xs
xsm
sm
md
lg

พบก้อนน้ำมันที่หาดชุมพรสลายเป็นสารคาร์บอนทำแพลงก์ตอนตายเพียบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ชุมพร-สำรวจพบก้อนน้ำมันที่หาดชุมพรสลายเป็นสารคาร์บอน ทำ “แพลงก์ตอน” ตายจำนวนมาก เกิดปรากฏการณ์น้ำทะเลเปลี่ยนสี ส่งผลสัตว์น้ำชายหาดได้รับสารพิษ

จากกรณีที่มีก้อนน้ำมันสีดำจำนวนมากลอยมาขึ้นที่บริเวณชายหาด อ.หลังสวน อ.ละแม อ.ทุ่งตะโก และ อ.สวี ในพื้นที่ทั้ง 4 อำเภอของ จ.ชุมพร ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศชายฝั่ง สัตว์น้ำ อาชีพประมง และการท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก ตามข่าวที่เสนอแล้วนั้น ความคืบหน้าเรื่องดังกล่าว วันนี้ (27 มี.ค.) นายวนิพงษ์ มุณีน้อย นายอำเภอละแม นายพัฒนา แก้วใจดี ปลัดฝ่ายความมั่นคง อ.ละแม น.ส.ราตรี จันทรัตน์ ประมง อ.ละแม ร่วมกับ ผศ.ชลดรงค์ ทองสง รอง ผอ.ฝ่ายวิชาการและวิจัย ดร.บุญศิลป์ จิตตะประพันธ์ รอง ผอ.ฝ่ายกิจการนักศึกษาและกิจการพิเศษ ผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อม จากมหาวิทยาลัยแม่โจ้ วิทยาเขตชุมพร พร้อมนักดำน้ำ และผู้นำชุมชนนำเรือออกสำรวจตามแนวปะการังน้ำตื้นห่างจากฝั่งประมาณ 1.2 กม. บริเวณชายหาดหน้ามหาวิทยาลัยแม่โจ้ วิทยาเขตชุมพร หมู่ 1 ต.ละแล อ.ละแม จ.ชุมพร โดยนักประดาน้ำได้ดำลงไปเก็บดินทรายตัวอย่างใต้ทะเลตามแหล่งปะการังน้ำตื้นที่มีก้อนน้ำมันลอยผ่าน และตัวอย่างสัตว์น้ำเพื่อนำไปตรวจวิเคราะห์ว่าได้รับสารพิษจากก้อนน้ำมันหรือไม่

จากการนั่งเรือของคณะสำรวจ ปรากฏว่า ยังพบมีก้อนน้ำมันเล็กๆ จำนวนมากลอยอยู่กลางทะเล และถูกคลื่นลมซัดเข้าหาชายฝั่งอย่างต่อเนื่อง และพบว่ามี “แพลงก์ตอน” ซึ่งเป็นสิ่งมีชีวิตขนาดเล็ก และเป็นอาหารของสัตว์ทะเล กลายเป็นก้อนสีแดงขนาดใหญ่ลอยตายอยู่จำนวนมาก

นอกจากนั้น คณะสำรวจอีกชุดได้เดินสำรวจตามแนวชาวหาด โดยเฉพาะในพื้นที่ อ.ละแม มีก้อนน้ำมันลอยขึ้นตามชายหาดเป็นระยะทางยาวกส่า 12 กม. และเมื่อก้อนน้ำมันสีดำตากแดดที่ร้อนจัดเป็นเวลานานๆ ได้แตกสลายตัวเป็นคราบน้ำมันซึมลงสู่ชั้นใต้ดินตามริมหาด และยังพบว่าหากช่วงเวลาที่น้ำทะเลลดระดับลงต่ำสุดก็จะมีคราบน้ำมันซึมลงในพื้นดินตามปริมาณที่น้ำทะเลลดลงด้วย จึงส่งผลกระทบต่อสัตว์น้ำที่อาศัย และหากินอยู่ตามหน้าดินใต้ทะเลอย่างมาก

