พัทลุง - เทศกาลท่องเที่ยวอุทยานทะเลน้อยเงียบเหงา หลังหลายองค์กรในท้องถิ่นเกิดความขัดแย้งในการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว ไม่มีจัดสรรงบประมาณที่เพียงพอ และการประชาสัมพันธ์ที่ไม่ดีพอ
วันนี้ (9 เม.ย.) ทะเลน้อย เป็นอุทยานนกน้ำที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ได้มีการสำรวจเมื่อปี พ.ศ.2517 และได้รับการประกาศจัดตั้งเป็นเขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลน้อย เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2518 นับเป็นเขตห้ามล่าสัตว์ป่าแห่งแรกของประเทศไทย มีอาณาเขตครอบคลุมพื้นที่ 3 จังหวัด คือ บางส่วนของตำบลพนางตุง และตำบลทะเลน้อย อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง ตำบลบ้านขาว ตำบลเครียะ อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา ตำบลขอนหาด ตำบลนางหลง ตำบลเสม็ด ตำบลชะอวด อำเภอชะอวด จังหวัดนครศรีธรรมราช มีเนื้อที่ประมาณ 457 ตารางกิโลเมตร หรือ 285,625 ไร่ (พื้นดิน 429 ตร.กม. ประมาณ 268,125 ไร่ และพื้นน้ำ 28 ตร.กม. ประมาณ 17,500 ไร่)
มีชุมชนขนาดเล็กกระจายอยู่โดยรอบ พื้นที่ทางตอนเหนือเป็นป่าพรุเสม็ดขนาดใหญ่ มีระดับน้ำลึกเฉลี่ย 1.2 เมตร ต้นน้ำของทะเลน้อยมาจากเทือกเขาบรรทัดซึ่งอยู่ทางทิศตะวันตก ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยตลอดทั้งปี 2,126 มิลลิเมตร ทะเลน้อย ขึ้นชื่อว่าเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสมบูรณ์ และสำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของไทย โดยเฉพาะพื้นที่บริเวณพรุควนขี้เสียน ได้รับการจดทะเบียนเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำโลก หรือแรมซาร์ไซต์ แห่งแรกของประเทศไทย และเป็นลำดับที่ 110 ของโลก เมื่อปี พ.ศ.2541 โดยทะเลน้อย เป็นที่อาศัยของนกน้ำหลากพันธุ์ ประมาณ 187 ชนิด และมีพืชไม้นานาพันธุ์
ในพื้นที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่าฯ สำรวจพบสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมประมาณ 10 ชนิด เช่น ลิงแสม เสือปลา นากใหญ่ ขนเรียบ นอกจากนี้ ยังพบสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก 8 ชนิด สัตว์เลื้อยคลานอีก 25 ชนิด ซึ่งรวมถึงเต่ากระอาน ที่ถูกจัดอยู่ในสถานภาพที่ใกล้จะสูญพันธุ์ด้วย พันธุ์ปลาที่พบอย่างน้อย 45 ชนิด และในจำนวนนี้มี 4 ชนิด ที่อยู่ในภาวะใกล้สูญพันธุ์ คือ ปลากะทิ ปลาดุกลำพัน ปลาฝักพร้า ปลาตะลุมพุก และชนิดเด่นที่พบคือ ปลาตุม ปลากะแห เป็นต้น
