็นประเทศที่ทุกคนใฝ่ฝันว่าอยากจะไปเรียนต่อ เพราะเป็นทุนที่สามารถไปกลับในทุกปีก็ว่าได้ เพราะในประเทศอื่นไม่ได้เป็นอย่างนี้ มหาวิทยาลัยอิสลามมาดีนะห์ เป็นมหาวิทยาลัยที่มุสลิมทั่วประเทศใฝ่ฝันอยากจะไปเรียน ผมขออัลฮัมดุลิลละห์ ซึ่งมีเด็กให้ความสนใจทั่วประเทศไทยที่เข้ามาแข่งขัน โดยเฉพาะเด็กมุสลิม ซึ่งข้อสอบในระดับแรกก็จะถามทั่วไปว่าคิดอย่างไรที่จะไปเรียนในประเทศซาอุดีอาระเบีย และความรู้ทั่วไปของประเทศซาอุดีอาระเบียว่ารู้จักใครบ้างในประเทศของเขา ที่คุณได้เรียนและศึกษามา สิ่งสำคัญคือ คุณต้องการไปที่นั่นเพราะอะไร ซึ่งตอนนี้ผมสอบได้แล้ว ผมรู้สึกดีใจมากเลยครับ ผมจะนำความรู้ที่ได้มาสืบทอดให้แก่น้องๆ ครับ และเมื่อผมเรียนจบแล้วจะกลับมาทำงานที่บ้าน เพื่อเชิดชูศาสนาอิสลาม และผมใฝ่ฝันอยากจะเป็นอุซตาส และดาอี หรือ ครูสอนศาสนาอิสลาม
ถ้าเป็นไปได้ก็จะต้องไปสอนในพื้นที่ภาคกลาง และภาคอื่นๆ ด้วย เพียงแต่คนในจังหวัดชายแดนภาคใต้มีผู้ที่นับถือศาสนาอิสลามมาก จึงต้องมาสอนที่นี่ เพื่อเป็นการดาวะห์คนอื่นต่อ ซึ่งดาวะห์จะเป็นการเชิญชวนในฟื้นฟูศาสนาอิสลาม ผมคิดว่าถ้าเรามีเด็กในพื้นที่ของเราไปศึกษาในเมืองนอกมากขึ้น เราจะได้มีโอกาสพัฒนาการศึกษาในบ้านเรา ผมอยากจะฝากว่าการศึกษาไม่จำเป็นว่าจะเป็นต่างประเทศ ถ้าเรามีคุณธรรม จริยธรรม เราก็สามารถที่จะศึกษาที่ใดก็ได้ ซึ่งเราจะได้บูรณาการตัวของเราได้ และอยากจะขอบคุณ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการ ศอ.บต.และ ดร.มะรอนิง สาแลมิง รองเลขาธิการ ศอ.บต.ที่ได้ประสานงาน และอำนวยความสะดวกให้แก่เด็กในพื้นที่ ซึ่งทำให้นักศึกษาไทยได้มีสัมพันธ์กับต่างประเทศมากขึ้น อยากขอบคุณมา ณ ที่นี้ด้วยครับ และอยากจะฝากถึงน้องๆ ให้พยายามต่อไป ความรู้ไม่จำเป็นต้องเป็นต่างประเทศ เพราะในประเทศไทยก็มีสถานศึกษาเป็นจำนวนมากให้ได้เลือกเรียน อยากให้เรามีความภูมิใจไม่ว่าจะเป็นสถานศึกษา ณ แห่งไหนก็แล้วแต่ เพราะเป็นแหล่งที่ให้ความรู้ และที่ไหนก็สำเร็จเหมือนกันครับ”
เฉกเช่นเดียวกับ นายมูฮำหมัด มะเกะ นักศึกษาจากโรงเรียนพัฒนาวิทยา อ.เมือง จ.ยะลา กล่าวว่า “ผมอยากจะไปศึกษาต่อที่ประเทศซาอุดีอาระเบีย เพราะที่นั่นเป็นสถานที่ของนบีมูฮัมหมัด และเป็นสถานที่ที่นบีมูฮัมหมัด อพยพไปอยู่ที่นั่น ไปปักหลักอยู่ที่นั่น และมีมัสยิดนาบาวี หรือมัสยิดนบี ซึ่งเป็นมัสยิดที่ศักดิ์สิทธิ์แห่งหนึ่ง และก็เป็นสถานที่สงบด้วย ผมดีใจมาก พ่อและแม่ ชาวบ้านก็ภูมิใจ ผมเป็นชาวบ้านตำบลโกตาบารู จ.