xs
xsm
sm
md
lg

หวั่นสงครามแย่งน้ำ เหตุปลูกข้าวเกิน-ฝนมาช้า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้บริหาร สกว.
สกว.- นักวิจัย สกว.ชี้วิกฤตสงครามแย่งชิงน้ำเหตุเริ่มต้นฤดูกาลเพาะปลูก มีปลูกข้าวเกินปริมาณน้ำไปเป็นเท่าตัว และฝนจะมาช้า

​รศ.ดร.สุจริต คูณธนกุลวงศ์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยถึงกรณีที่การประปานครหลวงประกาศเตือนประชาชนให้สำรองน้ำไว้ใช้ในช่วงนี้เนื่องจากน้ำทะเลหนุน ว่าหากมีการปล่อยน้ำที่อัตรา 75 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาทีขึ้นไป ความเค็มของน้ำจะไม่เกินเกณฑ์ที่ใช้ผลิตน้ำประปา

“แต่เนื่องจากต้นฤดูที่ผ่านมามีการใช้น้ำเพื่อการเกษตรไปมากพอสมควร ซึ่งขณะนี้มีน้ำเหลืออยู่ประมาณ 5 พันล้านลูกบาศก์เมตร ตามเกณฑ์ถ้าแบ่งเป็นการไล่น้ำทะเล 2,000 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ใช้น้ำ 1 พันล้านลูกบาศก์เมตร และเหลือไว้อีก 2 ล้านลูกบาศก์เมตรฯ สำหรับการเกษตร ก็จะไม่มีปัญหา”

“แต่ที่กลัวกันว่าจะใช้น้ำเกินในภาคการเกษตรแล้วจะไปเบียดน้ำที่ไล่น้ำเค็ม ที่ผ่านมาได้หรี่เหลือ 70 ลูกบาศก์เมตรฯ พอน้ำเค็มเริ่มมากขึ้นจึงต้องปรับป็น 80 ลูกบาศก์เมตรฯ หมุนเวียนสลับโหมดน้ำขึ้น-น้ำลงชั่วคราวให้ตรงกับช่วงที่น้ำทะเลหนุน ขณะที่ชาวนาก็ควรปลุกข้าวในระดับที่เหมาะสม โดยตั้งแต่จังหวัดพิษณุโลกลงมาถึงภาคกลางควรใช้พื้นที่เพาะปลูก 2 ล้านไร่” รศ.ดร.สุจริต กล่าว

ทว่าในความเป็นจริง รศ.ดร.สุจริต กล่าวว่ามีการปลูกข้าวกันถึง 4 ล้านไร่ ซึ่งเกินไปเท่าตัว อันเนื่องมาจากโครงการรับจำนำข้าว โดยต้นมีนาคมจะเริ่มเกี่ยวข้าวและปลูกใหม่ไปจนถึงเดือนพฤษภาคม ทำให้ต้องใช้น้ำมากจึงกลัวว่าน้ำจะไม่เพียงพอต่อการไล่น้ำเค็ม การประกาศเตือนของ กปน.จึงถือเป็นการป้องกันไว้ก่อนโดยเฉพาะในช่วงเมษายนที่เริ่มปลูกข้าวมากขึ้นก็จะยิ่งส่งผลกระทบต่อประชาชนผู้ใช้น้ำสำหรับการอุปโภคบริโภคและเกษตรกรที่เพาะปลูกพืชอื่นๆ

​“ในช่วงนี้เราต้องใช้น้ำอย่างประหยัดโดยเฉพาะภาคการเกษตร หากยังปลูกข้าวในปริมาณเท่าเดิมก็เสี่ยงที่ราคาข้าวจะตก ไม่ถึง 15,000 บาทตามโครงการรับจำนำข้าวอย่างแน่นอน และจะทำให้เกิดภาวะวิกฤตสงครามแย่งชิงน้ำ เพราะปีนี้คาดว่าฝนสงกรานต์ที่จะตกในช่วงเดือนเมษายนจะมาช้า จึงต้องมาลุ้นกัน เพราะเกรงว่าข้าวจะตายถ้าน้ำฝนไม่พอแล้วก็ต้องหันไปพึ่งน้ำบาดาล” รศ.ดร.สุจริตระบุ

​ทั้งนี้ในวันที่ 11 มีนาคม จะมีการประชุมจัดสรรน้ำรอบใหม่ที่กรมชลประทาน และส่วนในวันที่ 25 มีนาคม จะมีการจัดเวทีสาธารณะนโยบายน้ำ สกว.เรื่อง “การจัดการทรัพยากรที่มีผลกระทบกับทรัพยากรน้ำ และการจัดการทรัพยากรน้ำระดับพื้นที่ เพื่อการเชื่อมโยงกับระดับจังหวัด” เนื่องในสัปดาห์อนุรักษ์ทรัพยากรน้ำแห่งชาติและวันน้ำโลก ที่โรงแรมเซ็นจูรี่ พาร์ค เพื่อถ่ายทอดนโยบายด้านทรัพยากรและการเติบโตทางสังคมและเศรษฐกิจที่มีผลกระทบกับทรัพยากรน้ำ รวมถึงกรณีตัวอย่างจากงานวิจัยและกรณีศึกษาเพื่อเชื่อมโยงกับการจัดการในระดับต่างๆ ในลักษณะโครงข่ายการจัดการทรัพยากรน้ำจากพื้นที่สู่นโยบาย

รศ.ดร.สุจริต เป็นหัวหน้าโครงการในยุทธศาสตร์การจัดการทรัพยากรน้ำของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ในปี 2557 ซึ่งมี ศ.นพ.สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ ผู้อำนวยการ สกว.เป็นประธานการประชุมผู้ประสานงานวิจัย ฝ่ายสวัสดิภาพสาธารณะ

สำหรับงานวิจัยตามยุทธศาสตร์ สกว.ที่จะดำเนินต่อไปหลังจากนี้คือ โครงการพัฒนาแบบจำลองการจัดการลุ่มน้ำน่าน (ระยะที่ 3) โครงการน้ำจังหวัด ซึ่งเป็นโครงการต่อเนื่อง และแนวคิดของประเด็นการวิจัยเชิงยุทธศาสตร์เรื่องการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ น้ำ ที่ดิน และการจัดการสิ่งแวดล้อม







รศ.ดร.สุจริต
กำลังโหลดความคิดเห็น