ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - สภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ เปิดงานแถลงยุติบทบาท และผลงานในห้วง 3 ปี ที่ปฏิบัติภารกิจนำสันติสุขสู่พื้นที่ชายแดนใต้ ก่อนจะหมดวาระ 18 เม.ย.นี้ “อาซิส” เผยมีปณิธานแน่วแน่ต้องเป็นที่ปรึกษาประชาชน
วันนี้ (31 มี.ค.) เวลา 09.30 น. ในงาน “สานเสวนาเวที 3 ปี สภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้” ณ ห้องพิมมาดา โรงแรมปาร์ควิว อ.เมือง จ.ปัตตานี เริ่มแล้วอย่างเป็นทางการ โดยในงานมีการแถลงยุติบทบาท และผลงานที่ผ่านมาของสภาที่ปรึกษาบริการและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งยุติหน้าที่หลังจากปฏิบัติภารกิจนำสันติสุขสู่พื้นที่ชายแดนใต้ตลอดช่วงระยะเวลา 3 ปี ของการดำรงตำแหน่ง
นายอาซิส เบ็ญหาวัน ประธานสภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวเปิดเผยว่า ตลอดระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา ได้ทำหน้าที่อย่างเต็มที่ ทำหน้าที่ให้คำปรึกษาแก่หน่วยงานต่างๆ ในด้านความมั่นคงเพื่อนำสันติสุขที่แท้จริงสู่พื้นที่ 3 จังหวัดโดยเร็วโดยมีปณิธานอย่างแน่วแน่ว่าจะต้องเป็นที่ปรึกษาของประชาชนให้ได้ เนื่องจากก่อตั้งมาเพื่อเป็นที่พึ่งของประชาชน และเป็นของประชาชนอย่าแท้จริง จึงต้องปฏิบัติหน้ามี่เพื่อนำสันติสุขสู่ประชาชน
พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการ ศอ.บต. กล่าวว่า ในช่วงเวลา 3 ปีที่ผ่านมา ต้องขอขอบคุณสภาที่ปรึกษาและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อมูลเชิงลึกหลายอย่างที่ตนได้รับ ถือว่าเป็นประโยชน์ต่อการแก้ปัญหาความรุนแรงในพื้นที่ หากตั้งคำถามว่าปัญหาความรุนแรงใน 3 จังหวัดภาคใต้จะแก้อย่างไร ทุกคนคงจะมีคำตอบที่คล้ายกันว่าจะต้องแก้ด้วยการบริหาร และการพัฒนา ซึ่งตลอดระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา จากการทำงานได้รับความร่วมมือจากประชาชนในการปัญหาในพื้นที่มากขึ้น เห็นได้จากประชาชนในพื้นที่ 83% มีความเชื่อมั่นว่า ขณะนี้การแก้ปัญหามาถูกทาง ฉะนั้นการแก้ปัญหาต้องใช้คนในพื้นที่เป็นตัวหลักในการขับเคลื่อน เนื่องจากคนในพื้นที่เป็นกลุ่มคนที่รู้ถึงปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างดีที่สุด
สังคมในพื้นที่ชายแดนใต้เป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางวัฒนาธรรม กล่าวคือ เป็นสังคม “พหุวัฒนธรรม” ฉะนั้นสิ่งสำคัญที่สุดสำหรับการแก้ปัญหาความรุนแรงในสังคมพหุวัฒนธรรมคือ การใช้หลักการทางศาสนาเข้าช่วย อีกทั้งจะต้องสร้างความยุติธรรมให้เกิดขึ้นให้ได้โดยการบังคับใช้กฎหมายอย่างเท่าเทียม และทั่วถึง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับคดีความมั่นคงจะต้องใช้บังคับให้ประชาชนในพื้นที่เห็นว่ากฎหมายสามารถอำนวยความยุติธรรม และสามารถเป็นเครื่องมือหลักในอันที่จะนำสันติสุขกลับคืนมาได้