xs
xsm
sm
md
lg

เหยื่อมัสยิดกรือเซะฉะ“นักการเมือง” ตัวปัญหา-กังขา “เจรจา BRN”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - เสวนาปัญหา 3 จังหวัดชายแดนใต้หัวข้อ “ประชาชนกับการมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา” นักวิชาการแนะรับฟังปัญหาจากประชาชนมากขึ้น เน้นการมีส่วนร่วมของท้องถิ่น ยึดหลักเจรจาสู่กระบวนการสร้างสันติภาพ ด้านเหยื่อมัสยิดกรือเซะ ซัดนักการเมืองคือต้นเหตุปัญหา

วันนี้ (31 มี.ค.) ในเวทีงานสานเสวนาเวที 3 ปี สภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ณ ห้องพิมมาดา โรงแรมปาร์ควิว อ.เมือง จ.ปัตตานี ซึ่งในช่วงบ่าย เป็นประเด็น เสวนาปัญหา 3 จังหวัดชายแดนใต้ในหัวข้อ “ประชาชนกับการมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา”

นายไชยยงค์ มณีรุ่งสกุล นายกสมาคมนักหนังสือพิมพ์ภาคใต้แห่งประเทศไทย กล่าวว่า สิ่งที่เกิดขึ้นกับพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ในขณะนี้ ประเทศหมดงบประมาณไปแล้วกว่าแสนล้านบาท แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นยังไม่มีทีท่าว่าจะลดลงแม้แต่น้อย ฉะนั้นจึงขอถามกลับว่า จากวาทกรรมที่ว่าการแก้ไขปัญหาต้องยึดหลักประชาชนมีส่วนร่วม ซึ่งมีการพูดมานานหลายปี แต่อย่างไรก็ตามตนคิดว่าตอนนี้ประชาชนในพื้นที่ยังไม่มีส่วนร่วมกับการแก้ไขปัญหาเท่าที่ควร หรือมีส่วนร่วมแต่ยังไม่มากพอ

นายไชยยงค์ มณีรุ่งสกุล กล่าวต่อว่า การเปิดเจรจาระหว่างฝ่ายความมั่นคงกับกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบที่ผ่านมา เห็นได้ว่าข้อบกพร่องประการหนึ่งคือ ประชาชนไม่ได้มีส่วนร่วมในการเจรจาอย่างแท้จริง กล่าวคือ เสียงของประชาชนที่เข้าไปมีส่วนร่วมในการเจรจามีน้อยมาก ฉะนั้นเสียงของประชาชนจึงเป็นเสียงที่ทุกฝ่ายจะต้องรับฟัง แต่ในขณะนี้เสียงของประชาชนสะท้อนออกสู่สังคมน้อยมาก ดังนั้น การเสวนาในวันนี้จึงถือเป็นโอกาสอันดีที่จะได้สะท้อนความเห็นของประชาชนถึงปัญหาที่แท้จริงออกสู่สังคมอย่างแท้จริง
นางคอลีเยาะ หะหลี เหยื่อจากเหตุการณ์มัสยิดกรือเซะ
ประสิทธิ เมฆสุวรรณ กรรมการ สปต. และประธานสภาประชาสังคมจังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวว่า เหตุการณ์ที่ประเทศกำลังประสบในขณะนี้มี 2 ระดับ ระดับ 1 คือ ระดับชาติเห็นได้จากสถานการณ์ทางการเมืองที่ประเทศกำลังประสบอยู่ มีความแตกแยกในหมู่ประชาชนอย่างกว้างขวาง และระดับที่ 2 คือ ระดับท้องถิ่น เช่น ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่กำลังประสบอยู่ในขณะนี้ อย่างไรก็ตาม จากการเจรจากับกลุ่ม BRN ตนคิดว่าข้อเสนอทั้ง 5 ของกลุ่ม BRN เป็นข้อเสนอที่น่าสนใจ กล่าวคือ เป็นข้อเสนอที่นำไปสู่การมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ เปิดโอกาสให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมอย่างจริงจัง ไม่ว่ารัฐบาลชุดไหนเข้ามาควรจะยึดแนวทางแก้ไขปัญหาอย่างสันติวิธีเป็นหลัก สร้างความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ การใช้ความรุนแรงตอบของฝ่ายความมั่นคงไม่สามารถยุติปัญหาได้ จะเป็นวิธีที่ห่างไกลจากสันติสุข

