ยะลา - สำนักงานเกษตรยะลาเผยปีนี้แล้งหนักสุด โครงการฟาร์มตัวอย่างในพระราชดำริขาดแคลนน้ำอย่างหนัก หญ้าสำหรับเลี้ยงแพะแห้งตายจำนวนมาก ชี้พืชผักพืชไร่กระทบหนักสุด คาดข้าวนาดอนในพื้นที่ได้รับความเสียหายแล้วกว่า 1,500 ไร่
วันนี้ (11 มี.ค.) ที่โครงการฟาร์มตัวอย่างในพระราชดำริ ต.วังพญา อ.รามัน จ.ยะลา นายไมตรี สุขเกษม หัวหน้ากลุ่มส่งเสริมและพัฒนาเกษตรกร สำนักงานเกษตรจังหวัดยะลา พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ ได้เดินทางไปตรวจสอบการดำเนินการจัดการน้ำเพื่อการเกษตร หลังจากเกิดปัญหาฝนทิ้งช่วงในห้วงที่ผ่านมา ซึ่งส่งผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่ ต.วังพญา อ.รามัน เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะที่โครงการฟาร์มตัวอย่างในพระราชดำริ ที่ระดับน้ำในแอ่งน้ำของโครงการได้เริ่มลดระดับลงแล้ว
นางรัญจวน อินโท ผู้ช่วยผู้จัดการโครงการฟาร์มตัวอย่างในพระราชดำริ เปิดเผยว่า สำหรับฟาร์มตัวอย่างแห่งนี้ มีสมาชิกรวม 220 คน มีเนื้อที่ 245 ไร่ มีแอ่งน้ำ จำนวน 2 บ่อ มีปลูกพืชผัก ไม้ผลต่างๆ ประมาณ 70 ไร่ นอกจากนั้น ก็จะเป็นแปลงหญ้าเพื่อนำไปเป็นอาหารของแพะนม ซึ่งสถานการณ์ภัยแล้งในขณะนี้ส่งผลให้หญ้าที่ปลูกไว้เพื่อจะนำไปเลี้ยงแพะได้รับความเสียหาย แต่ก็ได้ดำเนินการแก้ปัญหาโดยใช้แหล่งน้ำที่มีอยู่ภายในโครงการสูบน้ำขึ้นมาใช้เพื่อลดภาวะภัยแล้งได้ นอกจากนั้น ยังได้ดำเนินการขอเครื่องสูบน้ำของทางชลประทานมาช่วยอีกทางหนึ่งด้วย
“สำหรับปัญหาภัยแล้งในปีนี้ เมื่อเทียบกับปีก่อนๆ ที่ผ่านมา ปีนี้ถือว่าหนักกว่า เพราะปีที่ผ่านมา ยังมีฝนตกลงมาช่วยบ้าง แต่ปีนี้ตั้งแต่เดือนมกราคม 57 ที่ผ่านมา ยังไม่มีฝนตก ทำให้ฟาร์มมีปัญหา ในระยะยาวหากฝนยังไม่ตกลงมาก็เชื่อว่าน้ำในแอ่งน้ำของโครงการก็จะหมดลงภายใน เร็วๆ นี้ ซึ่งจะส่งผลกระทบไปยังทุกภาคส่วน ก็หวังว่าในวันที่ 15 มีนาคมนี้ ที่ทางกรมอุตุฯ แจ้งว่าจะมีฝนตกลงมาในพื้นที่ ถ้าเป็นเช่นนั้นจริงก็คงจะช่วยคลี่คลายปัญหาได้บ้าง” นางรัญจวน กล่าว
ด้าน นายไมตรี สุขเกษม หัวหน้ากลุ่มส่งเสริมและพัฒนาเกษตรกร สำนักงานเกษตรจังหวัดยะลา เปิดเผยว่า สำหรับสถานการณ์ภัยแล้งในพื้นที่ยะลา โดยทั่วไปในส่วนของภาคเกษตรที่มีผลกระทบชัดเจน คือ นาข้าว พืชผัก และพืชไร่ ส่วนไม้ผล ไม้ยืนต้น โดยทั่วไปยังไม่ได้รับผลกระทบมากมายนัก ส่วนข้าวที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบคือ ข้าวนาดอน ซึ่งปลูกอยู่ในที่สูง การรับน้ำก็จะช้ากว่าปกติ รวมทั้งในช่วงแล้งน้ำก็จะแห้งเร็วแล้วจะได้รับผลกระทบ ข้าวออกรวงแล้วเมล็ดลีบ โดยพื้นที่นาของยะลามีอยู่ใน 3 อำเภอ คือ อ.เมือง อ.รามัน และ อ.ยะหา มีพื้นที่ปลูกกว่า 1 หมื่นไร่ พื้นที่ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบมากกว่า 1,500 ไร่ โดยคาดว่าหากแล้งต่อไปอีก 10-15 วันก็จะแล้งมากกว่านี้ แต่อย่างไรก็ตาม ก็มีการประสานงานกับทางเกษตรอำเภอทุกอำเภอที่มีปัญหาให้เร่งรีบดำเนินการแล้ว
มีรายงานสรุป การรับมือสถานการณ์ภัยแล้งของสำนักงานเกษตรจังหวัดยะลาว่า ขณะสถานการณ์โดยทั่วไป เกิดภาวะฝนทิ้งช่วงทำให้อากาศร้อนอบอ้าวและร้อนจัดในบางพื้นที่ มีปริมาณฝนตกน้อย ทำให้เกิดสภาวะความแห้งแล้ง ขาดน้ำอุปโภคบริโภค ซึ่งส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิต และจากการร่วมประชุมกับศูนย์ติดตามและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านการเกษตร คาดการณ์ว่าปีนี้ภัยแล้วจะหนักกว่าทุกๆ ปีที่ผ่านมา โดยจะมีพื้นที่เสี่ยงต่อสถานการณ์ภัยแล้ง รวม 10 ตำบล 39 หมู่บ้าน ใน 4 อำเภอ ประกอบด้วย 4 ตำบล ในพื้นที่ 7 หมู่บ้าน ของ อ.เมือง พื้นที่ อ.ยะหา จำนวน 2 ตำบล 16 หมู่บ้าน พื้นที่ อ.รามัน จำนวน 2 ตำบล 6 หมู่บ้าน และพื้นที่ อ.กรงปินัง จำนวน 2 ตำบล 10 หมู่บ้าน
ส่วนพื้นที่เพาะปลูกข้าวรวม 4 อำเภอ คือ อ.เมือง อ.รามัน อ.ยะหา และ อ.บันนังสตา มีพื้นที่ปลูกข้าวทั้งในที่ลุ่ม และที่ดอน รวมทั้งสิ้น 20,590 ไร่ มีพื้นที่ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง รวม 2,800 ไร่