ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - “คอซียะห์ ดือเระ” แห่งมหาวิทยาลัยหาดใหญ่ ฝากถึงเยาวชนไทย “เป็นคนไทย ต้องรักษ์ภาษาไทย” เผยเลือกเรียนภาษาไทยเพราะใจรัก และสานฝันตัวเองในเส้นทาง “แม่พิมพ์ของชาติ” หวังสืบสานภาษาไทยให้เยาวชนไทยมุสลิมในท้องถิ่นตน
วันนี้ (1 เม.ย.) ซูยะห์ หรือ น.ส.คอซียะห์ ดือเระ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาวิชาภาษาไทยเพื่อการสื่อสารธุรกิจ คณะศิลปศาสตร์และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ เลือกเรียนภาษาไทยเพราะฝันอยากเป็นแม่พิมพ์ของชาติ เพื่อช่วยสืบสาน และอนุรักษ์ภาษาไทยให้แก่เยาวชนไทยมุสลิมในท้องถิ่น โดยซูยะห์ มีโอกาสออกสหกิจศึกษาที่โรงเรียนดารุสสาลาม อ.ระแงะ จ.นราธิวาส ในตำแหน่งครูฝึกสอนวิชาภาษาไทย และนำผลงานเข้าประกวดจนคว้ารางวัลชนะเลิศการประกวดนักศึกษาสหกิจศึกษาดีเด่น ครั้งที่ 9 ของมหาวิทยาลัยหาดใหญ่ และรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 สาขามนุษย์ศาสตร์และสังคมศาสตร์ ในการประกวดโครงการสหกิจศึกษาดีเด่น ระดับเครือข่าย ประจำปี 2556 ณ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่
ซูยะห์ เล่าถึงการเรียนสาขาวิชาภาษาไทยฯ ที่มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ว่า “เลือกเรียนภาษาไทย เพราะเป็นคนไทย จึงต้องใช้ภาษาไทยให้ถูกต้อง โดยชอบเรียนวิชาภาษาไทยตั้งแต่เรียนชั้นมัธยมที่โรงเรียนดารุสสาลาม จ.นราธิวาส และเมื่อจบ ม.6 จึงตัดสินใจเรียนต่อในสาขาวิชาภาษาไทยเพื่อการสื่อสารธุรกิจ คณะศิลปศาสตร์และศึกษาศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ เพราะอยู่ใกล้บ้านเดินทางไปเรียน และกลับบ้านสะดวก รุ่นพี่และอาจารย์ที่โรงเรียนก็แนะนำให้มาเรียนที่นี่ จึงไม่ลังเลที่จะมาต่อยอดความรักในภาษาไทยที่มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ ซึ่งไม่ผิดหวังเพราะได้รับทั้งความรู้ และประสบการณ์อย่างเต็มที่ ที่สำคัญได้รับความรัก และการเอาใจใส่ดูแลจากอาจารย์อย่างใกล้ชิด”
ซูยะห์ กล่าวต่อว่า “ประทับใจประสบการณ์การเป็นครูฝึกสอนที่โรงเรียนดารุสสาลาม ซึ่งเป็นโรงเรียนเก่าของตัวเอง ทำให้รู้สึกผูกพัน และอยากทำประโยชน์เพื่อพัฒนาโรงเรียนตัวเองให้ดีขึ้น โดยหลังจบการศึกษาจาก ม.หาดใหญ่ โรงเรียนได้ให้โอกาสให้เข้าทำงานเป็นครูสอนภาษาไทยที่นี่ด้วย จึงตั้งใจจะนำความรู้ความสามารถด้านการใช้ภาษาไทยถ่ายทอดไปยังรุ่นน้องให้มากที่สุด เพราะยังเห็นว่าเยาวชนในพื้นที่ชายแดนใต้มีทักษะการใช้ภาษาไทยไม่ดี เนื่องจากวิถีชีวิตของคนในท้องถิ่นยังนิยมใช้ภาษามลายูในการสื่อสาร ดังนั้น ในฐานะครูภาษาไทย จึงตั้งใจอยากให้เยาวชนในพื้นที่มีทักษะการใช้ภาษาไทยที่ดี เพื่อโอกาสในการศึกษาต่อและการประกอบอาชีพในสังคมที่กว้างขวางขึ้น”