มีการสำรวจพบนกอย่างน้อย 187 ชนิด ทะเลน้อย จัดเป็นแหล่งอาศัยที่สำคัญของนกน้ำ ทั้งนกประจำถิ่น และนกอพยพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งนกกาบบัว ซึ่งพบว่าทำรังวางไข่ที่นี่เพียงแห่งเดียว นอกจากนี้ ยังเป็นแหล่งทำรังของนกกระสาแดง นกยางควาย และนกกาน้ำเล็ก รวมถึงนกแขวก ในฤดูหนาวจะพบนกอพยพที่สำคัญ คือ นกซ้อนหอยขาว รวมไปถึงเป็ดแดง และเป็ดคับแคนับหมื่นตัว ในทะเลน้อยสำรวจพบพันธุ์ไม้น้ำ 78 ชนิด เช่น ธูปฤาษี กุ่ม กก ในบริเวณน้ำลึกพบพืชลอยน้ำ เช่น บัว ขึ้นอยู่กระจัดกระจายปะปนกับกระจูด ส่วนพืชบกที่พบในบริเวณพรุได้ถูกเปลี่ยนแปลงสภาพไป ภายหลังจากการเกิดไฟไหม้ป่าครั้งใหญ่ในปี พ.ศ.2508 ทำให้เกิดสังคมพืชเสม็ดขึ้นทดแทน นอกจากนี้ พันธุ์ไม้น้ำที่สำคัญคือ เตยน้ำ จัดเป็นชนิดพันธุ์ที่พบเฉพาะที่ทะเลน้อยเท่านั้น
ปัจจุบัน พื้นที่ทะเลน้อยเป็นแหล่งหาปลาที่สำคัญของชาวประมงที่อาศัยอยู่โดยรอบพื้นที่ เครื่องมือที่ใช้ส่วนใหญ่เป็นตาข่ายดักปลา ลอบ และเบ็ดราว และมีประชาชนที่ประกอบอาชีพเพาะปลูกข้าว โดยที่พื้นที่ทำนาบางส่วนในจำนวนนี้ไม่มีเอกสารสิทธิ และอยู่ภายในบริเวณเขตห้ามล่าฯ มีประชาชนประกอบอาชีพเลี้ยงวัว ควาย โดยอาศัยพื้นที่ทุ่งหญ้าขนาดใหญ่ 3 แห่ง บริเวณทางตอนเหนือ ตะวันออกและใต้ รวมพื้นที่ประมาณ 2 หมื่นไร่ และอาชีพที่สำคัญอีกอาชีพหนึ่งคือ การทำเครื่องจักสานจากกระจูด ซึ่งได้ทำต่อเนื่องสืบทอดมาหลายชั่วอายุ โดยสมัยก่อนเป็นการเก็บกระจูดจากธรรมชาติ แต่ในปัจจุบัน เมื่อกระจูดเหลือน้อยลงได้มีการทำนากระจูดขึ้นในหลายพื้นที่ รวมพื้นที่ประมาณ 8,300 ไร่ และประชาชนบางส่วนได้รับรายได้จากการท่องเที่ยว จากสถิตินักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวที่ทะเลน้อยมีไม่ต่ำกว่า 200,000 คนต่อปี
แต่ดูเหมือนว่าปีนี้ เทศกาลล่องเรือแลนกทะเลน้อยได้กร่อยลง เนื่องจากหน่วยงานเจ้าของพื้นที่อย่างเทศบาลตำบลพะนางตุง เทศบาลตำบลทะเลน้อย รวมทั้งเขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลน้อย ได้มีความขัดแย้งด้านการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว โดยทางเขตไม่ยอมให้มีการปรับปรุงภูมิทัศน์รอบชายฝั่ง ทำให้ทางท้องถิ่นเมินการจัดล่องเรือแลนกทะเลน้อยขึ้นในปีนี้ ประกอบกับทางจังหวัดไม่มีงบประมาณในการจัดงาน ที่ทุกปีจะมีการจัดขึ้นตั้งแต่ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ถึงเดือนเมษายนของทุกปี
โดยผู้ประกอบการร้านจำหน่ายของฝากของที่ระลึกจากทะเลน้อย และผู้ประกอบการด้านรีสอร์ต รายหนึ่งกล่าวว่า การท่องเที่ยวทะเลน้อย ปีนี้กร่อยขึ้นอย่างถนัดตา นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทย และชาวต่างชาติเดินทางมาท่องเที่ยวน้อยมาก ส่วนหนึ่งของปัญหาคาดว่าน่าจะมาจากการที่นักท่องเที่ยวไม่ทราบว่าในปีนี้จะมีการจัดล่องเรือแลนกทะเลน้อยหรือไม่ เพราะทางจังหวัดไม่ยอมจัดงานและประชาสัมพันธ์ด้านการท่องเที่ยวทะเลน้อย ทั้งที่หน่วยงานอย่างสำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดพัทลุง ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐที่มีศักยภาพ และอุปกรณ์ที่พร้อมดำเนินการ แต่ไม่ดำเนินการประชาสัมพันธ์ และไม่ยอมตื่นตัวส่งเสริมเรื่องดีของจังหวัดพัทลุง ที่นำไปสู่รายได้มหาศาลเข้าจังหวัดในแต่ละปี
