xs
xsm
sm
md
lg

ราชภัฏสงขลา ผุด 4 โครงการใหม่มหาลัยฯ มุ่งพัฒนาสถาบันสู่สากล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - สำนักวิทยบริการฯ มรภ.สงขลา โชว์ศักยภาพ ผุด 4 โครงการใหม่รองรับความต้องการของผู้ใช้บริการ พร้อมผลิตน้ำดื่มแบรนด์ “อริท” ติดตรามหาวิทยาลัยจำหน่ายประชาชนทั่วไป ทั้งยังมีแนวคิดเปลี่ยนขยะเป็นหนังสือ ลดการใช้พลังงาน ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม

วันนี้ (26 มี.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผศ.ดร.อำนาจ ทองขาว ผู้อำนวยการสำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) เปิดเผยว่า สำนักวิทยบริการฯ มีการจัดทำ 4 โครงการใหม่ ได้แก่ 1.โครงการรีแบรนดิ้ง (Rebranding) 2.โครงการเปลี่ยนขยะเป็นหนังสือเพื่อห้องสมุดชนบท 3.โครงการขยาย skru wifi ให้ทั่วมหาวิทยาลัย และ 4.โครงการเพิ่มปลั๊กไฟตามพื้นที่สาธารณะ เพื่อให้มีความสะดวกรวดเร็วในการบริการที่ดียิ่งขึ้น

ซึ่งโครงการรีแบรนดิ้งนั้น มีจุดเริ่มต้นแนวคิดจากในภาคธุรกิจที่คนจะสะดุดตากับอะไรที่ใหม่ๆ เช่น เปลี่ยนโลโก้ เปลี่ยนผลิตภัณฑ์ใหม่ ตนจึงมองว่าในแง่ของ มรภ.สงขลา น่าจะมีการประชาสัมพันธ์ให้คนทั่วไปได้รู้จักมหาวิทยาลัยของเรามากขึ้น จึงได้เชิญวิทยากรมาบรรยายเรื่องการรีแบรนด์ ซึ่งเริ่มแรกคือ การจัดทำผลิตภัณฑ์ และโลโก้ให้คนสามารถเห็นได้ชัดเจน สำนักวิทยบริการฯ ก็มาคิดว่าจะทำอะไรดีที่จะสามารถเลี้ยงตัวเองได้ โดยไม่ต้องรบกวนมหาวิทยาลัยมากเกินไป จึงนำมาสู่แนวคิดการผลิตน้ำดื่ม “อริท” โดยนำโลโก้ที่มีชื่อของสำนักวิทยบริการฯ มรภ.สงขลา ไปให้บริษัทที่ผลิตน้ำดื่มอยู่แล้วทำการติดโลโก้ของเราไว้บนขวดน้ำดื่ม เพื่อจัดจำหน่ายไปยังภายนอก และภายในมหาวิทยาลัย

ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวนอกจากจะทำให้คนภายนอกได้รู้จัก มรภ.สงขลา แพร่หลายมากขึ้นแล้ว ยังเป็นการลดต้นทุนการผลิตได้เป็นอย่างดีด้วย ทั้งนี้ จากการดำเนินการมาเป็นระยะเวลาประมาณ 1 เดือน สามารถจำหน่ายน้ำดื่มอริทไปแล้วกว่า 2,000 ขวด โดยการผลิตน้ำดื่มอริทนั้นไม่ได้มุ่งหวังไปที่ผลกำไรเป็นหลัก แต่ต้องการให้นักศึกษาของเราได้มีน้ำดื่มที่มีคุณภาพไว้รับประทานในราคาที่ถูกกว่าท้องตลาด และรายได้จากการจำหน่ายน้ำดื่มก็จะนำมาจัดสรรให้แก่บุคลากรของสำนักวิทยบริการฯ ในรูปของสวัสดิการ อันจะเข้าเกณฑ์การประกันคุณภาพได้อีกทางหนึ่งด้วย

ผศ.ดร.อำนาจ กล่าวว่า สำนักวิทยบริการฯ ยังได้จัดทำแบรนด์กาแฟอริท เพื่อตอบโจทย์ผู้มาใช้บริการที่อาจหิวระหว่างมาใช้บริการจากห้องสมุด โดยมีการจัดเตรียมอาหาร และเครื่องดื่มไว้คอยบริการ เพื่อส่งเสริม และสนับสนุนให้นักศึกษาสามารถนั่งอ่านหนังสือที่ห้องสมุดได้นานยิ่งขึ้น ไม่ต้องเสียเวลา และค่าใช้จ่ายที่สูงกว่าในการออกไปหาอาหารรับประทานจากภายนอก อีกทั้งยังเป็นการยกระดับทางโภชนาการอาหารด้วย ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวถือเป็นการ Rebrand รูปแบบหนึ่งด้วยเช่นกัน จากการเปิดให้บริการไม่ถึงเดือน ปรากฏว่า ผลตอบรับดีมาก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเรามีห้องประชุมที่ศูนย์ภาษา และคอมพิวเตอร์ที่ได้มาตรฐาน มีผู้มาใช้บริการเป็นจำนวนมาก ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2556 เป็นต้นมา เรามีรายได้จากการขอใช้สถานที่ห้องประชุมของศูนย์ภาษาฯ เป็นเงินกว่า 6,000,000 บาท ถือเป็นหน่วยงานเดียวในขณะนี้ที่ส่งรายได้ให้แก่มหาวิทยาลัย

