ศูนย์ข่าวภูเก็ต - ผู้ว่าฯ ภูเก็ต ลุยตรวจบ่อฝังกลบขยะเทศบาลนครภูเก็ต พบ 5 บ่อมีการฝังกลบเต็ม ขณะที่เตาเผาขยะขณะนี้สามารถใช้ได้แค่ 1 หัว จากจำนวน 3 หัวเผา เร่งซ่อมคาดสิ้นเดือนนี้จะใช้ได้เพิ่มอีก 1 หัว ช่วยลดปัญหาขยะเข้าสู่บ่อฝังกลบได้ พร้อมสั่งเฝ้าระวังตลอดเวลา
นายไมตรี อินทุสุต ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต พร้อมด้วยคณะ เดินทางเข้าตรวจสอบบ่อฝังกลบขยะของเทศบาลนครภูเก็ต ที่บริเวณคลองเกาะผี อ.เมือง จ.ภูเก็ต เพื่อตรวจสอบ และหาแนวทางป้องกันไม่ไห้เกิดปัญหาไฟไหม้กองขยะ ซึ่งขณะนี้ทั่วประเทศมีบ่อขยะในจังหวัดต่างๆ ถูกไฟไหม้แล้วกว่า 10 แห่ง ซึ่งจากการเข้าตรวจสอบบ่อฝังกลบขยะในครั้งนี้ น.ส.สมใจ สุวรรณศุภพนา นายกเทศมนตรีเทศบาลนครภูเก็ต และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องให้การต้อนรับ และบรรยายสรุปถึงแนวทางในการดำเนินการแก้ไขปัญหาขยะของจังหวัดภูเก็ต
โดย น.ส.สมใจ กล่าวว่า สำหรับการกำจัดขยะในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต เดิมใช้พื้นที่บริเวณสะพานหิน ซึ่งอยู่ฝั่งคลองบางใหญ่ ด้านทิศตะวันออก เป็นที่กำจัดขยะ มีเนื้อที่ 270 ไร่ ซึ่งปัจจุบันได้พัฒนาเป็นสนามกีฬาสวนสาธารณะ เลในเมือง และพื้นที่นันทนาการของชาวจังหวัดภูเก็ต และได้ย้ายมาในพื้นที่ศูนย์กำจัดขยะตั้งแต่ปี 2523 ต่อมา ในปี 2535 จังหวัดภูเก็ต และเทศบาลนครภูเก็ต ได้รับการสนับสนุนจากกรมโยธาธิการและผังเมือง จัดทำแผนหลักสำหรับสร้างระบบกำจัดขยะอย่างถูกต้อง โดยเสนอขอใช้ที่ดิน และได้รับอนุญาตให้ใช้พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าชายเลน คลองเกาะผี ตามประกาศกรมป่าไม้ 248/2546 ลงวันที่ 30 ก.ค.2536 จำนวนพื้นที่ 291 ไร่ 1 งาน 70 ตารางวา และได้แบ่งพื้นที่ก่อสร้างระบบกำจัดขยะแบบฝังกลบ 134 ไร่ โรงเตาเผาขยะ 46 ไร่ สร้างโรงปรับปรุงคุณภาพน้ำ 33 ไร่ และพื้นที่แนวฉนวน 78 ไร่
ซึ่งขณะนี้ในส่วนของการกำจัดขยะแบบฝังกลบนั้นมีบ่อฝังกลบ จำนวน 5 บ่อด้วยกัน ประกอบด้วย บ่อที่ 1 เนื่องที่ 11.74 ไร่ ซึ่งมีการฝังกลบและปิดบ่อแล้วโดยมีขยะ 33,094 ตัน บ่อที่ 2 พื้นที่ 15.62 ไร่ มีการฝังกลบเต็มโดยมีขยะอยู่ประมาณ 43,209 ตัน ปัจจุบัน รอรื้อเข้าเตาเผาขยะ บ่อที่ 3 พื้นที่ 17.19 ไร่ ปัจจุบันมีขยะฝังกลบเต็มจำนวน 45,572 ตัน ปัจจุบันปรับเป็นอุทยานการเรียนรู้ด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม บ่อที่ 4 พื้นที่ 39.66 ไร่ มีขยะฝังกลบเต็มปิดบ่อ 130,134 ตัน ปัจจุบันรอรื้อขยะเข้าเตาเผา และบ่อที่ 5 พื้นที่ 36.29 ไร่ ฝังกลบเต็ม จำนวน 117,313 ตัน ปัจจุบันรอรื้อขยะเข้าเตาเผา
