เป็นความร่วมมือเดินหน้าสร้าง “ห้องสมุดสีเขียว” แห่งที่ 2 ชูคอนเซปต์อาคารรักษ์โลก โดยมีห้องสมุดสีเขียวแห่งแรกซึ่งได้คว้ารางวัลมาตรฐาน LEED Platinum จากสหรัฐอเมริกา เป็นต้นแบบ
อมร กิจเชวงกุล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวว่า Taweepanya Gree Library จะเป็นห้องสมุดสีเขียวแห่งที่ 2 เพื่อเป็นองค์ความรู้ที่สร้างประโยชน์แก่เด็ก เยาวชน และประชาชน โดยเฉพาะที่นี่จะเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านพฤกษศาสตร์ และการอนุรักษ์พันธุ์ไม้หายาก โดยการนำสื่อดิจิตอลมาช่วยในการค้นหาและนำข้อมูลไปใช้อย่างสะดวก รวดเร็ว และน่าสนใจ
“กทม. มีความยินดีหลังจากได้สร้าง “ห้องสมุดสีเขียว” แห่งแรก ณ สวนเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา ที่ลาดกระบัง จนประสบสำเร็จ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของกทม. ที่สนับสนุนการพัฒนาเมืองหลวงเป็น “มหานครแห่งการอ่านและการเรียนรู้” อย่างเป็นรูปธรรม อีกทั้งห้องสมุดแห่งนี้ยังพร้อมใช้เป็นอาคารต้นแบบด้านการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อม เมื่อได้รับรางวัลรับรอง “ห้องสมุดสีเขียวแห่งแรกของเอเชีย” ในระดับสูงสุดโดยมาตรฐาน LEED Platinum สหรัฐอเมริกา”
ด้าน เซียว เมง แทน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารเอชเอสบีซี ประเทศไทย หรือ HSBC กล่าวในฐานะผู้ให้การส่งเสริม ว่านโยบายส่งเสริมความยั่งยืนขององค์กรและสิ่งแวดล้อมของธนาคารฯ โดยเป็นธนาคารพาณิชย์แห่งแรกในประเทศไทยที่ริเริ่มขึ้นเพื่อร่วมช่วยลดปัญหาวิกฤติการณ์โลกร้อน
ห้องสมุดสีเขียว ที่สวนเฉลิมพระเกียรติฯ จึงถือว่าเป็นห้องสมุดต้นแบบที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และประหยัดพลังงานในระดับสูงสุดจากมาตรฐาน LEED Platinum จนกระทั่งร่วมกับ กทม. และพันธมิตรธุรกิจ ได้แก่ บริษัท DWP บริษัท ฮิวเลตต์-แพคการ์ด (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท ทอมสันรอยเตอร์ส ประเทศไทย จำกัด แบรนด์ คอตโต้ บริษัท แคเรียร์ (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท วิสดอม คอนซัลติ้ง แอนด์ โซลูชั่น จำกัด บริษัท เทคนิคอล เซอร์วิส ซัพพอร์ท จำกัด และ เจแอลแอล สานต่อสู่โครงการ ห้องสมุดสีเขียว แห่งที่ 2 Taweepanya Gree Library ณ สวนสราญรมย์ เขตพระนคร โดยยังมุ่งเน้นให้เป็นห้องสมุดประชาชนด้านสิ่งเสริมสิ่งแวดล้อม ท่ามกลางบรรยากาศของอาคารอนุรักษ์ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 คาดว่าจะดำเนินโครงการแล้วเสร็จภายในเดือนธันวาคม 2557 นี้
คอนเซปต์ ห้องสมุดสีเขียวแห่งที่ 2
เตรียมบูรณะเป็นห้องสมุดสีเขียวแห่งที่ 2 เพื่อให้เป็นแหล่งความรู้ ศูนย์สืบค้นข้อมูลด้านพฤกษศาสตร์พันธุ์ไม้ที่หาชมได้ยาก และระบบนิเวศน์วิทยาในรูปแบบดิจิตอล โดยคงไว้เป็นอาคารอนุรักษ์ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 ท่ามกลางของบรรยากาศสวนไม้ดอกไม้ประดับ และไม้ยืนต้นในสวนสราญรมย์
ปัจจุบันยังเป็นอาคารเปล่าที่รอการบูรณะซ่อมแซม เป็นอาคารกระจกชั้นเดียว มีดาดฟ้า ตกแต่งด้วยไม้ฉลุลวดลายวิจิตร เดิมเป็นที่ตั้งของทวีปัญญาสโมสร และโรงละครทวีปัญญา ซึ่งเป็นสโมสรแบบตะวันตกของข้าราชการและเจ้านายชั้นสูง