แต่เนื่องจากเราต้องบริการการเรียนการสอนด้วย ทำให้ไม่สามารถใช้ประโยชน์จากห้องประชุมดังกล่าวได้เต็มที่ ดังนั้น จึงมีแนวคิดในการรับจัดอาหารว่างให้แก่หน่วยงานที่มาเช่าห้องประชุม ในราคาตั้งแต่ 20 บาทขึ้นไป โดยสามารถเลือกขนมได้ด้วย ถือเป็นการดำเนินการแบบครบวงจร ซึ่งจากการที่ตนได้มีโอกาสเดินทางไปศึกษาดูงานยังประเทศอังกฤษ และได้เห็นถึงการจัดทำอาหารในมหาวิทยาลัย (food on campus) จึงอยากจะนำต้นแบบจากประเทศอังกฤษมาใช้กับห้องสมุดของ มรภ.สงขลา ต่อไป

ผู้อำนวยการสำนักวิทยบริการฯ มรภ.สงขลา กล่าวอีกว่า สำหรับโครงการเปลี่ยนขยะเป็นหนังสือเพื่อห้องสมุดชนบท เป็นโครงการที่สอดรับกับนโยบายของ มรภ.สงขลา เรื่องการจัดการขยะ ที่มีตัวชี้วัดเรื่องมหาวิทยาลัยสีเขียว ซึ่งจากที่ได้รับฟังการบรรยายจากวิทยากรที่พูดมาคำหนึ่งว่าขยะไม่มีในโลก หมายความว่า ขยะทุกอย่างสามารถนำมาเปลี่ยนเป็นเงินได้ทั้งหมดตนก็หันกลับมามองว่า ที่ผ่านมา สำนักวิทยบริการฯ มีการบริการชุมชนอย่างต่อเนื่อง โดยได้ของบประมาณจากมหาวิทยาลัย ในการจัดซื้อหนังสือให้แก่ห้องสมุดของโรงเรียนในชุมชนเหล่านั้น ซึ่งแทนที่จะของบประมาณจากมหาวิทยาลัย จะดีกว่าไหมหากเราสามารถหาเงินได้เอง ผ่านทางการแยกขยะแต่ละประเภทไปแลกเปลี่ยนเป็นเงิน นำไปจัดซื้อหนังสือให้แก่โรงเรียนต่างๆ ที่ขาดแคลน โดยได้ข้อมูล และการร่วมพัฒนาโรงเรียนเหล่านั้นจากนักศึกษา มรภ.สงขลา อีกทั้งยังได้ตัวชี้วัดเรื่องการแยกขยะ และการบริการชุมชน

ซึ่งสำนักวิทยบริการฯ ได้มีการจัดทำคอกใส่ขยะไว้ 3 แห่ง ได้แก่ ที่สำนักวิทยบริการฯ โรงอาหารใหม่ และสหกรณ์ร้านค้า โดยเน้นขยะประเภทพลาสติก และอะลูมิเนียม แต่ขยะประเภทกระดาษก็สามารถนำมาร่วมบริจาคที่สำนักวิทยบริการได้ ส่วนของแนวคิดในการจัดทำโครงการขยาย skru wifi ให้ทั่วมหาวิทยาลัย เนื่องจากปัจจุบันมีผู้ใช้บริการอุปกรณ์สื่อสารประเภทโน้ตบุ๊ก พีซี และสมาร์ทโฟน เป็นจำนวนมาก แต่ขณะนี้ wifi มีไม่พอ และไม่ครอบคลุมพื้นที่ ประกอบกับผู้มาใช้บริการไม่ทราบพาสเวิร์ด ตนจึงคิดที่จะติดตั้ง wifi ตามจุดต่างๆ และให้ผู้ใช้สามารถเข้าสู่ระบบได้โดยใช้พาสเวิร์ดเดียวของมหาวิทยาลัย โดยให้นำโทรศัพท์มือถือ และโน้ตบุ๊กมาลงทะเบียนกับสำนักวิทยบริการฯ เพื่อความสะดวกในการใช้งาน และโครงการเพิ่มปลั๊กไฟ ก็เป็นการดำเนินงานที่ต่อเนื่องจากโครงการขยาย skru wifi เพื่อที่ต่อไปผู้มาใช้บริการจะได้ไม่ต้องต่อปลั๊กพ่วง โดยโครงการดังกล่าวจะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในช่วงปิดภาคเรียนนี้

 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น