ดร.ศรีสมภพ จิตภิรมณ์ศรี นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ ม.อ.ปัตตานี กล่าวว่า การเจรจาเป็นยุทธศาสตร์สำคัญที่ฝ่ายความมั่นคงใช้แก้ปัญหาความรุนแรงในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มาโดยตลอด ซึ่งถือเป็นยุทธศาสตร์ทางด้านสันติภาพ ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องใช้เวลาในการดำเนินการ ทั้งนี้ หลังจากนั้นมีคำถามจากผู้ร่วมเสวนาท่านหนึ่งว่า หน่วยงานรัฐไทยที่ไปเจรจาเป็น BRN จริงหรือไม่ ไปเจรจาแล้วได้บอกกล่าวให้ประชาชนได้รับทราบบ้างหรือไม่ เพราะเหตุใดจึงต้องส่งนักการเมืองไปเจรจา ทำไมไม่ส่งตัวแทนจากชาวบ้านซึ่งรู้ปัญหาในพื้นที่เป็นอย่างดีเข้าร่วมเจรจา ซึ่งดร.ศรีสมภพ จิตภิรมณ์ศรี กล่าวตอบว่า การเจรจานั้นมีหลายกลุ่ม โดยได้รับการประสานงานจากทางรัฐบาลมาเลเซีย ซึ่งตนยืนยันว่า เป็นฝ่าย BRN ตัวจริง การเจรจาเป็นกระบวนการแก้ไขปัญหาโดยกระบวนการสันติภาพที่ทางฝ่ายไทยดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง

นางคอลีเยาะ หะหลี เหยื่อจากเหตุการณ์มัสยิดกรือเซะ กล่าวว่า ทุกฝ่ายเห็นอย่างตรงกันว่า สาเหตุของความรุนแรงในพื้นที่เกิดจากกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ หลายปีที่ผ่านมา ผู้หญิง และเด็กตกเป็นเหยื่อของความไม่สงบเป็นจำนวนมาก ก่อให้เกิดความสูญเสียต่อชีวิต และทรัพย์สินเป็นจำนวนมากเช่นกัน ฉะนั้นจึงขอตั้งคำถามว่า นักการเมืองหายไปไหน คนที่หาเสียงเวลาลงเลือกตั้งว่าจะทำโน่น ทำนี่หายไปไหนหมด ซึ่งผลประโยชน์ของการเมืองเป็นส่วนที่สำคัญที่ทำให้สถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่มีมากขึ้น ฉะนั้นจึงขอวอนว่าอย่านำปัญหาของประชาชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้มาเป็นตัวประกัน หรือมาเป็นข้ออ้างของนักการเมืองเพื่อผลประโยชน์ของตนเอง
นายมนพ บุญทวิโรจน์ ผู้ที่เข้าร่วมเสวนาจาก ข.ยะลา
นายมนพ บุญทวิโรจน์ ประชาชนผู้เข้าร่วมเสวนาจากจังหวัดยะลา กล่าวว่า สิ่งหนึ่งที่อยากเห็นในการแก้ไขความรุนแรงในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้คือ ความเป็น “รูปธรรม” ในการแก้ไขปัญหา ซึ่งขณะนี้ยังไม่เกิดขึ้น เห็นได้จากมีการพูดกันอย่างยาวนานว่าการแก้ปัญหาจะต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วม แต่ในปัจจุบันนี้ยังไม่เห็นว่าประชาชนจะเข้ามามีส่วนร่วมอย่างเป็นรูปธรรมแต่อย่างใด ดังนั้น สิ่งสำคัญคือจะต้องสร้างความเข็มแข็งให้แก่ผู้นำชุมชน เช่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ให้มีอำนาจจัดการปัญหาได้อย่างเต็มที่ อย่างไรก็ตาม ตนคิดว่าสถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ขณะนี้ไม่จำเป็นต้องคุยกับต่างประเทศ ไม่ต้องนำต่างประเทศเข้ามาเพื่อแก้ปัญหา ให้คุยกับคนในท้องถิ่น ประชาชนในท้องถิ่นก็เป็นการเพียงพอแล้ว

นายดอเลาะ สาเมาะ โต๊ะอิหม่าม อ.จะนะ จ.สงขลา และที่ปรึกษา ศอ.บต. กล่าวว่า ในการแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและยาวนาน แต่ตนอยากบอกว่าทุกฝ่ายที่ทำหน้าที่ในการแก้ไขปัญหาว่าอย่าท้อ ขอให้ทำหน้าที่อย่างเต็มที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่สำคัญ และถือเป็นกลไกสำคัญในการแก้ไขปัญหา ดังนั้น ตนจึงขอให้กำลังใจทุกฝ่ายอย่างเต็มที่ และขอให้องค์อัลเลาะห์คุ้มครองให้ผู้ที่ทำหน้าที่แก้ไขปัญหาความไม่สงบทุกคนปลอดภัย
นายดอเลาะ สาเมาะ โต๊ะอิหม่าม อ.จะนะ จ.สงขลา และที่ปรึกษา ศอ.บต.
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น