xs
xsm
sm
md
lg

“หาดใหญ่โพล” ชี้พิษการเมืองทำปีใหม่ไทยเศร้า “กำนัน” ยังฮิตคนอยากสาดน้ำมากสุด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - “หาดใหญ่โพล” เผยผลสำรวจหัวข้อ “สุขสงกรานต์ เบิกบานคลายร้อน” เผยประชาชนส่วนใหญ่เห็นความสำคัญการทำบุญมากกว่าการเล่นสาดน้ำ ต้องการใช้เวลาอยู่กับครอบครัวมากกว่าเที่ยวนอกบ้าน ชี้พิษการเมืองตัวการทำสงกรานต์เงียบเหงา ด้านกระแส “กำนันสุเทพ” ยังแรงคนไทยอยากสาดน้ำมากสุด

“หาดใหญ่โพล” โดยสำนักวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ สำรวจความคิดเห็นประชาชนเกี่ยวกับ “สุขสงกรานต์ เบิกบานคลายร้อน” ซึ่งกลุ่มตัวอย่างในการสำรวจครั้งนี้เป็นประชาชนในจังหวัดสงขลา จำนวน 400 คน โดยใช้แบบสอบถามเป็นเครื่องมือในการเก็บรวบรวมข้อมูล ดำเนินการระหว่างวันที่ 7-10 เมษายน 2557 ผลการสำรวจสรุปได้ดังนี้

การสำรวจครั้งนี้กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง (ร้อยละ 56.01) เพศชาย (ร้อยละ 43.99) ช่วงอายุตั้งแต่ 9-53 ปี โดยมีอายุเฉลี่ย 24.26 ปี เป็นนักเรียนนักศึกษามากที่สุด (ร้อยละ 44.16) รองลงมาเป็นพนักงานบริษัท หรือองค์กรเอกชน (ร้อยละ 15.58) ประกอบอาชีพค้าขาย (ร้อยละ 14.29) ดำเนินธุรกิจอิสระ (ร้อยละ 11.43)

ผศ.ดร.กอแก้ว จันทร์กิ่งทอง รักษาการผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ เปิดเผยผลการสำรวจหาดใหญ่โพล พบว่า เมื่อถึงวันสงกรานต์สิ่งที่ประชาชนนึกถึงมากที่สุด คือ การทำบุญต่างๆ เช่น ทำบุญอัฐิ ใส่บาตรถวายสังฆทาน (ร้อยละ 29.01 ) รองลงมาคือ การรดน้ำขอพรจากผู้ใหญ่และการสรงน้ำพระ (ร้อยละ 20.36) การเล่นสาดน้ำกันอย่างสนุกสนาน (ร้อยละ 17.05) เป็นวันหยุดยาวสำหรับการพักผ่อน และอยู่กับครอบครัว (ร้อยละ 13.28) อุบัติเหตุพร้อมความสูญเสียชีวิตและทรัพย์สิน (ร้อยละ 12.47) และเป็นเทศกาลแห่งการดื่ม และการเลี้ยงฉลอง (ร้อยละ 4.83) ตามลำดับ

สงกรานต์ปีนี้ประชาชนส่วนใหญ่จะทำกิจกรรมส่วนตัวกับครอบครัว/คนใกล้ชิด (ร้อยละ 57.70) และคิดว่าจะร่วมเล่นสงกรานต์ตามสถานที่ที่มีการจัดงาน (ร้อยละ 38.40) ประชาชนส่วนใหญ่เห็นว่าบรรยากาศทางการเมืองที่ไม่ชัดเจนส่งผลให้เทศกาลวันสงกรานต์ปีนี้เงียบเหงากว่าปีก่อน กล่าวคือ ประชาชนเห็นว่าส่งผลมาก (ร้อยละ 48.70) ส่งผลปานกลาง (ร้อยละ 27.70) ส่งผลน้อย (ร้อยละ 14.40) และไม่ส่งผลเลย (ร้อยละ 9.20)

การกระทำที่ประชาชนคิดว่าเป็นอันตรายต่อประเพณีอันดีงามในวันสงกรานต์มากที่สุด คือ การฉวยโอกาสลวนลามผู้หญิงขณะเล่นสงกรานต์ และการแต่งตัวโป๊/การแสดงโชว์ยั่วยุอารมณ์ทางเพศ (ร้อยละ 50.30) รองลงมาคือ การทะเลาะวิวาท (ร้อยละ 40.10) การเล่นสงกรานต์ด้วยอุปกรณ์ที่สุ่มเสี่ยงต่ออันตราย (ร้อยละ 30.20) และการขับรถด้วยความคึกคะนอง ประมาท ขาดสติ (ร้อยละ 29.70)