ส่วนเตาเผาขยะในส่วนของจังหวัดภูเก็ตนั้นมี 2 ส่วน คือ ในส่วนของกรมโยธาธิการและผังเมือง ได้ก่อสร้างโรงเผาขยะมูลฝอยชุมชน ขนาด 250 ตันต่อวัน สามารถผลิตไฟฟ้าได้สูงสุด 2.5 เมกะวัตต์ เมื่อปี 2538 และได้ถ่ายโอนให้แก่เทศบาลนครภูเก็ต มาตั้งแต่ปี 2542 และได้ดำเนินการเผาขยะของจังหวัดภูเก็ต ปัจจุบันเตาเผาดังกล่าวไม่สามารถใช้งานได้เนื่องจากสภาพชำรุด และกำลังอยู่ระหว่างการขอสนับสนุนงบประมาณในปี 2558 จำนวน 530 ล้านบาท ในการซ่อมแซมเพื่อให้กลับมาใช้งานได้ ส่วนที่ 2 เป็นโรงงานเตาเผยขยะของเอกชน ซึ่งก่อสร้างเสร็จเมื่อวันที่ 20 มี.ค.2555 เป็นเตาเผาขยะชุมชนขนาด 359 ตัน 2 ชุด สามารถเผาขยะได้ 700 ตันต่อวัน ผลิตไฟฟ้าได้มากกว่า 10 เมกะวัตต์
แต่ปัจจุบันพบว่าเตาเผาขยะดังกล่าวสามารถเดินเครื่องได้เพียง 1 ตัว เนื่องจากอีกตัวกำลังอยู่ระหว่างการซ่อมบำรุง ทำให้ปัจจุบันสามารถกำจัดขยะได้วันละ 350 กว่าตันเท่านั้น ทำให้ขยะที่เหลืออีกประมาณ 300 กว่าตันต้องนำเข้าสู่ระบบฝังกลบ แต่อย่างไรก็ตาม คาดว่าประมาณปลายเดือน มี.ค.นี้ การซ่อมบำรุงในส่วนของเตาเผาขยะของเอกชนจะสามารถดำเนินการได้เสร็จ และสามารถลดปริมาณขยะที่เข้าสู่ระบบฝังกลบได้
ด้านนายไมตรี กล่าวว่า การลงพื้นที่ตรวจสอบบ่อฝังกลบ และระบบการจัดการขยะในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต ในครั้งนี้ก็เนื่องจากก่อนหน้านี้มีปัญหาเรื่องของไฟไหม้บ่อฝังกลบขยะเกิดขึ้นในหลายพื้นที่ ซึ่งมีสาเหตุมาจากความร้อนทั้งจากขยะข้างล่าง และอากาศที่ร้อนอบอ้าว ซึ่งในส่วนของจังหวัดภูเก็ตนั้นแม้ไม่มีเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้น แต่การบริหารจัดการจะต้องมีการบริหารจัดการให้เป็นระบบ เพราะปัจจุบันขยะในภูเก็ตมีมากถึงวันละ 690 ตัน และที่ผ่านมา ปริมาณขยะในพื้นที่เพิ่มขึ้นเฉลี่ยในรอบ 10 ปีอยู่ที่ 7.3% แต่ในปี 56 พบว่าปริมาณขยะเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 9.8%
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตยังไม่พบว่ามีปัญหาเรื่องของไฟไหม้เกิดขึ้น แต่ก็จำเป็นที่จะต้องมีการเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง เพราะปัจจุบันอากาศในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตร้อนมาก และถือว่าเป็นพื้นที่เสี่ยงที่อาจจะเกิดไฟไหม้ขึ้นมาได้