จากนั้นคณะสำรวจได้ขุดหาสัตว์น้ำที่อาศัยหากิน และฝังตัวอยู่ใต้ทรายตามริมหาด โดยเฉพาะ หอยขาว หอยเสียบที่มีอยู่จำนวนมาก และเมื่อเจ้าหน้าที่ขุดขึ้นมาดูปรากฏว่ามีคราบน้ำมันติดเหนียวเคลือบอยู่บนตัวหอยจำนวนมาก

สำหรับพื้นที่ได้รับผลกระทบจากก้อนน้ำมันสีดำที่ถูกคลื่นซัดมาขึ้นอยู่ตามชายหาดในพื้นที่ จ.ชุมพร สำรวจพบมี 4 อำเภอได้แก่ อ.ละแม อ.หลังสวน อ.ทุ่งตะโก และ อ.สวี และยังพบขยายวงกว้างไปถึงพื้นที่ของ อ.ท่าชนะ จ.สุราษฎร์ธานี ซึ่งเป็นเขตติดต่อกับ อ.ละแม จ.ชุมพรอีกด้วย

ผศ.ชลดรงค์ ทองสง รอง ผอ.ฝ่ายวิชาการและวิจัย มหาวิทยาลัยแม่โจ้ วิทยาเขตชุมพร กล่าวว่า สิ่งที่น่าห่วงที่สุดคือ ผงคาร์บอนไดออกไซด์ที่ปนอยู่ในก้อนน้ำมัน เพราะนอกจากทำให้ทรายบริเวณชายหาดสกปรกมีสารพิษแล้ว ยังจะส่งผลทำให้สัตว์น้ำที่อาศัย และฝังตัวอยู่ตามชายหาดได้รับสารพิษและตายได้ และหากมีจำนวนมากจะส่งผลกระทบต่อฟาร์มสัตว์น้ำตามชายหาด และอุตสาหกรรมที่ใช้น้ำทะเลหมุนเวียนในการเพาะเลี้ยงเช่นการเลี้ยงกุ้ง เบื้องต้นได้เก็บตัวอย่าง “หอยเสียบ” ไปตรวจวิเคราะห์แล้วว่าได้รับผลกระทบมากน้อยเพียงใด

ดร.บุญศิลป์ จิตตะประพันธ์ รอง ผอ.ฝ่ายกิจการนักศึกษาและกิจการพิเศษ ผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยแม่โจ้ วิทยาเขตชุมพร กล่าวว่า จากการดำลงไปสำรวจเบื้องต้นยังไม่มีคราบน้ำมันในแนวปะการัง แต่สิ่งที่พบคือ ปรากฏการณ์น้ำทะเลเปลี่ยนสี หรือ ปรากฏการณ์ “แพลงก์ตอนบูม” ที่ชาวบ้านเรียกว่า “ขี้ปลาวาฬ” ซึ่งแพลงก์ตอนนั้นเป็นอาหารของสัตว์ทะเล ได้ตายกลายเป็นสีแดงลอยอยู่ผิวน้ำจำนวนมาก ซึ่งถือว่ามีเป็นจำนวนมากผิดปกติ แต่ยังไม่สามารถระบุได้ว่าเกิดจากสาเหตุอะไร เพราะปรากฏการณ์ “แพลงก์ตอนบูม” จะเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น อากาศร้อนจัด น้ำเป็นพิษ และน้ำทะเลเปลี่ยนแปลงคุณภาพน้ำอย่างฉับพลัน หรืออาจจะเกิดจากคราบน้ำมัน ซึ่งทั้งหมดเป็นสาเหตุทำให้เกิด “แพลงก์ตอนบูม” ได้ทั้งหมด จึงต้องรอผลการตรวจพิสูจน์ให้แน่ชัดอีกครั้ง

 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น