นครศรีธรรมราช - ทน.นครศรีธรรมราช เตรียมทำสัญญากับบริษัทต่างประเทศ คาดเบื้องต้นใช้งบกว่า 3,000 ล้านบาท เพื่อวางระบบผลิตน้ำประปาแก้ปัญหาภัยแล้งระยะยาว เหตุจากขณะนี้ทั้งจังหวัดประกาศพื้นที่ประสบภัยแล้งแล้ว 7 อำเภอ เผยการทำฝนหลวง 5 ครั้งที่ผ่านมา ประสบความล้มเหลว
วันนี้ (26 มี.ค.) ที่ห้องประชุมเทศบาลนคร นายอภินันท์ ซื่อธานุวงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมรา ผศ.เชาวน์วัศ เสนพงศ์ นายกเทศมนตรีนครนครศรีธรรมราช พ.อ.ภาสกร ทวีตา เสนาธิการมณฑลทหารบกที่ 41 ตัวแทนจากกองทัพภาคที่ 4 นายสุขเจริญ สุดสมบูรณ์ นายกองค์การบริการส่วนตำบลนาทราย และนายคธา รุ่งโรจน์รัตกุล รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครศรีธรรมราช ร่วมหารือในการรับภาวะภัยแล้งในจังหวัดนครศรีธรรมราชที่กำลังเกิดขึ้น
โดย ผศ.เชาวน์วัศ เสนพงศ์ นายกเทศมนตรีนครศรีธรรมราช ได้แถลงว่า การแก้ปัญหาน้ำประปาตอนภัยแล้งนี้มีมาตรการ 3 ขั้นตอน ขั้นตอนที่ 1 โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 27 มีนาคม 2557 เป็นต้นไป เทศบาลฯ ร่วมมือกับองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครศรีธรรมราช เรื่องการใช้รถน้ำจากแหล่งน้ำท่าดี ท่าใหญ่มาโรงกรอง เพื่อผลิตน้ำประปาให้เพียงพอต่อปริมาณการใช้ของประชาชน
ขั้นตอนที่ 2 เป็นแผนระยะกลาง จะดำเนินการให้เสร็จภายใน 1 เดือน หลังจากผู้ว่าราชการจังหวัดประกาศภัยแล้ง จะเดินท่อความกว้าง 40 ซม. จากบ่อน้ำของนายกองค์การบริการส่วนตำบลนาทรายมาสู่แยกเบญจมฯ ที่โรงกรองทวดทอง ประมาณ 8 กิโลเมตร จะให้เสร็จภายใน 1 เดือน จะทำสัญญาเช่าจากองค์การบริการส่วนตำบลนาทราย จากศูนย์วิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏ บ่อน้ำรัตนมณี ซึ่งเบื้องต้นเข้าไปตรวจสอบสภาพน้ำ พบว่าเป็นแหล่งน้ำที่สามารถนำมาผลิตน้ำประปาได้
ในส่วนแผนระยะยาวภายใน 1 ปีนี้ ทางเทศบาลได้รับความร่วมมือจากบริษัทตัวแทนต่างประเทศ 2 บริษัท คือ จากประเทศอิสราเอล และเยอรมนี กำลังตัดสินใจเลือกทำสัญญา โดยคำนึงถึงประโยชน์ให้แก่ประชาชน และเทศบาล โดยตั้งเป้าให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี โดยจะลงนามในสัญญาเดือนเมษายน ด้วยพื้นที่ 650 ไร่ โดยการลงทุนของเอกชนกว่า 3,200 ล้านบาท อยู่ที่ตำบลช้างซ้าย เพื่อเป็นแหล่งน้ำ โดยมีเงื่อนไขเรื่องการส่งน้ำให้เทศบาลผลิตน้ำประปา การก่อสร้างเป็นเรื่องของบริษัท แต่เทศบาลรับซื้อน้ำเพื่อนำมาผลิตน้ำประปาเท่านั้น หากโครงการนี้แล้วเสร็จ น้ำประปาก็สามารถเพียงพอต่อปริมาณการใช้ของประชาชนแม้ในยามหน้าแล้ง
นายอภินันท์ ซื่อธานุวงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัด แถลงว่า ปัญหาของเมืองนครก็คือ ต้นทุนการผลิตน้ำเรามีน้อย ซึ่งนายกเทศมนตรีพร้อมให้ความช่วยเหลือประชาชน ขณะนี้จังหวัดได้ประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินไป 7 อำเภอ คือ อำเภอปากพนัง อำเภอเมือง อำเภอสิชล อำเภอเชียรใหญ่ อำเภอบางขัน อำเภอขนอม และอำเภอหัวไทร ได้เร่งกระจายจัดทำฝายชะลอน้ำ ซึ่งทุกฝ่ายกำลังไปดูฝายชะลอน้ำในพื้นที่ต่างๆ มอบให้นายอำเภอไปช่วยเร่งรัดภายใน 1 อาทิตย์ ประการที่ 2 การเก็บกักน้ำตามแม่น้ำลำคลองอยากจะให้ชุมชนไปช่วยกัน ส่วนการทำฝนหลวงขณะนี้มีการปฏิบัติการแล้ว 5 เที่ยวบิน พบว่ายังไม่ประสบความสำเร็จเนื่องจากสภาพความชื้นในอากาศ