ศูนย์ข่าวภูเก็ต - จังหวัดภูเก็ต เร่งหาทางป้องกันเพื่อไม่ให้หน้าดิน และก้อนหินขนาดใหญ่พังทลายลงสู่ชุมชนกะตะ ซึ่งอยู่ด้านล่างได้รับความเสียหายในช่วงฤดูฝนที่กำลังจะมาถึงนี้ หลังจากมีการขุดตักหน้าดิน และตัดต้นไม้เพื่อปรับภูมิทัศน์บริเวณโดยรอบฐานองค์พระใหญ่ บนเขานาคเกิด
วันนี้ (19 มี.ค.) ที่ห้องประชุมสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จังหวัดภูเก็ต นายสมเกียรติ สังข์ขาวสุทธิรักษ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานการประชุมหารือแก้ไขปัญหาการขุดตักหน้าดิน และตัดต้นไม้เพื่อปรับภูมิทัศน์ และทำถนน บริเวณโดยรอบฐานองค์พระใหญ่ซึ่งเป็นการทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยมีคณะกรรมการจากหน่วยงานเกี่ยวข้อง เช่น อำเภอเมืองภูเก็ต สำนักงานที่ดินจังหวัดภูเก็ต ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดภูเก็ต สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ ที่ 12 สาขากระบี่ ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 18 ภูเก็ต โยธาธิการและผังเมือง เทศบาลตำบลกะรน เจ้าอาวาสวัดกะตะ มูลนิธิพระพุทธมิ่งมงคล ศรัทธา 45 กำนัน ผู้ใหญ่ บ้าน ฯลฯ ร่วมประชุม
ทั้งนี้ การประชุมดังกล่าว สืบเนื่องจากทางจังหวัดภูเก็ต โดยศูนย์ดำรงธรรมฯ ได้รับเรื่องร้องเรียนจากชาวบ้านพื้นที่หมู่ 2 ต.กะรน อ.เมืองภูเก็ต กรณีมูลนิธิพระพุทธมิ่งมงคล ศรัทธา 45 ได้ทำการขุดตักหน้าดิน และตัดต้นไม้ เพื่อทำถนน บริเวณรอบฐานองค์พระใหญ่ บนเขานาคเกิด ส่งผลให้หน้าดิน และก้อนหินขนาดใหญ่หล่นลงมาทับบ้านเรือนประชาชนในหมู่บ้าน ซึ่งอยู่ด้านล่างฝั่งชุมชนกะตะ และหลังได้รับเรื่องร้องเรียนดังกล่าว รองผู้ว่าฯ พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงผู้ร้องเรียน ร่วมลงตรวจสอบพื้นที่ เมื่อวันที่ 28 ก.พ.ที่ผ่านมา พบว่ามีการขุดตักหน้าดิน ปาดหน้าดิน เป็นการทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การก่อสร้างถนนรอบฐานองค์พระใหญ่ เป็นการก่อสร้างโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเทศบาลตำบลกะรน และทางจังหวัดได้ให้ทางมูลนิธิฯ หยุดและระงับยับยั้งการก่อสร้างทั้งหมดไว้ก่อน เพราะการก่อสร้างเป็นการล่อแหลมที่จะทำให้หน้าดิน และก้อนหินขนาดใหญ่พังทลายลงสู่ชุมชนกะตะ ซึ่งอยู่ด้านล่างได้
และเพื่อให้เรื่องร้องเรียนได้รับการแก้ไข ทางจังหวัดภูเก็ต จึงได้เชิญประชุมคณะกรรมการของหน่วยงานเกี่ยวข้องขึ้นในวันนี้
นายสมเกียรติ สังข์ขาวสุทธิรักษ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กล่าวภายหลังการประชุม ว่า ในระหว่างชะลอ หรือขอให้ทางมูลนิธิฯ ระงับการก่อสร้างนั้น หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องด้านเทคนิค เช่น นายอำเภอเมือง ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต 18 ภูเก็ต เทศบาลตำบลกะรน โยธาธิการและผังเมือง ฯลฯ เข้าไปดูแลช่วยแก้ไขให้แก่ทางมูลนิธิฯ และทางวัดกะตะ ว่าเราจะแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างไร ให้เกิดความมั่นคงปลอดภัย ก็คงจะใช้หลักวิศวกร วิศวกรรม และคงใช้เครื่องไม้เครื่องมือที่วัดความสั่นสะเทือนของแผ่นดินที่มันอ่อนไหวเข้ามาช่วย
“หลังจากนี้เราจะให้หน่วยงานลงไปช่วยทางวัด ทางมูลนิธิ เพื่อแก้ปัญหาตรงนี้ไม่ให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน บาดเจ็บ เสียหาย หรือล้มตาย จากดินสไลด์ที่อาจจะเกิดขึ้นในช่วงฤดูฝนที่จะมาถึงในไม่อีกกี่เดือนข้างหน้านี้ ซึ่งเราจะต้องดำเนินการด้วยความเร่งด่วน ก็คิดว่าอีกประมาณ 1 เดือน เราจะประชุมติดตามความคืบหน้าของหน่วยงานต่างๆ อีกครั้ง ว่า หน่วยงาน หรือองค์กรต่างๆ ได้ทำอะไรไปบ้างเพื่อหาทางป้องกันไม่ให้เกิดปัญหา ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว คิดว่าเป็นเรื่องสำคัญที่เราจะต้องป้องกันไม่ให้เกิด” นายสมเกียรติ กล่าวในที่สุด