ในขณะที่ นายเสรี ศรีหะไตร ผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง พร้อมด้วยนายวิสุทธิ์ ธรรมเพชร นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดพัทลุง ลงล่องเรือจากบริเวณปากประเพื่อชมทัศนียภาพพระอาทิตย์ในหมู่ยอ หรือการชมแสงแรก ท่ามกลางยอยักษ์ ซึ่งเป็นวิถีชีวิตของชาวปากประในยามเช้า จากนั้นได้แล่นเรือผ่านสะพานไสกลิ้ง สะพานยกระดับที่ยาวที่สุดในประเทศไทย เข้าสู่พื้นที่ทะเลน้อย เพื่อชมนกชนิดต่างๆ นับล้านตัว และบัวแดง ที่กำลังบานเต็มที่ขณะนี้ เพื่อฉุดกระแสการต้องเที่ยวในช่วงเทศกาลสงกรานต์ของทะเลน้อย ให้นักท่องเที่ยวเดินทางเข้าในช่วงนี้ และลดกระแสการวิพากวิจารณ์จากชาวบ้านทะเลน้อย กับการที่ไม่ส่งเสริมด้านการท่องเที่ยวของจังหวัดพัทลุง
นายเสรี ศรีหะไตร ผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง กล่าวว่า จังหวัดพัทลุง จัดงานได้จัดงานล่องเรือแลนกทะเลน้อยเพื่อประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวของจังหวัดพัทลุง ติดต่อกันมาถึงปีนี้เป็นปีที่ 17 แล้ว ซึ่งทุกปีที่ผ่านมา ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี มีนักท่องเที่ยวสนใจเดินทางมาท่องเที่ยวทะเลน้อย และสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ นำรายได้เข้าจังหวัดปีละหลายร้อยล้านบาท ซึ่งปีนี้ฤดูกาลท่องเที่ยวทะเลน้อย เริ่มมาตั้งแต่ต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา มีนกจำนวนมาก และมีดอกบัวแดงบานสะพรั่งเต็มท้องน้ำ และปีนี้ดอกบัวจะบานเต็มที่ในช่วงของเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งจังหวัดพัทลุง ได้กำหนดจัดงานเทศกาลล่องเรือแลนกทะเลน้อย ประจำปี 2557 ระหว่างวันที่ 10-16 เมษายนนี้
ด้านนายวิสุทธิ์ ธรรมเพชร นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดพัทลุงกล่าวว่า ในปีนี้ทางจังหวัดพัทลุง ได้จัดเตรียมความพร้อมรองรับนักท่องเที่ยวไว้หลายๆ ด้าน โดยเฉพาะด้านความปลอดภัยการเดินทางต่างๆ รวมตลอดถึงสถานที่พัก อาหารการกินต่างๆ ซึ่งนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาจังหวัดพัทลุง นอกจากจะได้เพลิดเพลินกับการล่องเรือแลนกทะเลน้อยแล้ว ยังสามารถเดินทางต่อไปยังสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ภายในจังหวัดอีกหลายแห่ง