ยะลา ชาวบ้านในโกตาบารูเป็นเวลากว่า 10 ปีแล้วไม่มีใครได้มีโอกาสไปเรียนต่อยังต่างประเทศ ตั้งแต่รุ่นโต๊ะอิหม่าม และโต๊ะครู เป็นสิบๆ ปีแล้ว ซึ่งผมคือความภาคภูมิใจของหมู่บ้านเลยก็ว่าได้ครับ โดยผมอยากเรียนสายดาวะห์ เป็นผู้ที่เผยแผ่ศาสนา เพราะสังคมสมัยนี้ปั่นป่วน และแย่มาก ซึ่งผมอยากเป็นส่วนหนึ่งที่จะเปลี่ยนแปลงสังคม ซึ่งผมจะต้องเปลี่ยนแปลงตัวเองก่อน ผมคิดว่าเยาวชนมีความสำคัญต่อการศึกษามาก เพราะการศึกษาสามารถที่จะทำให้เยาวชนไม่ตกอยู่กับความย่ำแย่ อยากให้ภาครัฐส่งเสริมการศึกษาให้มากขึ้น เพราะเยาวชนจะติดยาเสพติด สาเหตุส่วนหนึ่งคือ การไม่ได้รับการศึกษาที่ดี โดยเฉพาะการศึกษาด้านศาสนา ซึ่งจะทำให้เยาวชนมีคุณธรรม จริยธรรม และห่างไกลจากยาเสพติด ผมอยากขอบคุณทางโรงเรียน ครูบาอาจารย์ พ่อแม่พี่น้อง และเพื่อนๆ ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยเดินเรื่องให้ด้วยครับ”
นอกจากนี้ นายซุกรีย์นูร จงรักศักดิ์ ผู้ปกครองของนักศึกษาที่ได้รับทุน กล่าวด้วยความปลื้มปีติด้วยว่า “ผมประกอบอาชีพทำสวน มีลูก 6 คน ผมมีแนวคิดว่าจะต้องสอนลูกให้มีคุณธรรมจริยธรรม ผมจึงส่งลูกเรียนศาสนาควบคู่กับสายสามัญทั้ง 6 คน มหาวิทยาลัยอิสลามมาดีนะห์ เป็นมหาวิทยาลัยนานาชาติจริงๆ ที่มีนักเรียนมากกว่า 200 ประเทศมารวมอยู่ที่นั่น ซึ่งเป็นโอกาสที่จะทำให้นักเรียนสามารถที่จะต่อยอด และเชื่อมสัมพันธ์กับคนทุกชาติ ทุกกลุ่ม ทุกเชื้อชาติ ทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็น ญี่ปุ่น อเมริกา แอฟริกา เป็นโอกาสที่เขาจะได้กินอยู่ และแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมร่วมกัน โอกาสนี้ สามารถที่จะสร้างคุณประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติในอนาคต ผมคิดว่าทุกอย่างจะต้องพัฒนาที่ฐานการศึกษา เพราะถ้าไม่มีการศึกษาทุกอย่างก็คงมืด ลูกๆ ของผมทุกคนมักจะเล่าถึงปัญหาของสังคม ซึ่งจะต้องใช้ความรู้เป็นทุน ผมคิดว่าถ้าเด็กมีการศึกษา โดยเฉพาะการศึกษาด้านอิสลาม เป็นการศึกษาให้เน้นการรู้จักกับพระเจ้า เวลารู้จักพระเจ้า เขาจะรู้สึกว่าพระเจ้ากำลังควบคุมอากัปกิริยาของเขา ทำให้เขาไม่หันเหออกในทางที่ไม่ดี ซึ่งสิ่งที่ไม่ดีต่างๆ นั้น ล้วนเป็นคำฝ่าฝืนของศาสนาทั้งสิ้น
ผมอยากขอบคุณมหาวิทยาลัยอิสลามมาดีนะห์ ที่ได้ให้ทุนแก่นักเรียนในประเทศไทย ซึ่งเป็นทุนที่นับว่าเป็นความพิเศษที่ให้มา เพราะการศึกษาในซาอุดีอาระเบีย ต่อให้คุณมีเงิน คือถ้าจะใช้ทุนเอง เขาจะไม่รับ ซึ่งจะต้องสอบเท่านั้น แม้จะร่ำรวยก็ตาม และต้องขอบคุณผู้ประสานงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งทาง ศอ.บต.ได้ทำการติดต่อสัมพันธ์ในทุกมิติทำให้ทุนสามารถสานต่อมาจนถึงรุ่นนี้มากพอที่จะทัดเทียมกับประเทศอื่น อย่างพม่า เวียดนาม เขมร ซึ่งทางมหาวิทยาลัยแห่งนี้เขาให้แก่ทุกชาติ แม้ว่าประเทศไทยของเราจะล่าช้ากว่าเพื่อนสักเล็กน้อย ผมขอบคุณพระเจ้า และขอบคุณรัฐบาลที่ทำให้ได้รับทุนอย่างต่อเนื่อง” นายซุกรีย์นูร กล่าวทิ้งท้ายด้วยความตื้นตัน