xs
xsm
sm
md
lg

ก้อนน้ำมันดิบเกลื่อนหาดนครศรีฯ พบถูกทำให้จมใต้ทะเล คาดจาก จ.ระยอง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


นครศรีธรรมราช - ผลวิเคราะห์ทางเคมีของ ม.วลัยลักษณ์ ก้อนน้ำมันแนวชายหาดนครศรีธรรมราช บ่งชี้ว่าเป็นน้ำมันดิบที่ผ่านกระบวนการบางอย่างทำให้จมใต้ผิวน้ำ แนะเร่งหาที่มาหลังพบกระจายตัวเกือบตลอดแนวชายฝั่งอ่าวไทย นักวิทยาศาสตร์คาดเป็นน้ำมันที่รั่วจาก จ.ระยอง เมื่อปลายปี

วันนี้ (29 มี.ค.) ที่ จ.นครศรีธรรมราช ความคืบหน้าหลังจากมีปรากฏการณ์ก้อนน้ำมันจำนวนมากถูกคลื่นซัดเข้ามาเต็มแนวหาดทรายในอำเภอสิชล อำเภอขนอม อำเภอท่าศาลา และอำเภอเมืองนครศรีธรรมราช ทำให้หลายฝ่ายวิตกกังวลอย่างมากถึงที่มาของก้อนน้ำมันจำนวนมากนี้ และอาจส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศพื้นทะเล ขณะที่มีโลมาตายอย่างต่อเนื่อง โดยในนครศรีธรรมราช พบยอดตายสะสมแล้วถึง 11 ตัว
ดร.กีร์รัตน์ สงวนไทร อธิการบดีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์
โดยเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา หลังจากที่นักวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เข้าเก็บตัวอย่างก้อนน้ำมันที่พบบนแนวชายอำเภอสิชล และอำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช เพื่อไปวิเคราะห์ทางเคมีพิสูจน์ว่า ก้อนน้ำมันดังกล่าวเป็นน้ำมันชนิดใด โดยนักวิทยาศาสตร์ได้ใช้กระบวนการแกสโครมาโตกราฟี (Gas Chromatography) หรือ (GC/FID) ซึ่งผลการวิเคราะห์ทางเคมีที่ออกมาพบว่า องค์ประกอบทางเคมีของตัวอย่างที่เก็บได้นั้นเป็นน้ำมันดิบที่ผ่านกระบวนการบางอย่าง ทำให้โมเลกุลบางตัวหลุดหายไปแ ละมีความหนาแน่นเพิ่มมากขึ้นจนมีคุณลักษณะจมน้ำ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศหน้าดิน โดยส่งผลกระทบต่อสัตว์น้ำที่ไปสัมผัส หรือกินเข้าไป และมีโอกาสเป็นไปได้ว่าโลมาที่ตายอย่างต่อเนื่องนั้นอาจได้รับผลกระทบจากสิ่งนี้

ดร.กีร์รัตน์ สงวนไทร อธิการบดีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ระบุว่า ผลสรุปที่ออกมานั้นใกล้เคียงกับน้ำมันดิบมากที่สุด ส่วนการวิเคราะห์น้ำทะเลนั้นยังไม่พบค่าความเปลี่ยนแปลงที่ผิดปกติ ซึ่งจะต้องสืบค้นต่อไปว่าที่มานั้นมาจากไหน เนื่องจากพบว่ามีการกระจายตัวของก้อนน้ำมันนี้พบตั้งแต่ชายฝั่งชุมพร สุราษฎร์ธานี เกาะสมุย และนครศรีธรรมราช

อย่างไรก็ตาม นักวิทยาศาสตร์ได้ตั้งข้อสังเกต และสมมติฐานว่าไม่น่าจะเป็นได้ที่ก้อนน้ำมันจะปล่อยมาจากเรือ เนื่องจากมีปริมาณมาก และกินพื้นที่กว้างขวาง ซึ่งโอกาสเป็นไปได้สูงว่าอาจเป็นน้ำมันดิบที่รั่วไหลในจังหวัดระยองเมื่อช่วงปลายปีที่ผ่านมา ที่ถูกใช้สารเคมีทำให้ให้มีความหนาแน่นเพิ่มมากขึ้นส่งผลให้น้ำมันดิบจมลงไปในทะเล และจับเป็นก้อนจนถูกกระแสคลื่นลมพัดมาถึงฝั่งในภาคใต้
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น