ดารา/นักร้องหญิงที่ประชาชนอยากให้ใส่ชุดแฟชั่นหน้าร้อนมากที่สุด คือ อั้ม พัชราภา (ร้อยละ 23.54) รองลงมาคือ ชมพู่ อารยา (ร้อยละ 21.77) แพนเค้ก เขมนิจ (ร้อยละ13.92) ก้อย รัชวิน (ร้อยละ 11.65) และหญิงลี (ร้อยละ 7.34) ดารา/นักร้องชายที่ประชาชนอยากให้ใส่ชุดแฟชั่นหน้าร้อนมากที่สุด คือ บี้ สุกฤษฎิ์ (ร้อยละ15.96) รองลงมาคือ ณเดชน์ (ร้อยละ15.70) พอร์ซ ศรัณย์ และบอย ปกรณ์ (ร้อยละ 14.68) มาริโอ้ เมาเร่อ (ร้อยละ 12.15) และโดม ปกรณ์ ลัม (ร้อยละ 11.90)

บุคคลแต่ละอาชีพที่ประชาชนอยากร่วมเล่นสงกรานต์ด้วยมากที่สุด เป็นดังนี้คือ นักกีฬาชาย ธีรเทพ วิโนทัย (ร้อยละ 26.09) บัวขาว ป.ประมุข สุเชาว์ นุชนุ่ม และธีรศิลป์ แดงดา (ร้อยละ 17.39) บุญศักดิ์ พลสนะ (ร้อยละ 13.04 ) นักกีฬาหญิง ปลื้มจิตร์ ถินขาว (ร้อยละ 40.74) อรอุมา สิทธิรักษ์ (ร้อยละ 37.04) นุศรา ต้อมคำ (ร้อยละ 18.24) รัชนก อินทนนท์ (ร้อยละ 11.11) ทัดดาว นึกแจ้ง (ร้อยละ 7.67)

ดารา/นักร้องชาย มาริโอ เมาเร่อ (ร้อยละ 28.21) เจมส์ จิรายุ (ร้อยละ 23.08) หมาก ปริญญ์ (ร้อยละ 12.82) ตูน บอดี้สแลม และบอย ปกรณ์ (ร้อยละ 10.26) ดารา/นักร้องหญิง อั้ม พัชราภา (ร้อยละ 33.33) หญิงลี (ร้อยละ 27.54) คิม คิมเบอร์รี่ (ร้อยละ 20.29) แพนเค้ก (ร้อยละ 18.84) นักการเมือง ลุงกำนันสุเทพ (ร้อยละ 61.64) อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (ร้อยละ 15.07) ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (ร้อยละ 10.96) ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ (ร้อยละ 6.85) ชวน หลีกภัย (ร้อยละ 5.48 )

ประชาชนคิดว่าสถานการณ์อันร้อนแรงที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในหน้าร้อนมากที่สุด คือ การเผชิญหน้าระหว่างม็อบที่สนับสนุน และต่อต้านรัฐบาล (ร้อยละ 35.80) ความสูญเสียจากอุบัติเหตุในช่วงสงกรานต์ (ร้อยละ 34.00) การสิ้นสุดสภาพของนายกรัฐมนตรี/คณะรัฐมนตรี และการพิพากษาคดีต่างๆ ที่เกี่ยวกับนายกรัฐมนตรี (ร้อยละ 27.40) สถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนใต้(ร้อยละ 23.30) การสร้างสถานการณ์ความไม่สงบของมือที่ 3 เพื่อยกระดับความรุนแรงของการชุมนุม (ร้อยละ18.90) การดำเนินคดีต่อแกนนำการชุมนุมต่อต้านรัฐบาล (ร้อยละ 16.40) และเกิดการปฏิวัติรัฐประหาร (ร้อยละ 6.40)

ความคิดเห็นของประชาชนต่อสถานการณ์ทางการเมืองหลังเดือนเมษายน พบว่าประชาชนส่วนใหญ่ไม่แน่ใจว่าสถานการณ์ทางการเมืองหลังสิ้นสุดเดือนเมษายนจะเป็นอย่างไร(ร้อยละ 58.90) รองลงมา ประชาชนเห็นว่าสถานการณ์จะแย่ลงกว่าในปัจจุบัน (ร้อยละ 25.50) มีประชาชนเพียงเล็กน้อยเท่านั้นที่เห็นว่าสถานการณ์จะดีขึ้นกว่าปัจจุบัน (ร้อยละ 15.50)
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น